พลเมืองเน็ตแนะรัฐบาลตั้งเวทีระดมความเห็นแก้เว็บหมิ่น เอ็นจีโอ หวั่นเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม

พลเมืองเน็ตแนะรัฐบาลตั้งเวทีระดมความเห็นแก้เว็บหมิ่น เอ็นจีโอ หวั่นเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม

พลเมืองเน็ตแนะรัฐบาลตั้งเวทีระดมความเห็นแก้เว็บหมิ่น เอ็นจีโอ หวั่นเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เครือข่ายพลเมืองเน็ตร้องนายกฯจัดเวทีระดม ความคิดเห็น แก้ปัญหาเว็บไซต์-วิทยุชุมชน พร้อมกำหนดนิยามหมิ่นเบื้องสูง หวั่นปิดเว็บเข้าข่ายลิดรอนเสรีภาพเข้าถึงข้อมูล ทำชุมชนออนไลน์หวาดกลัว แนะต้องขอหมายศาลตามสากล เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซอยรัชดา 14 เครือข่ายพลเมืองเน็ต คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าวกรณี มติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจับกุมปราบปรามเว็บไซต์และวิทยุชุมชน เรื่อง "ขอรัฐอย่าจับเสรีภาพ สิทธิพลเมือง เป็นตัวประกัน" ทั้งนี้ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า จากกรณีที่ ร.ต.(หญิง) ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงมาตรการปิดกั้น (บล็อค) เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง ที่จะต้องใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการเร่งแก้ข้อกฎหมายเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับกระทรวงไอซีที สามารถดำเนินการได้ทันทีนั้น ทางสมาชิกเครือข่ายพลเมืองเน็ตมีข้อกังวลใจต่อนโยบายดังกล่าว เพราะภาครัฐไม่ควรมุ่งใช้มาตรการที่ลิดรอนเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ของประชาชนมากเกินไป โดยไม่เคารพในวิจารณญาณของประชาชน "ท่าทีที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะทำให้เกิดบรรยากาศหวาดกลัวในชุมชนออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลสะท้อนมุมกลับต่อภาครัฐได้ เพราะที่ผ่านมาการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูงของรัฐนั้น ทำได้แค่เพียงปิดเว็บไซต์ แต่การจับกุมอาชญากรตัวจริงในการสร้างเว็บไซต์ดังกล่าวขึ้นมานั้นยังมีจำนวน น้อยมาก ทำให้ผู้กระทำผิดยังสามารถสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ได้อยู่ดี" น.ส.สฤณีกล่าวว่า ในการปิดเว็บไซต์นั้นควรต้องขอหมายศาลตามมาตรฐานสากล อีกทั้งภาครัฐควรตระหนักในความไร้ประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิผลของมาตรการบล็อคที่สิ้นเปลือง ทั้งงบประมาณและบุคลากรของรัฐ เพราะคนยังสามารถหลบไปใช้ proxy และ วิธีการหลบเลี่ยงการปิดกั้นอื่นๆ ได้ตลอดเวลา ความจริงความไร้ประสิทธิภาพนั้นเองก็แสดงให้เห็นว่า การพยายามเข้าถึงข้อมูลนั้นเป็น "ธรรมชาติ" ของคนท่องเน็ตที่ย่อมอยากมีเสรีภาพในการเข้าถึง ซึ่งรัฐไม่มีทางปิดกั้นได้สำเร็จ "แนวทางที่เหมาะสมนั้นภาครัฐควรหันไปเน้นเรื่องการสร้างบรรทัดฐาน ความชัดเจน และความโปร่งใสในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะดีกว่า เช่น ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อตกลงกันว่า นิยามของคำว่า "หมิ่นเบื้องสูง" ควรอยู่ที่ใด เว็บไซต์ที่เข้าข่าย "เว็บหมิ่นหมิ่นเบื้องสูง" ควรมีลักษณะเนื้อหา ขอบข่ายแค่ไหน รวมทั้งวิธีปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควรเป็นอย่างไร ในทางปฏิบัติที่จะรับประกันได้ว่าจะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลในการ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร" น.ส.สฤณีกล่าว ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการและผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มการเมืองต่างๆ มีการใช้เว็บไซต์และวิทยุชุมชนมาเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมืองกันมากขึ้น ซึ่งเครือข่ายฯไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้อำนาจหน้าที่การปิดเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง จากเดิมจะต้องอาศัยอำนาจของศาล มาเป็นอำนาจของรัฐมนตรีแทน ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเว็บไซต์หมิ่นเบื้องสูง ได้ จะยิ่งทำให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นยากด้วย เพราะกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลจะถูกจัดการได้โดยง่าย โดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายมาดำเนินการ "ทั้ง 3 เครือข่ายฯมีความเห็นตรงกันว่า ในวันที่ 13 มกราคม ทางเครือข่ายฯจะเข้ายื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์และวิทยุชุมชน หมิ่นเบื้องสูงต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยทางเครือข่ายขอเสนอว่า ภาครัฐควรทบทวนการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯและรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการเปิดเวทีให้ทุกเครือข่าย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งเว็บไซต์และวิทยุชุมชนมาเสนอแนวทางแก้ไข รวมทั้งกำหนดขอบข่าย เนื้อหา นิยาม คำจำกัดความ เกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูงว่าควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ได้แนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน" น.ส.สุภิญญาระบุ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook