ยอดวันแรกของ 7วันอันตราย อุบัติเหตุตาย 56 บาดเจ็บ635

ยอดวันแรกของ 7วันอันตราย อุบัติเหตุตาย 56 บาดเจ็บ635

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
(31ธ.ค.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กก.ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เป็นประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ประจำวันที่ 30 ธ.ค. 51 ซึ่งเป็นวันแรกของการเดินทางช่วง 7 วันระวังอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุ รวม 569 ครั้ง ถือว่ามีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 156 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 56 คน เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 23 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บ 635 คน มากกว่าปีที่ผ่านมา 157 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 38.26 รองลงมา ขับรถเร็ว ร้อยละ 21.98 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.09 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 57.05 บนถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 35.23 และถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 33.72 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางคืน ร้อยละ 70.47 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 32.38 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน อายุ 25-49 ปี

ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวอีกว่า จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือพิษณุโลก 4 คน รองลงมา ได้แก่กรุงเทพฯ ชัยนาท ชัยภูมิ อำนาจเจริญ เชียงราย เสียชีวิตจังหวัดละ 3 คน จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ เชียงราย 32 คน รองลงมาเป็นเพชรบูรณ์ บาดเจ็บ 29 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เชียงราย 28 ครั้ง รองลงมา เพชรบูรณ์ 26 ครั้ง จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุจำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร สกลนคร และพังงา ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,960 จุด มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 73,227 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 626,325 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 3 ม. 2ข. 1ร. รวม 39,516 ราย ส่วนใหญ่ ไม่มีใบขับขี่ 14,790 ราย รองลงมา ไม่สวมหมวกนิรภัย 13,582 ราย

// //

นายสุรชัย กล่าวอีกว่า ในวันส่งท้ายปีเก่า จะมีประชาชนเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ตามสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า วันที่ 31 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จึงได้ประสานให้จังหวัดปรับแผนการจัดตั้งจุดตรวจและจัดชุดสายตรวจตระเวนในพื้นที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นหนักเส้นทางสายรอง ทางเข้าออกชุมชน หมู่บ้าน และบริเวณใกล้สถานบันเทิงในช่วงกลางคืน พร้อมทั้งสั่งการให้เน้นการเรียกตรวจรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเพื่อตรวจจับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้งการเมาแล้วขับ และการไม่สวมหมวกนิรภัย หากจุดสกัดใดพบเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอาการเมาแล้วขับจะกักตัวไว้ และดำเนินคดีกับผู้ปกครองตาม

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546

ด้านนายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีปภ. เลขานุการ ศปถ. กล่าวว่า ตนได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและสรรพสามิต กวดขันร้านค้าให้งดจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และควบคุมการจำหน่ายสุราในช่วงเวลา 11.00-14.00 น. และ เวลา 17.00-24.00 น. รวมทั้งห้ามจำหน่ายสุรา ในสถานีบริการน้ำมัน และบริเวณวัดโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่าการขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมาสุรา มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเมาแล้วขับทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท

ตะลุยข่าว - 388 ศพสึนามิ...ยังไม่ได้กลับบ้าน

แม้พิบัติภัยสึนามิจะผ่านพ้นไปแล้ว 4 ปี ทว่าภาพความเสียหาย การล้มตาย และสูญหายไปของคนอันเป็นที่รัก ยังคงติดตรึงอยู่ในใจเหมือนภาพฝันร้ายในคืนที่แสนยุ่งเหยิง หลายครอบครัวยังทำใจไม่ได้กับมหันตภัยที่เกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว และธุรกิจ เสียงหวีดร้องโหยหวนและร่ำไห้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ยังคงก้องอยู่ในมโนสำนึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook