นายกฯ ยันไม่จับมือ พท.ตั้งรัฐบาลหลัง ลต.

นายกฯ ยันไม่จับมือ พท.ตั้งรัฐบาลหลัง ลต.

นายกฯ ยันไม่จับมือ พท.ตั้งรัฐบาลหลัง ลต.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุ หลังการเลือกตั้งว่า อาจจะมีพรรคการเมืองได้อันดับ 1 กับอันดับ 2 ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยตน ขอยืนยันจุดยืนเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่สามารถร่วมงานกับ พรรคเพื่อไทย ได้ อีกทั้งเห็นว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ได้เช่นกัน เนื่องจากหากไม่มีฝ่ายค้าน ก็เท่ากับไม่มีการตรวจสอบ ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ จะไม่หมกมุ่นกับปัญหาการเมือง โดยอยากให้การเลือกตั้งก้าวพ้นปัญหาการเมือง และให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนมากกว่า โดยเห็นได้จากการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้นั้น ก็อนุมัติขึ้นเงินเดือนให้กับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ ที่เงินเดือนไม่ถึง 50,000 บาท ในร้อยละ 5 ซึ่งยืนยัน ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมการดีเบตนโยบายกับพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เสนอตัวเป็นรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ระบุว่า ได้ยืนยันต่อกองทัพไทยแล้วว่า จะจัดประชุมคณะกรรมการทั่วไปชายแดนไทย - กัมพูชา หรือ จีบีซี ขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ขณะนี้ ทางกองทัพไทยยังไม่ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ตนทราบ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งสนับสนุนทุกกลไกเพื่อเข้าสู่เวทีทวิภาคี ทั้งนี้มองว่า จะประชุมที่ใดนั้น จะไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะเนื้อหาสาระก็ยังอยู่เพียง 2 ประเทศ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องเดินหน้าให้เกิดการประชุมให้ได้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การประชุมร่วมรัฐสภา วาระเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา หรือ JBC 3 ฉบับ ในวันพรุ่งนี้ว่า ตนได้ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม หารือกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านแล้ว เพื่อกำหนดท่าที ซึ่งตนยอมรับว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ขณะที่ หากผลการประชุมยังไม่สามารถลงมติได้ในวันพรุ่งนี้นั้น เห็นว่า การพิจารณาทั้ง 3 ฉบับ ไม่มีประเด็นใดที่หลายฝ่ายมีความกังวล ซึ่งตนก็เคยชี้แจงแล้วก่อนหน้านี้ เพราะไทยมีบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ปี 2543 กับ JBC อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเดินตามเกมของกัมพูชา

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะนี้ว่า ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว โดยเฉพาะจังหวัดภาคใต้ ทางฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคม เร่งดำเนินการหาทางระบายน้ำ เพื่อเปิดใช้สนามบินใน จังหวัดนครศรีธรรมราช และถนนหลายเส้นทางที่ถูกตัดขาด ไม่สามารถสัญจรได้ ส่วนการช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้ ได้มีการลำเลียงถุงยังชีพ และเรือยนต์ เข้าไปให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว ขณะที่เรื่องของเงินชดเชยนั้น จะมีการพิจารณาหลังสถานการณ์มีความชัดเจน โดยจะยึดหลักเกณฑ์เดิมที่เคยปฏิบัติมา ที่จะมีการดูในรายละเอียดว่าเข้าตามหลักเกณฑ์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ตนจะเดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียง ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง

ส่วนเหตุแผ่นดินไหว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รายงานเกี่ยวกับปัญหารอยเลื่อนในประเทศไทยทั้งหมดแล้ว พร้อมกับสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ไปดูในรายละเอียดเรื่องของอาคารสูง โดยเฉพาะ อาคารที่มีการก่อสร้างก่อนปี 2550 ซึ่งยังไม่มีกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้ รวมถึง การซ้อมแผนให้เป็นบูรณาการ โดยมีความกระชับมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการแยกระดับความรุนแรงของในแต่ละพื้นที่ โดยในพื้นที่ภาคเหนือมีความรุนแรงสูงที่สุด ส่วนเรื่องเขื่อนกักเก็บน้ำนั้น ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีรายงานความผิดปกติ แต่ก็จะไม่ประมาท และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ พร้อมรายงานข้อเท็จจริงให้ทราบโดยด่วน

และขณะนี้ ก็ได้มีการวางระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เป็นแผนระยะยาวไว้แล้ว อย่างไรก็ตามยอมรับว่า
การวางมาตรการเหตุแผ่นดินไหวนั้น นักวิชาการก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook