ชี้รัฐบาลต้องเร่งดูแลเสถียรภาพเงินบาทปี 2552

ชี้รัฐบาลต้องเร่งดูแลเสถียรภาพเงินบาทปี 2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงเริ่มต้นของปี 2552 มีความไม่แน่นอน ส่งผลเงินบาทตอบรับภาพที่คลุมเครือของตลาดการเงินดังกล่าว ด้วยการปรับตัวอย่างผันผวนในกรอบที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นปี 2551 โดยแม้จะยังคงมีแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออกในช่วงต้นปี แต่เงินบาทกลับถูกกดดันจากปัจจัยทางเทคนิค และความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขายหุ้นและสกุลเงินในเอเชียเพื่อปรับลดสถานะการลงทุนที่มีความเสี่ยง ขณะที่ ความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อาจยังคงถูกทดสอบด้วยปัจจัยลบที่ต่อเนื่องมาจากปี 2551 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งน่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ท่ามกลางความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจไทย พร้อมๆ กับภัยคุกคามจากภาวะเงินฝืด

ขณะที่ กระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุน และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงเป็นปัจจัยบวกของค่าเงินดอลลาร์ฯ ต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อย่างไรก็ตาม เงินบาทอาจไม่ใช่สกุลเงินเอเชียเพียงสกุลเดียวที่ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันนี้ เนื่องจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงค่าเงินหยวน ต่างก็ต้องเผชิญกับแนวโน้มการส่งออกที่อ่อนแอและภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนวัฏจักรขาลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบระดับ 35.70-36.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552

ในขณะที่ภาพของเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 นั้น มีประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ ความคาดหวังต่อการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดความผันผวนต่อตลาดการเงิน เนื่องจากนักลงทุนสามารถตีความสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าวได้ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ฯ จะกลับไปอ่อนค่าลง (เงินบาทแข็งค่า) ในช่วงปลายปี 2552 หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นกับว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคอื่นๆ (ซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในรอบนี้เช่นกัน) จะมีความแข็งแกร่งเพียงพอและเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนหรือไม่เพียงใด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่อาจส่งผลต่อเงินบาทก็คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อันเป็นผลจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการฟื้นตัวของการส่งออกตามปัจจัยด้านฤดูกาล หลังจากที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับภาวะการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เป็นอย่างน้อย

ภายใต้แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2552 ที่อาจถูกกระทบจากปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลัง โดยเงินบาทที่อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความอ่อนแอของฐานะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ตลอดจนกระแสการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี อาจจะมีแนวโน้มเปลี่ยนทิศทางในช่วงครึ่งปีหลังหากความต้องการเสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลกฟื้นคืนกลับมา

จากความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว คงจะทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในยามที่ต้องประสบกับความยากลำบากจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีหลากหลายปัจจัยลบรออยู่เบื้องหน้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook