เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่มาของ ส.ส.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1)พุทธศักราช 2554 กำหนดให้มี ส.ส. มีจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่ ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 375 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 125 คน

ส.ส. แบบแบ่งเขต  375 คน
ส.ส.แบบแบ่งเขต คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งประเทศออกเป็น 375 เขต เกิดจากการคำนวณราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ที่ประกาศปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งเฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส. 375 คน เช่น ราษฎรทั้งประเทศ จำนวน 63,878,267 ล้านคน หารด้วย 375 ก็จะได้ค่าเฉลี่ยราษฎร 170,342 คน ต่อ ส.ส. 1 คน หลักการนี้มาจากเหตุผลที่ว่า แต่ละเขตเลือกตั้งควรมี ส.ส. จำนวนเท่าเทียมกันโดยประชาชนหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน มีความ เสมอภาคกัน ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ใด หรือจะยากดีมีจน เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือเศรษฐีก็มีสิทธิที่เท่าเทียมกัน การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตให้ทำเครื่องหมาย x กากบาทเลือกได้เพียงหมายเลขเดียวหรือเบอร์เดียว ดังที่เรียกว่า "เขตเดียว เบอร์เดียว"

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 125 คน
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คือ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ โดยพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครไว้เพียงบัญชีเดียว เรียงลำดับจำนวนไม่เกิน 125 รายชื่อ รายชื่อใครจะอยู่ลำดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคจะดำเนินการ การเลือกตั้งแบบนี้ถือประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หมายถึงทั้งประเทศ จะมีผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อชุดเดียวกัน
การลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ทำเครื่องหมาย x กากบาท เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียว ได้เพียงหมายเลขเดียว หรือเบอร์เดียว นั่นก็หมายถึงผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตัดสินใจ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในสังกัดของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบนั่นเอง ส่วนที่ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวนเท่าใดก็ขึ้นกับว่าพรรคนั้นๆ จะได้รับคะแนนเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด โดยผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งต้องมาจากบัญชีรายชื่อเรียงตามลำดับจนกว่าจะครบจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับ โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้

วิธีคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกตั้ง
นำจำนวนคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน ให้แก่พรรคการเมืองทุกพรรคมารวมกัน
ผลลัพธ์ตามข้อ 1 หารด้วยจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน
ผลลัพธ์ตามข้อ 2 ไปหารคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ก็จะได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค
ตามข้อ 3 ถ้ายังไม่ได้ครบ 125 คนให้ดูว่าพรรคการเมืองใดมีเศษเหลือมากที่สุดไล่ไปพรรคการเมืองที่มีเศษรองลงไปเรื่อยๆจนครบ 125 คน

สมมุติว่ามีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ รวม 8 พรรค มีคะแนนรวมทั้งประเทศ ดังนี้

หมายเหตุ ผลการคำนวณครั้งแรกได้ ส.ส. 121 คน เหลือ ส.ส. อีก 4 คน จะมาจาก 4 พรรค ที่ได้คะแนนเหลือเศษมากที่สุด คือ พรรค ค, ข, ซ และ ง ตามลำดับ


โดยมีวิธีการคำนวณ ดังนี้
รวมคะแนนทุกพรรค 30,450,000 คะแนน
คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส. 1 คน คือ คะแนนรวมทุกพรรคในเขต หารด้วย 125 กรณีนี้คือ 30,450,000 คะแนน หารด้วย 125 เท่ากับ 243,600 คะแนน
คะแนนรวมของแต่ละพรรคหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ผลที่ได้คือจำนวน ส.ส. ของพรรคในเขตนั้นๆ หากคำนวณแล้วได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบ 125 คน ให้นำเศษของคะแนนในแต่ละพรรคการเมืองที่ได้มาจัดลำดับจนครบ
ตัวอย่าง : พรรค ก. ได้คะแนน 12,600,000 คะแนน หารด้วย 243,600 ก็จะได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 52 คน เหลือเศษ 66,115 คะแนน
หากผลลัพธ์ออกมายังมี ส.ส. ไม่ครบ 125 คน ก็ต้องดูว่าพรรคใดมีเศษเหลือ มากที่สุดก็จะได้รับจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นอีก 1 คน ไล่ไปเรื่อยๆจนครบ 125 คน

คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.

มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวนับถึงวันเลือกตั้ง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน (การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้เป็นกรณียุบสภาผู้สมัครต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง)

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า

ในเขตเลือกตั้ง
ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านตามทะเบียนบ้าน ที่ต้องเดินทางออกนอกเขตไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันเลือกตั้ง ก็สามารถไปแสดงตนเพื่อขอลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง โดยต้องยื่นคำขอลงทะเบียนนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ถามวันเวลาที่กำหนด 

ระยะเวลาการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

ตั้งแต่วันที่ 12-16 มิถุนายน 2554 ณ ที่ว่าการอำเภอ และ ที่ทำการทะเบียนท้องถิ่น โดยยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ / นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล

วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

วันที่ 26 มิถุนายน 2554 เวลา 08.00 - 15.00 น.

ณ สถานที่เลือกตั้งกลาง

นอกเขตจังหวัด
ผู้ประสงค์ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดจะต้องทำอย่างไร? 

ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่คนละจังหวัดกับที่ผู้นั้นมีชื่อในทะเบียนบ้านหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง (เพิ่งย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใหม่) ไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลาง ของจังหวัดที่ท่านทำงานหรืออาศัยอยู่ได้ แต่ต้องยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2554 สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไว้แล้วโดยไม่ได้ขอเปลี่ยนแปลงที่ลงคะแนน ก็สามารถไปขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามวันเวลาที่กำหนดได้เลย

การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด
วันเลือกตั้งล่วงหน้า : วันที่ 26 มิถุนายน 2554 เวลา 08.00-15.00 น.
สถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า : ณ ที่เลือกตั้งกลางของแต่ละจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานคร มีทุกสำนักงานเขต

เอกสารที่ต้องเตรียมยื่นลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด
คำขอลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด (แบบ ส.ส. 42) - ขอรับได้ที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่งหรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ Download จากหมวดแบบฟอร์ม
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายที่ทางราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
หมายเหตุ สามารถยื่นรวมกันเป็นกลุ่มได้ โดยใช้คำแบบ ส.ส.42/ก หรือทำเป็นหนังสือที่มี ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน ที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง และจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาไม่น้อย กว่า 90 วัน

วิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนนอกเขตจังหวัด
ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่น ก็คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตของ กทม. นายอำเภอ หรือปลัดเทศบาล โดยมีวิธีการยื่น 3 ทาง คือ
ยื่นด้วยตนเอง
ทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นดำเนินการแทน
ส่งทางไปรษณีย์ (ดูตราประทับต้นทางเป็นสำคัญ)
ระยะเวลาในการลงทะเบียน
วันที่ 19 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน 2554

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ต่างประเทศ ต้องขอลงทะเบียนใช้สิทธินอกราชอาณาจักรก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 30 วัน (ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2554) และไปลงคะแนนล่วงหน้า ระหว่างวันที่ 17 - 26 มิถุนยาน 2554 ณ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลหรือลงคะแนนทางไปรษณีย์นั้น ตามที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลกำหนด


การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งที่ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน (12 มิถุนายน 2554) และจากหนังสือแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ส่งถึงเจ้าบ้าน (17 มิถุนายน 2554)
กรณีชื่อตนเองหายไปหรือมีชื่อบุคคลอื่นเกินมาในบัญชีรายชื่อ ให้แจ้ง เพิ่มชื่อ-ถอนชื่อต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน (ภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2554)

 

วิธีการและขั้นตอนการลงคะแนน

ตรวจสอบว่ามีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งของเขต เลือกตั้งไหน ต้องไปใช้สิทธิ ณ ที่เลือกตั้งใด หากลงทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดไว้ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดของจังหวัดที่ตนลงทะเบียน ในวันที่ 26 มิถุนายน 2554 เท่านั้น (ผู้นี้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ได้)
เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนเอาไว้ให้พร้อม
ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตที่หน่วยเลือกตั้ง ที่ท่านมีชื่ออยู่ ตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. ในวันเลือกตั้ง (3 กรกฏาคม 2554)
หลักฐานใช้ในการลงคะแนนเลือกตั้ง
บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุก็ใช้ได้
บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้ถือบัตร เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใบขับขี่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

ใครเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง


คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง กกต.มี 5 คน กกต.จว. ในแต่ละจังหวัดอีก จังหวัดละ 5 คน เป็นผู้ช่วยเหลือ
แต่พนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งส่วนกลางและจังหวัด มีประมาณ 2,200 คน รวมทั้งมี กกต.เขต ทุกเขตเลือกตั้งๆละ 5 คน เป็นผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งตามกฎหมาย /อนุกรรมการระดับอำเภอ/กรรมการประจำหน่วย (กปน.)ฯลฯ อีกประมาณ 1,200,000 คน ช่วยเหลือในการจัดการเลือกตั้ง
หน่วยเลือกตั้ง ถือเกณฑ์จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน่วยละ 800 คน จำนวนประมาณ 94,000 หน่วย
ในแต่ละหน่วยเลือกตั้งจะมีผู้อำนวยการประจำหน่วย 1 คนและ กปน. จำนวน 9 คน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 คน รวมทั้งมีอาสาสมัครของ องค์กรเอกชน (ออช.) และตัวแทนพรรคการเมืองไม่เกินพรรคละ 1 คน เป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสนับสนุนการเลือกตั้ง ที่มีหน้าที่รับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด และการขอความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน


การนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.

เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในเวลา 15.00 น. แล้ว จะนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง โดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียวแล้ว กปน. จะประกาศผลการนับคะแนน ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งปิดประกาศไว้บริเวณที่เลือกตั้ง จากนั้นจะนำหีบบัตรพร้อมอุปกรณ์และเอกสารสำคัญส่งอำเภอ เพื่อรายงานผลให้ กกต.เขต
หลังจากนั้น กกต.เขต จะรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้ง และประกาศผลรวมคะแนนของเขตเลือกตั้งและปิดประกาศไว้ในสถานที่ ที่กำหนด พร้อมรายงานต่อ กกต.ประจำจังหวัด และรายงานต่อ กกต. เพื่อพิจารณาประกาศผลการเลือกตั้งต่อไป


ข้อห้ามกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

ห้ามซื้อเสียง หรือจัดเตรียมการซื้อเสียง
ห้ามรับเงินและประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
ห้ามหาเสียงและห้ามขายหรือจัดเลี้ยงสุรา ตั้งแต่ 18.00 น. ของวันก่อน วันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
ห้ามนายจ้างขัดขวางการไปใช้สิทธิของลูกจ้าง
ห้ามขัดขวางหรือหน่วงเหนียวมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไป ณ ที่เลือกตั้ง
ห้ามจัดยานพาหนะ (ยกเว้นหน่วยงานรัฐ) ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปเลือกตั้ง โดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร
ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดอย่างจงใจ
ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองได้ลงคะแนนแล้วด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด
ห้ามเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
ห้ามเผยแพร่หรือเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับผล การเลือกตั้ง(โพลล์) ในระหว่าง 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง (เวลา 15.00 น.)


ใบเหลือง ใบแดง คืออะไร?

เพื่อให้เข้าใจง่าย จึงขอเปรียบเทียบกับกีฬาฟุตบอล เมื่อกรรมการให้ "ใบเหลือง"นักฟุตบอล แปลว่านักฟุตบอลคนนั้นเล่นผิดกติกา แต่ยังไม่ถึงกับไล่ออกจากสนาม ยังให้เล่นต่อไปได้
ถ้าให้ "ใบแดง" แปลว่า นักฟุตบอลคนนั้นทำผิดกติกาอย่างร้ายแรง ต้องไล่ออก จากสนาม กฎหมายเลือกตั้งทุกประเภทก็กำหนดกติกาการเลือกตั้งไว้คล้ายๆ กับกติกากีฬาฟุตบอล ดังนี้
การให้ใบเหลือง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า กกต. เห็นว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิ-ขายเสียง การแจกเงิน สิ่งของ เป็นต้น แต่เป็นการทุจริตที่แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครได้เป็นคนกระทำด้วยตนเอง แต่ก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น กกต. จึงลงโทษด้วยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองยังคงเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้
การให้ใบแดง แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า กกต. เห็นว่ามีหลักฐาน อันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีการให้ใบเหลือง แต่ต่างกันตรงที่ว่าผู้สมัครเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนรู้เห็นการทุจริตนั้น จึงมีผลต้องถูก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และหากผู้นั้นได้รับคะแนนเสียงอยู่ในเกณฑ์ที่ จะได้รับการเลือกตั้ง ก็จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แทน โดยผู้ถูกเพิกถอนสิทธินั้น จะไม่มีสิทธิลงสมัคร ทั้งยังถูกดำเนินคดีอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการเลือกตั้งใหม่ด้วย

การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแจ้งเหตุทุจริต

เมื่อพบเห็นการทุจริตเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินสิ่งของ หรือการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน ให้ช่วยกันแจ้งเบาะแสหรือรวบรวมหลักฐานการทุจริตแจ้งต่อตำรวจ ในพื้นที่หรือแจ้งให้ กกต. ได้รับทราบในหลายช่องทาง เช่น
สายด่วนเลือกตั้ง โทร. 1171
ศูนย์ปฏิบัติการข่าว ฯ ในความรับผิดชอบศูนย์อำนวยการสืบสวนสอบสวน การเลือกตั้ง ส.ส. (ศอส.) โทร. 0-2141-8049-51
สำนักงานคณะกรรมการการการเลือกตั้ง อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โทร.0-2141-8888
หรือที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด
พันธะสัญญาของพรรคการเมืองว่าด้วยความร่วมมือในการเลือกตั้ง ส.ส. 2554
(หัวหน้าพรรคการเมือง ได้ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 )
ข้อ 1. มิบังควรนำสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงใน การเลือกตั้ง
ข้อ 2. จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ อันเกี่ยวกับ การเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด
ข้อ 3. จะไม่ใช้กลไกของรัฐ หรือทรัพยากรของรัฐ มาเป็นประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 4. จะหาเสียงเลือกตั้งโดยสันติวิธี ไม่ข่มขู่ คุกคาม คู่แข่งขันด้วยวิธีการใดๆ และไม่ใช้วิธีการรุนแรงในการหาเสียงเลือกตั้ง
ข้อ 5. จะยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งอย่างจริงใจ

การเลือกตั้งในประวัติศาสตร์ไทยมีมาทั้งหมด 25 ครั้ง (ในอนาคตอีก 1 ครั้ง)


การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 1 (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 2 (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 3 (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 4 (6 มกราคม พ.ศ. 2489)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 5 (5 สิงหาคม พ.ศ. 2489)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 6 (29 มกราคม พ.ศ. 2491)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 7 (5 มิถุนายน พ.ศ. 2492)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 8 (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 9 (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 10 (15 ธันวาคม พ.ศ. 2500)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 11 (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 12 (26 มกราคม พ.ศ. 2518)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 13 (4 เมษายน พ.ศ. 2519)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 14 (22 เมษายน พ.ศ. 2522)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 15 (18 เมษายน พ.ศ. 2526)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 16 (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 17 (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2531)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 18 (22 มีนาคม พ.ศ. 2535)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 19 (13 กันยายน พ.ศ. 2535)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 20 (2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538)
การเลือกตั้งในประเทศไทยครั้งที่ 21 (17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2544 (6 มกราคม พ.ศ. 2544)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2548 (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2549 (2 เมษายน พ.ศ. 2549)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 (23 ธันวาคม พ.ศ. 2550)
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)รายชื่อนายกรัฐมนตรีไทย

รายนามนายกรัฐมนตรีไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

 

นายกรัฐมนตรี คนที่ 1 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พ้นตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 ด้วยการทำรัฐประหารโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสน

นายกรัฐมนตรี คนที่ 2 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งวันที่ 21 มิถุนายน 2476 พ้นตำแหน่งวันที่ 16 ธันวาคม 2481 โดยรัฐบาลยุบสภา

นายกรัฐมนตรี คนที่ 3 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 16 ธันวาคม 2481
พ้นตำแหน่งครั้งสุดท้ายวันที่ 16 กันยายน 2500 โดยการทำรัฐประหารนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


นายกรัฐมนตรี คนที่ 4 พันตรีควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 สิงหาคม 2487 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 เมษายน 2491 โดยถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก


นายกรัฐมนตรี คนที่ 5 นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งวันที่ 31 สิงหาคม 2488 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กันยายน 2488 เนื่องจากลาออก เพื่อให้ผู้เหมาะสมมาแทน

นายกรัฐมนตรี คนที่ 6 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 17 กันยายน 2488 และอีกครั้งในต้นปี 2519
ก่อนพ้นตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยการทำรัฐประหาร นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่


นายกรัฐมนตรี คนที่ 7 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 มีนาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 โดยการลาออก


นายกรัฐมนตรี คนที่ 8 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 สิงหาคม 2489 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการทำรัฐประหารนำโดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ


นายกรัฐมนตรี คนที่ 9 นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งวันที่ 21 กันยายน 2500 ตามมติสภาผู้แทนราษฎร และพ้นตำแหน่งวันที่ 1 มกราคม 2501 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็น ครม.ชุดที่ 27


นายกรัฐมนตรี คนที่ 10 จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งครั้งแรกวันที่ 1 มกราคม 2501
และอีกครั้งในปลายปี 2506 ก่อนจะพ้นตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังการเดินขบวนใหญ่ของนักศึกษาประชาชน ในเหตุการณ์ 14 ตุลา


นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 พ้นตำแหน่งวันที่ 8 ธันวาคม 2506 เพราะถึงแก่อสัญกรรม


นายกรัฐมนตรี คนที่ 12 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 ตุลาคม 2516 พ้นตำแหน่งวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญปี 2517


นายกรัฐมนตรี คนที่ 13 พลตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งวันที่ 14 มีนาคม 2518 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 เมษายน 2519 เพราะยุบสภา


นายกรัฐมนตรี คนที่ 14 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งวันที่ 8 ตุลาคม 2519 พ้นตำแหน่งวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารนำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่


นายกรัฐมนตรี คนที่ 15 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2520 พ้นตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 โดยการลาออกกลางสภา


นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 3 มีนาคม 2523 พ้นตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป


นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งวันที่ 4 สิงหาคม 2531 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะ รสช.ทำรัฐประหาร


นายกรัฐมนตรี คนที่ 18 นายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งวันที่ 2 มีนาคม 2534 พ้นตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535
เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (ดำรงตำแหน่งช่วงสั้นๆ อีกครั้ง ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 10 มิถุนายน 2535 - 23 กันยายน 2535)


นายกรัฐมนตรี คนที่ 19 พลเอกสุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งวันที่ 7 เมษายน 2535 พ้นตำแหน่งวันที่ 10 มิถุนายน 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


นายกรัฐมนตรี คนที่ 20 นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งวันที่ 23 กันยายน 2535 และอีกครั้งในปี 2540 พ้นตำแหน่งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 เมื่อยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป


นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 นายบรรหาร ศิลปอาชา ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2538 พ้นตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 เมื่อยุบสภา

นายกรัฐมนตรี คนที่ 22 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดำรงตำแหน่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2539 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 โดยการลาออก


นายกรัฐมนตรี คนที่ 23 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 พ้นตำแหน่งวันที่ 19 กันยายน 2549 หลังถูกรัฐประหาร


นายกรัฐมนตรี คนที่ 24 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งวันที่ 1 ตุลาคม 2549 พ้นตำแหน่งวันที่ 29 มกราคม 2551 เมื่อปรากฎผลการเลือกตั้งทั่วไป


นายกรัฐมนตรี คนที่ 25 นายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่ง 29 มกราคม 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 9 กันยายน 2551 จากคำวินิจฉัยว่าไม่มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งของศาลรัฐธรรมนูญ


นายกรัฐมนตรี คนที่ 26 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง 9 กันยายน 2551 พ้นตำแหน่งวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จากคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ (ถูกตัดสิทธิ์และไม่มีคุณสมบัติในฐานะกรรมการบริหารพรรค)


นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง 17 ธันวาคม 2551 - ปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook