นิด้าเปิดตัวเครือข่ายติดตามสถานการณ์ลต.

นิด้าเปิดตัวเครือข่ายติดตามสถานการณ์ลต.

นิด้าเปิดตัวเครือข่ายติดตามสถานการณ์ลต.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล ร่วมกับ สำนักข่าว INN สถานีข่าว TNN24 และหนังสือพิมพ์แนวหน้า จัดตั้งเครือข่ายติดตามสถานการณ์เลือกตั้ง 2554 ขึ้นเพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งกระตุ้นเตือนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้เริ่มปาฐกถาพิเศษ ว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่า หากมีการปฏิรูปการเมืองจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างทางการเมืองทั้งระบบ แต่ตนทราบว่าเป็นข้อเสนอระยะยาวที่ต้องแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติออกจากกัน โดยคณะกรรมการต้องการชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่ เพราะเป็นโครงสร้างตามระบบรัฐสภา หรือ รูปแบบควบอำนาจ คือ ฝ่ายบริหารประเทศโดยนายกรัฐมนตรียังทำหน้าที่นิติบัญญัติควบคู่กันไป ซึ่งตนเห็นว่า รูปแบบดังกล่าว เมื่อใช้กับประเทศกำลังพัฒนาจะทำให้มีปัญหา ซึ่งเมื่อมีการเลือกตั้ง หากพรรคหนึ่งพรรคใดไม่ชนะขาด ทำให้มีการตั้งพรรคการเมืองผสม จึงมีปัญหาเรื่องการประนีประนอมผลประโยชน์และต่อรอง ดังนั้น จะทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ และมีเสียงข้างมาก ที่ทำให้ร่างกฎหมายใดก็สามารถผ่านได้ เพราะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการได้มาก ดังนั้น การตรวจสอบจึงอ่อนแออย่างมาก ทั้งนี้ รัฐบาลจะอยู่ได้ก็ขึ้นอยู่กับเสียงในรัฐสภา จึงทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ที่รัฐบาลต้องดูแล ส.ส.เป็นอย่างดี เรียกได้ว่า กลไกเช่นนี้ไม่โปร่งใสในการเมือง

ทั้งนี้ยอมรับว่าข้อเสนอดังกล่าวดำเนินการเป็นรูปธรรมได้ยากเพราะวัฒนธรรมของคนไทยยังไม่ยอมรับและการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศโดยตรงต้องใช้งบประมาณที่สูงมากและต้องอาศัยการบริจาคจากประชาชน ขณะเดียวกัน ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างมีผลต่อพรรคการเมืองที่บางกลุ่มอาจเสียประโยชน์ อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปจะเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาระบบการเมือง

ขณะที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในงานเปิดตัวศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพลว่า พรรคเพื่อไทยมีความพร้อมกับการเลือกตั้ง แต่ทั้งนี้ผลการเลือกตั้ง ตามมารยาทเห็นว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุดควรที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการพร้อมในการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย คือการนำเสนอแนวนโยบายให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งระบบการเลือกตั้ง เป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้มีอำนาจสูงสุดได้ตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิ์ในการเลือกผู้แทนราษฎรในสภานิติบัญญัตินำไปสู่การเป็นผู้บริหารประเทศ ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองต้องตระหนักในการขายนโยบาย ที่จะต้องทำให้ได้ ทั้งนี้ นโยบายต้องมาจากปัญหาของประชาชน และเป็นเรื่องของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งที่มาในนโยบายของพรรค ได้มีการประชุมและเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละด้านมาพูดคุยหารือจนกระทั่งตกผลึกได้ประเด็นที่สำคัญในแต่ละด้าน จากนั้นจึงมีการทำประชาพิจารณ์อีกรอบ คือการนำนโยบายไปคุยกับภาคประชาชนอีกครั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันว่ามีการประชุมและดำเนินนโยบายมาตลอดกว่าสามเดือนที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ ก็ได้มีการปรับปรุงด้านนโยบายเพื่อให้ทันสถานการณ์ โดยทางพรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดตัวนโยบายไปแล้วทั้งเวทีปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ โดยสำคัญที่สุด คือ นโยบายนอกจากพร้อมในเรื่องขายฝัน แต่ต้องทำให้ได้ คือการเตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรที่ต้องมีความรู้และชำนาญที่เคยปฏิบัติจริงในแต่ละนโยบายที่เสนอไป รวมไปถึงการกำหนดโครงสร้างของงบประมาณบุคคลให้ชัดเจนด้วย

ด้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในงานเปิดตัวศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพลว่า สองปีที่ผ่านมา รัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วม พรรคยืนยันว่า มีความพร้อมกลับมาทำหน้าที่แก้ปัญหาให้กับประชาชน และพร้อมผลักดันนโยบายต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง หรือแรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน โดยในวันพรุ่งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครหน้าใหม่ และในวันเสาร์ที่ 14 พ.ค.นี้ ก็จะมีการสัมมนาว่าที่ผู้สมัครทั้งหมดด้วย ซึ่งภายหลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาแล้วนั้น สิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นคือ ประเทศไทยได้ก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แนวนโยบายที่พรรคเคยประกาศในการเลือกตั้งปี 50 ก็ได้นำมาผลักดันแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง และหวังว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม รวมทั้งทุกพรรคการเมืองแข่งขันการเลือกตั้งอย่างปราศจากความรุนแรงด้วย

ขณะที่ นายดลสวัสดิ์ ชาติเมธี รักษาการหัวหน้าพรรคประชาสันติ กล่าวว่า พรรคตนพร้อมกับการเลือกตั้งและการบริหารประเทศ ซึ่งตนต้องการพรรคการเมืองต่างๆสามารถเผยแพร่ความคิดให้กับนักศึกษา เพราะการเผยแพร่เช่นนี้ จะทำให้เกิดประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากตนเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับโอกาสไปบริหารประเทศ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ให้มีองค์กรบริหารประเทศ ประกอบด้วย สภาประชาชน ที่มีหน้าที่ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกกฎหมายประเทศชาติ ไม่มีหน้าที่ล้มล้างรัฐบาล ส่วนคณะรัฐมนตรีก็มีหน้าที่บริหารประเทศ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับนิติบัญญัติ
ส่วนความเป็นประชาธิปไตยก็ต้องมาจากวัฒนธรรมของประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าตนเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งมาใหม่ ก็จะพยายามจนกว่าประสบความสำเร็จ

ด้าน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ยอมรับว่า ผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตพื้นที่ภาคใต้ โดยแต่เดิมพรรคมี ส.ส.ประมาณ 13 คน ซึ่งอย่างน้อยในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ในเขตภาคใต้น่าจะได้ประมาณ 11 ที่นั่ง ทั้งนี้ ระบบบัญชีรายชื่อ ทางพรรคมาตุภูมิคงส่งไม่ถึง 125 คน แต่จะส่งตามความเหมาะสมเท่านั้น

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า อนาคตพรรคภูมิใจไทย คาดหวังให้การเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนตัวเชื่อ ทุกพรรคการเมืองย่อมต้องระบุว่า ยอมรับผลการเลือกตั้ง และเห็นว่าพรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนกลุ่มการเมืองสีต่างๆ นั้น จะควบคุมมวลชนของตนเองได้หรือไม่ ไม่ใช่ว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาผิดหวัง มีการกล่าวหาพรรคอื่นว่าโกงการเลือกตั้ง ในส่วนของประเด็นนี้ กลุ่มการเมืองสีต่างๆ จะร่วมยอมรับด้วยหรือไม่

ด้าน น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน กล่าวว่า เป็นความชอบธรรม ที่พรรคการเมืองอันดับ 2 จะจัดตั้งรัฐบาล หากพรรครัฐบาลอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลผสมไม่ได้ และเรื่องนี้ต้องมีการสอบถามความเห็นของประชาชน แต่เห็นว่าเป็นการเร็วเกินไปที่จะมีการหารือในเรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook