“หมอลำถูทา” ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตอย่างสงบ

“หมอลำถูทา” ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตอย่างสงบ

“หมอลำถูทา” ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิตอย่างสงบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

17 มี.ค. "ทองมาก จันทลือ" ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้านหมอลำคนแรกของประเทศ เสียชีวิตอย่างสงบในบ้านสวนเศรษฐกิจพอเพียง จ.อุบลราชธานี ญาติเตรียมมอบร่างเป็นอาจารย์ใหญ่แก่นักศึกษาแพทย์ตามเจตนารมณ์ก่อนเสียชีวิต

นายทองมาก จันทลือ หรือ "หมอลำถูทา" อายุ 82 ปี เสียชีวิตอย่างสงบจากอาการป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ขณะนอกพักรักษาตัวที่บ้านสวนเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านแมด หมู่ 5 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา 03.20 น. วันนี้ (17 มี.ค.) ซึ่งญาติตั้งบำเพ็ญกุศลศพไว้ที่บ้านพักถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มี.ค.นี้ ก่อนมอบให้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น นำไปศึกษาตามจุดประสงค์ของผู้เสียชีวิต

นางลำดวน ปูคะธรรม อายุ 57 ปี ลูกสาวคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ซึ่งอยู่ดูแลนายทองมากจนถึงวาระสุดท้าย เล่าว่า เมื่อเย็นวันที่ 16 มี.ค. บิดาไม่ยอมกินข้าวเย็น และหายใจไม่สะดวก จึงขอเข้านอนตั้งแต่หัวค่ำ กระทั่งกลางดึกพบว่าบิดาเสียชีวิตแล้วอย่างสงบ ซึ่งบิดาป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองอุดตันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้ร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง และก่อนเสียชีวิตยังสั่งให้จัดการศพตามประเพณีแบบเรียบง่ายไม่สิ้นเปลือง โดยเฉพาะหลังเสร็จพิธีทางศาสนาให้มอบร่างแก่โรงพยาบาลรับไปดำเนินการทันที เพื่อเป็นวิทยาทานให้กับนักศึกษาแพทย์

สำหรับประวัติของนายทองมาก จันทลือ เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2467 ที่ จ.ขอนแก่น เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ 14 ปี โดยบิดาพาไปสมัครเรียนหมอลำกับพระอาจารย์อ่อน ที่วัดประดู่น้อย และได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำและพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของหมอลำ นานถึง 2 ปี ก่อนไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากครูหมอลำอีกหลายคน จนแตกฉานด้านวิชาหมอลำ และแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2491 ด้วยความสามารถลำกลอน 7 กลอน 8 และกลอน 9 ได้อย่างสด ๆ โดยไม่ติดขัด ในปี 2500 ได้เข้าประกวดหมอลำกลอนฝ่ายชาย และได้รางวัลชนะเลิศประกาศนียบัตรหมอลำชั้นพิเศษ 4 ดาว ถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของหมอลำในสมัยนั้น ขณะเดียวกัน นายทองมากยังมีความสามารถนำศิลปะหมอลำมาประยุกต์ใช้โฆษณาขายยาให้กับบริษัทยาชื่อดังแห่งหนึ่ง จนยอดขายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยาหม่องที่ใช้คำโฆษณาถูทา เป็นที่ติดหูประชาชน จนเรียกแทนชื่อทองมากเป็น "หมอลำถูทา"

ต่อมาปี 2512 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.อุบลราชธานี โดยไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด และได้รับเลือกเข้าสภาฯ พร้อมกับนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ชาว จ.ตรัง เข้าสภาฯ เป็นครั้งแรกเช่นกัน จากนั้นได้รวบรวมพรรคพวกที่เป็นหมอลำตั้งสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์ฯ เป็นคนแรก

จนถึงปี 2529 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้นายทองมากเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงหมอลำ เป็นคนแรกของประเทศ โดยช่วงหลังนายทองมากไม่ได้รับงานแสดง แต่รับเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ตามสถาบันการศึกษา เพื่อนำศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานไปเผยแพร่ ส่วนวันว่างจะดูแลสวนที่ทำแบบไร่นาสวนผสมอยู่ที่บ้านพักจนสิ้นลม

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook