กรณ์ ดันภาษีที่ดินใช้ใน2ปีบ้านไม่เกินล้านรอด

กรณ์ ดันภาษีที่ดินใช้ใน2ปีบ้านไม่เกินล้านรอด

กรณ์ ดันภาษีที่ดินใช้ใน2ปีบ้านไม่เกินล้านรอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณ์ เดินหน้าดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับใช้ใน 2 ปี ยกเว้นภาษีบ้านพร้อมที่ดินมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ชี้ครอบคลุม 90% ของเจ้าของที่ดินทั้งหมด งดเก็บภาษีที่ดินแลนด์ลอร์ดปีแรก มั่นใจเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายฟื้นตัวแน่ เตรียมทุ่มงบฯหมื่นล้านสมทบ กองทุนเพื่อชีวิต ใช้จ่ายบำนาญให้แรงงาน 20 ล้านคน การันตีผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการยกร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า ขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เดินสายสัมมนาทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึง "โครงสร้างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่" ที่จะมีผลบังคับใน 2 ปีข้างหน้า หลังจากกฎหมายผ่านการอนุมัติจากสภา ซึ่งที่ผ่านมาทาง สศค.ได้รับข้อเสนอแนะหลายประเด็น อาทิ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งที่ดินที่ใช้ในการเกษตรกรรม หากให้เสียภาษีในอัตราปกติเกรงว่าจะเป็นภาระที่หนักเกินไป

สำหรับ กรอบการยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ใช้ในการเกษตรที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศได้รับการยกเว้นภาษีถึง 90% ของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ส่วนที่ดินที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมต้องจัดหามาเตรียมไว้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (สต๊อกที่ดิน) หากผู้ประกอบการยังไม่ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 1 ปี จะได้รับการยกเว้นภาษี จะเริ่มเสียภาษีในปีที่ 2 และจะเสียภาษีในอัตราสูงสุด (เชิงพาณิชย์) ในปีที่ 3

"จากผลการศึกษาของ สศค. พบว่าหากมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท จะเหลือเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเข้ามาอยู่ในฐานภาษีฉบับใหม่แค่ 10% เท่านั้น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม อาคารร้านค้าที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับประโยชน์เสียภาษีน้อย ลงกว่าเดิม เพราะภาษีที่ดินตัวใหม่จะเก็บในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมินที่ดิน ขณะที่ภาษีโรงเรือนฉบับเดิมเก็บในอัตรา 12.5% ของฐานรายได้ในแต่ละปี โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการจะเสียภาษีถูกลง แต่พวกที่จะรับภาระหนักคือพวกที่เก็บที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร"

@ ฝากประจำมีลุ้น คลังเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย

และ ภายหลังจากที่กระทรวงการคลังได้รับข้อเสนอจากบริษัทเอกชนที่ระดมทุนด้วยการ ออกหุ้นกู้ โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่เก็บจากดอกเบี้ยในอัตรา 15% นั้น ในประเด็นนี้คงจะต้องมีการพิจารณถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาอย่างรอบคอบ เนื่องจากตลาดการเงินในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการระดมทุนอยู่ 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ, เงินฝากออมทรัพย์, พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน หากจะให้มีการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้ ก็จะมีผลกระทบต่อการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ ต้องถูกหักภาษี 15% เมื่อมีรายได้จากดอกเบี้ย แต่ถ้ายกเว้นภาษีให้ทั้งหมดจะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ในหลักการคงจะต้องมีการกำหนดเพดานรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยระดับไหนถึงจะได้ รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งกำลังพิจารณากันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางกรมสรรพากรได้มีการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับผู้ที่มีเงินได้จากดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทไปแล้ว

@มั่นใจ ศก.ไทยเข้าสู่ V-shape

ส่วนประเด็นเศรษฐกิจว่าถึงจุดที่สุดหรือยัง ขณะนี้มีเครื่องบ่งชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวที่ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น เช่น การบริโภคในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าจะเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1

โดยภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก 2% ทำให้ธนาคารโลกออกมาคาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก และการฟื้นเศรษฐกิจในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นในลักษณะ "V-shape"

อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องดำเนินมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป โดยในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่จะต้องทำคือ 1) เร่งขยายสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 2) เร่งผลักดันโครงการไทยเข้มแข็งและเริ่มมีการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่เดือน ต.ค. 3) เร่งปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต 4) จัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พร้อมกับเร่งผลักดันกฎหมายที่สำคัญๆ เช่น พ.ร.บ.บัตรเครดิต พ.ร.บ.ทวงหนี้ที่เป็นธรรม พ.ร.บ.หลักประกัน เป็นต้น

@ดัน "กองทุนเพื่อชีวิต" คลอดต้นปี 53

ส่วนงานเร่งด่วนอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ การจัดตั้ง "กองทุนเพื่อชีวิต" คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2553 กองทุนเพื่อชีวิตจะเป็นกองทุนภาคสมัครใจ เปิดให้ผู้ที่ใช้แรงงานกว่า 20 ล้านคนได้สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุน ได้รับสิทธิเงินบำนาญหลังเกษียณอายุการทำงาน โดยรัฐบาลจะต้องจัดงบประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท เข้าไปสมทบกับเงินที่สมาชิกนำส่งเข้ากองทุนทุกปี


ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1) ทำให้แรงงานที่อยู่นอกระบบเข้ามาจดทะเบียนอยู่ในระบบ มีหลักประกันในการดำรงชีพหลังเกษียณ 2) กระตุ้นให้เกิดการออมที่มีการบริหารจัดการเงินลงทุนที่ดี โดยกองทุนเพื่อชีวิตจะมีการการันตีผลตอนแทนขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่าอัตรา ดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยจาก 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ บวก 1% 3) ช่วยให้ประชาชนได้มีเงินบำนาญไว้ใช้หลังเกษียณ เสริมกับรายได้จากเบี้ยยังชีพคนชรา และ 4) มีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย โดยคาดว่ากองทุนจะมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

@บี้แบงก์รัฐปล่อยกู้กว่า 9 แสนล้าน

ใน ส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ทั้ง 6 แห่ง ขณะนี้ตนได้มอบหมายให้นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการขยายสิน เชื่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในปี 2552 โดยมีการปรับเพิ่มเป้าหมายให้ SFI ปล่อยสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ล้านบาท โดยเน้นการกำหนดเป้าหมายในการเบิกจ่ายสินเชื่อจริง

ทางกระทรวงการคลังจะ ต้องมีการทบทวนบทบาทของ SFI ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นกลไกในการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะกิจ ขณะนี้รัฐบาลใช้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสินเป็นกลไกหลักในการ ปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จึงต้องการให้ธนาคารอื่นปรับตัวด้วย

" ในส่วนของธนาคารกรุงไทยต้องการเห็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มมากขึ้น ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นเครื่องมือของรัฐที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ส่วนธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ควรจะเน้นไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น ออกบริการรับประกันความเสี่ยงให้กับลูกค้าเกิดความกล้าที่จะส่งสินค้าออกไป ขายในประเทศใหม่ๆ" นายกรณ์กล่าว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook