ทีดีอาร์ไอ อัดรบ.อ่อนศก.มหาภาพ ชี้อัดฉีดงบกลางปีแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พท.เหน็บตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

ทีดีอาร์ไอ อัดรบ.อ่อนศก.มหาภาพ ชี้อัดฉีดงบกลางปีแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พท.เหน็บตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เพื่อไทย เหน็บหวังเอาใจประชาชนทำให้ลืม แม้ว เตือนเร่งใช้เงินระวังย้อนกลับสู่ยุคไอเอ็มเอฟ ซัดอัดฉีด 1.15 ล้านตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ทีดีอาร์ไอ ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า ยังอ่อนเศรษฐกิจมหภาค

เพื่อไทยเตือนย้อนยุคกู้ไอเอ็มเอฟ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และผู้จัดรายการความจริงวันนี้ กล่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคม ถึงกรณีการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมหาศาลของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์โจมตีนโยบายประชานิยมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าจะนำไปสู่ความเป็นทาส แต่เมื่อมาเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์กลับอยู่ในอาการรุกรี้รุกรน และเร่งอนุมัติเงินงบประมาณกลางปี 1.15 ล้านบาท เพื่อหวังซื้อความรักจากประชาชนและทำให้ประชาชนลืม พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะพรรคประชาธิปัตย์รู้ตัวดีว่าจะบริหารประเทศได้ไม่นาน จึงเป็นห่วงว่าความร้อนรนใช้เงินจำนวนมากนี้จะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต เหมือนกับที่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่สร้างภาระหนี้สินจากการกู้ยืมไอเอ็มเอฟ และความเสียหายจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือปรส. รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท และเป็นภาระให้รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเป็นผู้ใช้หนี้

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า โครงการต่างๆ ของรัฐบาล เป็นโครงการที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คิดไว้ทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อพรรคถูกลอกนโยบายไปจนหมด พรรคเพื่อไทยก็จะปรับนโยบายทั้งหมดภายใน 6 เดือนนี้

ซัดรัฐบาลตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตที่ปรึกษา นพ.สรุพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครรทั้ง 17 โครงการของรัฐบาลนั้นต้องถามว่าใครได้ประโยชน์บ้าง เพราะตามหลักแล้วจะต้องช่วยคนยากจน แต่โครงการช่วยเหลือค่าครองชีพนั้นไม่ได้ช่วยเหลือทุกกลุ่ม โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม รวมไปถึงอาจจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเงินดังกล่าวอาจจะเข้าไปช่วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านด้วย จึงเกรงว่าจะเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ สูญเงินเป็นแสนล้านบาทแต่ไม่ได้อะไรกลับมา นอกจากนี้โครงการต่างๆ เข้าสู่ประชาชนอย่างไม่ทั่วถึง เหมือนฝนตกไม่ทั่วฟ้า

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราพิชาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อสภาวะการจ้างงานในประเทศไทย กรณีรัฐบาลอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 ล้านบาท ว่าเป็นมาตรการที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ กระจัดกระจายเกินไป การให้เงินผู้มีรายได้น้อยคนละ 2,000 บาท เป็นมาตรการที่ไร้ประโยชน์ และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่ออะไร มุ่งเน้นการหาเสียงมากกว่า

มาตรการที่รัฐบาลที่ควรจะทำคือ ใส่เงินเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยตรง ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยทันที ไม่นำไปเก็บออมหรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้รัฐบาลควรจะมีมาตรการชะลอการเลิกจ้าง จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างนายแล กล่าว

ทีดีอาร์ไอชี้แก้ปัญหาไม่ตรงเป้า

นายพิพนธ์ พัสพงศกร ประธานสถานบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เท่าที่พิจารณารายละเอียดเกี่ยกับการจัดสรรงบประมาณกลางปี 2552 พบว่า มีทั้งในส่วนที่คุ้มค่า ได้แก่ การกระตุ้นการลงทุน การสร้างงาน แต่ยังมีส่วนที่ไม่คุ้มค่า เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณมีการลักษณะเน้นการหารเสียงทาการเมืองเกินไป และเป็นลักษณะการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ โดยเฉพาะการแจกค่าครองชีพรายละ 2,000 บาท เนื่องจากบุคคลที่ได้รับจะมีรายได้ไม่เกิน 14,999 บาทต่อดือน ถือเป็นผู้มีรายได้ประจำ และไม่น่าเป็นผู้รับความเดือดร้อนมาก อีกทั้งการให้เงินเพียงครั้งเดียว ในทางปฎิบัติคนกลุ่มนี้คงไม่นำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย ส่วนใหญ่คงเก็บเอาไว้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตจริงๆ คือกลุ่มที่อยู่นอกระบบ หรืออยู่นอกเกณฑ์ดังกล่าว กลับไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนี้

แผนงานที่ออกมา หากมองในรายละเอียดจะพบว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ เพราะกว่าเม็ดจะออกก็จะเป็นในช่วงเดือนเมษายน ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเศรษฐฏิจมากที่สุด กลับยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา ดังนั้นรัฐบาลควรมีการวางแผนใหม่ โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้นายนิพนธ์ กล่าว และว่า มองว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการขณะนี้ยังไม่ตรงเป้า และชี้ให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลมีจุดอ่อนในเรื่องเศรษฐกิจมหภาค เพราะในทางปฎิบัติการกระตุ้นเศรษฐกิจสามารถทำได้มากกว่านี้ เช่น การสร้างตลาดบริโภคภายในประเทศ นอกเหนือจากเพียงแค่นโยบายกระตุ้นหน่วยงานรัฐเร่งจัดสัมมนาภายในประเทศเพียงอย่างเดียว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook