ยึดทรัพย์ 7.6หมื่นล้าน ปีนี้มีคำตอบชัวร์

ยึดทรัพย์ 7.6หมื่นล้าน ปีนี้มีคำตอบชัวร์

ยึดทรัพย์ 7.6หมื่นล้าน ปีนี้มีคำตอบชัวร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสการเมืองที่ร้อนระอุตลอดช่วงปี พ.ศ. 2552 นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง เหตุผลข้อหนึ่งคือ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมที่สืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในหลายคดี ประเด็นใหญ่ที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณให้ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 76,621,603,061.05 บาท เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ

ที่มาของการยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน

กระบวนการยึดทรัพย์ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ และ เงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ได้รับในช่วงปี พ.ศ. 2546-2548 เบื้องต้น สามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้ส่วนหนึ่ง

จนเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2552 นายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดี อัยการฝ่ายคดีพิเศษ ได้ส่งมอบเอกสารกว่า 600 แฟ้ม จำนวน 240,000 แผ่น พร้อมคำร้องจำนวน 125 หน้า แก่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิด ปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและ ประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ของ พ.ต.ท.ทักษิณตกเป็นของแผ่นดิน ด้วยเหตุผลคือ

ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

คำร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 คตส. มีมติเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2544-มีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,149,490,150 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 48 ของหุ้นทั้งหมด โดยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ คู่สมรส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง แต่ใช้ชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ถือหุ้นแทน จำนวน 458,550,000 หุ้น น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 604,600,000 หุ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว ถือหุ้นแทนจำนวน 20 ล้านหุ้น นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นแทนจำนวน 336,340,150 หุ้น ทั้งนี้ บริษัทชินคอร์ป เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานกิจการโทรคมนาคมจาก รัฐ ถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540, พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32, 33, 100 ซึ่งมีความผิดทางาอาญา ม. 119 และ 122

เอื้อประโยชน์ชินคอร์ปและบริษัทในเครือ

คำร้องระบุว่า ในขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง เป็นการเอื้อ ประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป และบริษัทในเครือ คือ

1. ตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 ทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยนำค่าสัมปทานมาหักกับภาษีสรรพสามิต อีกทั้งยังกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มเป็นร้อยละ 20-50 ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องรับภาระเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการเดิมใช้สิทธินำค่าสัมปทานไปหักภาษีของตนได้ ทำให้มีการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะแข่งขันกับบริษัทเอไอเอส

2. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่าย เงินล่วงหน้า ให้กับบริษัท เอไอเอส ส่งผลให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งดังกล่าวให้บริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) ในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2544 จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543-30 กันยายน 2548 และในอัตราร้อยละ 30 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2548 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

3. แก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2545 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ กรณีปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชินคอร์ปฯ และบริษัทเอไอเอส มีผลต่อการที่บริษัท เอไอเอส ไม่ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับบริษัท ทศท และบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) ไม่น้อยกว่า 18,970,579,711 บาท ทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ สูงขึ้น จนมีการเทขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็ก ของสิงคโปร์

4. แก้ไขสัมปทานดาวเทียม โดยละเว้น หรืออนุมัติส่งเสริม ธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลาย กรณี เช่น การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์, อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปฯ ในบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ที่เป็นผู้ขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทคม และการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทคม 3 จำนวน 6.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ปฯ และชินแซทเทิลไลท์

5. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินจากธนาคารเพื่อ การส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงค์ เพื่อนำไป ซื้อสินค้าและบริการของบริษัทชินแซทเทิลไลท์โดยเฉพาะ โดยผู้ถูก กล่าวหา ได้สั่งการเห็นชอบให้เอ็กซิมแบงค์ให้วงเงิน 4,000 ล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า และให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน รวมทั้งให้ขยายเวลาปลอดการชำระหนี้ การจ่ายเงินต้นจาก 2 ปี เป็น 5 ปี เพื่อให้บริษัทชินแซทเทิลไลท์ได้รับงานจ้างพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากพม่า

6. กรณีแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับ ที่ 2 พ.ศ. 2549 ส่งผลให้บริษัทชินคอร์ป ซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคม สามารถมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2549 ปรากฏว่า ในวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป คิดเป็นร้อยละ 48 ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก โดยมีบริษัทซีดาร์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท แอสแพน โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าว เป็นผู้ซื้อ ด้วยวงเงินหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว รวม 69,722,880,932.05 บาท ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2548 บริษัทชินคอร์ปฯ ได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว เป็นเงิน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด 76,621,603,061.05 บาท เงินจำนวนนี้ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างผล ประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม

กระบวนการที่ดำเนินต่อไป

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 ที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ทั้งสิ้น 9 คน และได้มีการสืบพยานทั้งในฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย จนกระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2552 ได้มีการสืบพยานอีกสองปากคือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ และนายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยในส่วนของนายสุรเกียรติ์นั้น จะเบิกความต่อศาลในกรณีที่คณะรัฐมนตรีชุด พ.ต.ท.ทักษิณ อนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินธนาคารเอ็กซิมแบงค์ โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อต่อธุรกิจของบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศได้ท้วงติง พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว แต่ยังคงมีการอนุมัติ ในส่วนประเด็นที่นาย กล้านรงค์จะขึ้นเบิกความนั้น เป็นส่วนคดีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยประเด็นสำคัญ คือ พฤติการณ์การถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป โดยผ่านตัวแทน หรือ "นอมินี" ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณดำรง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นจริงหรือไม่

นายกล้านรงค์ จันทิก ได้สรุปถึงคดียึดทรัพย์นี้ ว่า ในขั้นตอนต่อไปก็เป็นพยานทางฝ่ายศาล ที่จะสืบความในวันที่ 12 และ 14 มกราคม 2553 นี้ ซึ่งผลการพิจารณาจะออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งและจะส่งผลกระทบอย่างไรนั้นก็ต้อง เป็นไปตามคำพิพากษา ถ้าศาลท่านสั่งให้ยกฟ้องก็ยก ถ้าศาลท่านสั่งให้ยึดทรัพย์ก็ยึด หรือสั่งให้ยึดบางส่วนก็ยึดบางส่วน อยู่ที่ศาลเท่านั้น

จากนี้ไป จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองว่า คำพิพากษาในคดียึดทรัพย์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไร จะจุดอุณหภูมิความเคลื่อนไหวทางการเมืองให้เดือดขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่ ภายในปี พ.ศ. 2553 นี้ได้รู้คำตอบแน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook