จุฬาฯเปิด CU.D.HIP แลกเปลี่ยนความรู้ต่อยอดเชิงการค้า

จุฬาฯเปิด CU.D.HIP แลกเปลี่ยนความรู้ต่อยอดเชิงการค้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดองค์ความรู้ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกับสถาบันการศึกษา/ภาครัฐ ด้านการวิจัยและพัฒนายากับภาคอุตสาหกรรมยา มุ่งส่งเสริม ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพเชิงพาณิชย์ในอนาคต

รศ. ภญ. ดร. พรเพ็ญ เปรมโยธิน คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการศูนย์นวัตกรรมทางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU.D.HIP เปิดเผยถึง ศูนย์ดังกล่าวซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2552 นี้ว่า เนื่องจากเล็งเห็นว่า ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก โดยมูลค่าการนำเข้ายาจากต่างประเทศนั้น มีปริมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการบริโภคยาทั้งหมดของประเทศ

กอปรกับระเบียบกฎเกณฑ์การอนุมัติทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพยังอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับมาตรฐานสากลตามข้อตกลง ASEAN Harmonization อุตสาหกรรมยาจึงต้องการกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความยั่งยืนและแข่งขันในตลาดโลกได้ และในฐานะที่เป็นองค์กรการศึกษาที่มีทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนายาทุกขั้นตอนจึงจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของการวิจัยยา เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ

ศูนย์นี้จะเป็นแหล่งความรู้เชื่อมโยงกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนเพื่อค้นคว้าวิจัยยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมยาทั้งด้านผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิต หัวหน้าโครงการศูนย์ CU.D.HIP กล่าว

ทั้งนี้ ลักษณะของงานและกิจกรรมที่จะดำเนินการประกอบด้วย การศึกษาคุณลักษณะทางเคมีกายภาพของยา ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องยาสมุนไพร การศึกษาและควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต และความคงตัวของผลิตภัณฑ์ การประเมินประสิทธิภาพผลและความปลอดภัยของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในเซลล์เพาะเลี้ยงและสัตว์ทดลอง ตลอดจนศึกษาการใช้ผลิตภัณฑ์ในมนุษย์ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมยา สนับสนุนการฝึกอบรมทางวิชาการแก่ภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ยังสนับสนุนงานวิจัยของคณาจารย์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นที่งานวิจัยด้านสมุนไพรไทย โดยวางแนวทางการใช้ระบบสารสนเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลวิชาการด้านต่างๆของสมุนไพรไทยที่ได้มีการศึกษาจำนวนมากให้สามารถนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ อีกทั้งจะพัฒนาการสกัดสารจากสมุนไพร เพื่อให้สามารถผลิตสารสมุนไพรที่มีมาตรฐานระดับนำร่อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook