สรุปการประชุมอาเซียนครั้ง19ที่อินโดฯ

สรุปการประชุมอาเซียนครั้ง19ที่อินโดฯ

สรุปการประชุมอาเซียนครั้ง19ที่อินโดฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ผลการประชุมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Summit) ที่ศูนย์ประชุม Bali Nusa Dua Convention Center (BNDCC) บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม

ประเด็นการหารือหลัก ได้แก่ การสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2558 การเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และประเด็นระดับภูมิภาค และประเด็นระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Leaders’ Meeting with the ASEAN Business Advisory Council: ABAC) ด้วย

ในการประชุมเต็มคณะของการประชุมสุดยอดฯ ผู้นำอาเซียนได้รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยหลายประเทศแสดงความเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีความผันผวนสูง ดังนั้น อาเซียนจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งเพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคมีความเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และยั่งยืน

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน ยังเห็นพ้องว่า อาเซียนควรเร่งรัดการดำเนินการตามแผนแม่บท ว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และช่วยสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนในด้านต่างๆ โดยอาเซียนควรพิจารณาแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในเรื่องนี้

ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของการประชุมสุดยอดฯ ผู้นำอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศ อาทิ ความมั่นคงทางทะเล และการบริหารจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีโลก และการรักษาความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยเฉพาะในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งจะมีสหรัฐฯ และรัสเซีย เข้าร่วมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ได้แสดงความยินดีต่อพัฒนาการด้านประชาธิปไตย และการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของเมียนมาร์ และสนับสนุนให้เมียนมาร์ เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 โดยหวังว่า เมียนมาร์ จะยังคงดำเนินการเพื่อรักษาพัฒนาการเชิงบวกนี้ต่อไป

ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงเสถียรภาพทางการเมืองของไทย ซึ่งทำให้ไทยสามารถกลับมามีบทบาทที่แข็งขันในอาเซียน รวมทั้งได้ให้ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการฟื้นฟูประเทศภายหลังอุทกภัย และย้ำความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนที่อาเซียนจะต้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำ ในการนี้ ที่ประชุมได้รับรอง "แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา การฟื้นฟู และการบูรณะ" ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย และทุกประเทศได้แสดงความชื่นชมต่อความคิดริเริ่มของไทยในเรื่องนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการสนับสนุนให้อาเซียนมีบทบาทที่แข็งขันขึ้นในเวทีโลก เพื่อรับมือผลกระทบต่างๆ จากความท้าทายระดับโลกต่างๆ โดยในเรื่องเศรษฐกิจ อาเซียนควรพึ่งพาการเจริญเติบโตในภูมิภาค ดังนั้นควรส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในอาเซียน และสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศภายนอก อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ขอให้อาเซียนสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของไทย สำหรับวาระปี 2017 - 2018 รวมทั้งได้แสดงการสนับสนุนต่อการเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557


ในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ABAC) ที่ประชุมได้แสดงความสนับสนุน เรื่องการ
เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในการระดมทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้าง
พื้นฐานด้านความเชื่อมโยงต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำบทบาทที่สำคัญของ ABAC ในการร่วมสร้างประชาคม
เศรษฐกิจอาเซียน

นอกจากนี้ ABAC ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง Asean Trade And Investment Center ในสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของ ABAC ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจอาเซียน โดยเฉพาะ SME เพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นต่ออาเซียนของภูมิภาคอื่นๆ และเห็นว่า ABAC ควรมีบทบาทเชิงรุกในการใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งความตกลงเรื่องเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดย นายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูประเทศหลังภัยพิบัติของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจอาเซียนต่อเศรษฐกิจไทย

หลังจากการประชุมข้างต้น นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก รวมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม "ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนสำหรับให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ" และ "ปฏิญญาว่าด้วยเอกภาพของอาเซียนในความหลากหลายทางวัฒนธรรม สู่ความมั่นคงของประชาคมอาเซียน" ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook