นายกฯยันหลักฐานไทยพร้อมแจงเขมรยิงก่อน

นายกฯยันหลักฐานไทยพร้อมแจงเขมรยิงก่อน

นายกฯยันหลักฐานไทยพร้อมแจงเขมรยิงก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา ว่า รัฐบาลได้ส่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา โดย คณะรัฐมนตรี ยืนยัน จะระดมกำลังเข้าไปซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายบางส่วน รวมถึง การสร้างหลุมหลบภัยเพิ่ม โดยทางจังหวัด สามารถใช้เงินทดลองได้ ส่วนที่รัฐสภา ทั้งวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ก็มีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยทุกคนเห็นตรงกัน ไทยต้องรักษาสิทธิประโยชน์ของเรา และต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ โดยทั้ง 2 สภา สนับสนุนแนวทางการเจรจาของรัฐบาล ขณะที่กองทัพ ก็ต้องตอบโต้ตามความเหมาะสม

ส่วนการชี้แจงนานาประเทศนั้น ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการ ซึ่งไทยมีหลักฐานและภาพถ่ายที่กัมพูชาเปิดศึกยิงก่อน โดยมั่นใจ ชี้แจงนานาชาติได้ ทั้ง ยูเอ็น และ ยูเนสโก ขณะที่ ยูเนสโก เอง ก็ควรลดการทำให้เกิดแรงกดดัน โดยการยุติเดินหน้าการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบประสาทพระวิหารของกัมพูชา ขณะที่ ส่วนตัว ได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อเลขาธิการยูเอ็น และประธานอาเซียน แล้ว พร้อมกันนี้ ได้มี การนัดประชุม รมว.ต่างประเทศอาเซียน วันที่ 22 ก.พ. นี้ ทั้งนี้ กลไกที่อาเซียนเสนอ ให้เจรจาทวิภาคี เป็นแนวทางที่ไทยกำลังดำเนินการ มีแต่ทางกัมพูชา ปฏิเสธกลไกเหล่านี้ เพราะต้องการให้ประชาคมโลกเข้ามาแทรกแซง

ทั้งนี้ นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ทหารไทยปะทะกับทหารกัมพูชา นั้น มีความชัดเจนว่า กัมพูชาต้องการยกระดับเรื่องนี้ เพราะในระหว่างการเกิดเหตุ กัมพูชาร้องเรียนไปยังองค์การสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อให้ประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซง ซึ่งไทยก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริง และขณะนี้ได้เตรียมหลักฐานพร้อมแล้ว ว่า การปะทะนั้น กัมพูชายิงไทยก่อน รวมทั้ง การใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานของทหาร และการที่กัมพูชายอมรับเองว่า ยิงไทยก่อนด้วย ทั้งนี้ ยูเนสโก ควรลดแรงกดดัน โดยชะลอการดำเนินการเรื่องแผนบริหารจัดการ ในพื้นที่พิพาทของประเทศ

ขณะเดียวกัน หากไทยถูกรุกล้ำอธิปไตย กองทัพก็พร้อมที่จะตอบโต้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ปัญหาที่ดีขึ้นเป็นเรื่องที่กัมพูชาต้องการเสนอแผนการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งตนเคยยืนยันกับ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในระหว่างที่มีการพูดคุยกันหลายครั้งแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ หากการเจรจาปักเขตแดนไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ตนขอขอบคุณ ส.ส.ในพื้นที่ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ให้ข้อมูลติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง


ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ให้ยกเลิก MOU 2543 และ JBC นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับให้กลไกลประชาคมโลกเข้ามาแทรกแซง ซึ่งเป็นผลเสียต่อประเทศไทย โดยยืนยัน รัฐบาลดำเนินการด้วยความสุจริต เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศ และอธิปไตย ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่บนความประมาท โดยรัฐบาลจะดูและประชาชน และเฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเขาสู่ภาวะปกติ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทัพ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกฯ จะชี้แจงประชาชนเป็นระยะๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook