''War Room'' แก้เว็บไซต์หมิ่นได้จริงหรือ?

''War Room'' แก้เว็บไซต์หมิ่นได้จริงหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสาร สนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินงาน คือ การปิดกั้นเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง

ส่งผลให้ภารกิจแรกของ ร.ต. หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที คือ การประกาศจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้า ระวังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือ วอร์ รู ม (War Room)

เพื่อติดตามเฝ้าระวังเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในลักษณะการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหารุนแรงเป็นอันตรายต่อเยาวชน หรือลามกอนาจาร และการพนันข้ามชาติ โดยจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ร.ต.หญิงระนองรักษ์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการนี้จะบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการในเรื่องการเฝ้าระวังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมอยู่แล้วให้มารวมอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าว โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลจัดตั้งศูนย์พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งดำเนินการฝึกอบรมเทคนิค และข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมปฏิบัติงานในศูนย์แห่งนี้ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงแต่ส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมปฏิบัติงานในศูนย์ รวมถึงเป็นผู้ประสานงานระหว่างศูนย์ฯ กับหน่วยงานต้นสังกัดด้วย รวมทั้งจัดตั้งเว็บไซต์เฉพาะกิจเพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว อยู่ระหว่างสรุปมูลค่าอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งขณะที่กระทรวงไอซีทีก็จัดสรรงบประมาณของปี 2552 สำหรับใช้ดูแลเฝ้าระวังเว็บไซต์ไม่เหมาะสม จำนวน 80 ล้านบาทอยู่แล้ว แบ่งเป็นจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางคอมพิวเตอร์ สำหรับติดตาม ตรวจสอบเว็บไซต์ไม่เหมาะสม และตัูนย์พิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ เพื่อเก็บพยานหลักฐานจัดฟ้องทางกฎหมาย โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ไอซีทีได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูงไปแล้วทั้งสิ้น 2,300 เว็บไซต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อส่งฟ้องศาลอีก 400 คดี หากส่งฟ้องได้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันดำเนินการปิดเว็บไซต์ ซึ่งเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูงส่วนใหญ่ที่พบอยู่ในต่างประเทศ มีเพียง 10% ที่เป็นเว็บไซต์ในประเทศไทย

การเดินหน้าอย่างจริงจังของรัฐบาล กระทรวงไอซีที และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์และวิทยุ ชุมชน ด้วยข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ทำให้เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย จับมือร่วมกันแถลงจุดยืนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะปิดกั้นเว็บไซต์เพื่อแก้ปัญหากรณีหมิ่นเบื้องสูง แต่อยากให้มีการระบุหรือนิยามการกระทำหรือความหมายเกี่ยวกับเรื่องของการหมิ่นเบื้องสูงที่ชัดเจน ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการปิดเว็บไซต์ เพราะตามหลักคนที่โพสต์เนื้อหาคือคนผิด อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์เป็นเพียง ช่องทางหนึ่งของการสื่อสารและรับรู้ข่าวสารเท่านั้น โดย อยากให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบพยายามจับกุมปราบปราม คนที่โพสต์เนื้อหาเหล่านั้นมาลงโทษ โดยไม่ ลิดรอนเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งทางออกของเรื่องนี้ รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีสร้างการ มีส่วนร่วม โดยรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้เกี่ยวข้องถึงทางออกของปัญหาไม่ใช่ใช้วิธีปิดกั้นเว็บไซต์และวิทยุชุมชน

ด้าน นายซีเจ ฮินเก้ เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) กล่าวว่า ความพยายามของรัฐที่จะเซ็นเซอร์สื่ออินเทอร์เน็ตมีมานานแล้ว ซึ่งกระทรวงไอซีทีก็ได้ปิดกั้นเว็บไซต์เป็หมื่น ๆ เว็บไซต์แล้ว แม้แต่ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตออกสู่ต่างประเทศก็ปิดกั้นเว็บไซต์ ดังนั้นการปิดเว็บที่เกิดขึ้นตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีคำสั่งศาลถือว่าผิดกฎหมาย

ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยกระบวนการยุติธรรมต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่การขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชน และประชาชนก็ไม่เคยได้ มีส่วนร่วม จึงระบุได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยได้ตรวจสอบก่อนปิดกั้น และแม้ไอซีทีจะมีการปิดกั้นเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องก็ไม่เป็นผล เพราะมีผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการหลบเลี่ยงและตรวจจับเว็บไซต์ที่อยู่ในรายชื่อปิดกั้นของไอซีที ทำให้ประชาชนยังสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ดังกล่าวได้ นาย ซีเจ กล่าว

นายซีเจ กล่าวต่อว่า กระทรวงไอซีทีประกาศจะสร้างวอร์ รูม เหมือนจะตามนโยบายประกาศสงครามอื่น ๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกประกาศ เช่น สงครามต่อต้านการก่อการร้าย หรือสงครามต้านยาเสพติดของไทย วันนี้เป็นสงครามต้านอินเทอร์เน็ต ซึ่งก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งไม่สามารถมั่นใจได้ว่าตำรวจจะมาเคาะประตูบ้านตอนตีสี่เพื่อจะมาจับเพราะเข้าเว็บไซต์ไม่เหมาะสมหรือเปล่า และการที่ไอซีทีจะตั้งห้องวอร์ รูม เพื่อใช้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง ตนคิดว่าควรนำเงินจำนวนนี้ไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า เช่น สร้างความสมานฉันท์ในภาคใต้ หรือสร้างการศึกษาทางอินเทอร์เน็ต

ปัญหานี้ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ต้องติดตามต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook