''ถอดดีเอ็นเอ ทิปโก้'' สร้างองค์กร เข้มแข็งและยั่งยืน

''ถอดดีเอ็นเอ ทิปโก้'' สร้างองค์กร เข้มแข็งและยั่งยืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก้าวเข้าสู่ปี 2552 ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นปีเก็บกระดูก หลังจากที่เศรษฐกิจเผาจริงไปเมื่อปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้นำองค์กรอีกจำนวนมากกำลังมองหาแนวทางให้รอดพ้นภาวะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น หนึ่งในบทเรียนที่น่าสนใจและขอนำมาสะท้อนถึงความสำเร็จในวันนี้ คือ บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ TIPCO ภายใต้การนำของ วิวัฒน์ ลิ้มศักดากุล แม้สถานการณ์วิกฤติปี 2540 และปัจจุบันจะแตกต่างกัน แต่แนวคิดในการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ในขณะเดียวกันก็วางแผนธุรกิจ และกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรให้พนักงานมองเป็นภาพเดียวกัน เริ่มจากแผน 5 ปีแรกเอาตัวรอดในธุรกิจ ตั้งแต่ล้างขาดทุน ซื้อวัตถุดิบ ทำให้พนักงานมีรายได้ที่ควรจะได้ และลูกค้าต้องพอใจ แผน 5 ปีถัดมาเป็นยุทธศาสตร์การเติบโต(growth strategy) และ 5 ปีถัดจากนั้น (ปี 2551-2555) เป็นแผนขยายกิจการ

(expansion) ปั้นแบรนด์ทิปโก้เป็นบริษัทอาหารชั้นนำ ขยายสู่อาเซียน

วิวัฒน์เข้ามาบริหารทิปโก้ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อ 11 ปีก่อน พร้อมภาระหนี้ 2,500 ล้านบาทจากการลดค่าเงินบาท เขาใช้ความเป็นนักการเงินและนักการตลาด ไม่เพียงปลดหนี้ทิปโก้ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีแต่ยังทำให้ ทิปโก้กลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายติดต่อกัน 27 ไตรมาสไม่เคยขาดทุน และเป็นองค์กรที่แข็งแกร่ง

สิ่งที่วิวัฒน์ให้ความสำคัญและทำมาตลอดช่วง 11 ปีจนฝังอยู่ในดีเอ็นเอคนทิปโก้ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร T.I.P.C.O (ดูตารางประกอบ) บวกกับสไตล์การบริหารที่ยึดทำงานเป็นทีม ให้ทุกคนเข้าใจบทบาท ของตัวเอง ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองขององค์กร วิวัฒน์ยอมรับว่าตรงนี้ทำให้ได้ใจพนักงานมาเยอะ

วิวัฒน์ถือเป็นผู้บริหารที่พัฒนาหลักการSmart Goal มาใช้ในการบริหารทิปโก้ โดยทุกปีพนักงานทุกคนไม่เว้นแม้แต่กรรมการผู้จัดการและซีอีโอต้องกำหนดเป้าหมาย 5 ข้อ ของตัวเอง และมีการประเมินผลทุกปี โดยนำมาใช้บริหารงานร่วมกับหลัก 3 ก คือ ก่อ กัน แก้ ขยายความว่า ก่อ คือ สร้างสิ่งใหม่ กันคือป้องกัน แก้ คือ แก้ไข เป็นหลักการทำงานง่ายๆ แต่มีการประเมินผลตลอดเวลา

อีกสิ่งสำคัญและทำให้วันนี้ทิปโก้แข็งแกร่งกลายเป็นวัคซีนป้องกันภัยที่ดี คือ การบริหารความเสี่ยงธุรกิจซึ่งจะมีการค้นหาความเสี่ยงธุรกิจ หาทางป้องกันแก้ไข และประเมินผลทุกไตรมาส ทำให้มองเห็นปัญหาได้ก่อน ซึ่งถือเป็นแม่แบบให้ทุกคนนำไปปฏิบัติ

นอกจากสร้างระบบแล้วในขณะเดียวกันวิวัฒน์ก็ปลูกนิสัยให้คนทิปโก้ มีบุคลิกชอบ มองหาและคว้าโอกาสเพื่อเติบโตก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับนำคอนเซ็ปต์การบริหาร 6Q ซึ่งประกอบด้วย

IQ: Intelligence Quotient ความฉลาดทางสติปัญญา เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ การใช้เหตุผล EQ : Emotional Quotient ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มองโลกในแง่ดี เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง CQ : Creativity Quotient ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ MQ : Moral Quotient ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม คือมีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม PQ : Play Quotient ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม และ AQ : Adversity Quotient ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหา ไม่ย่อท้อง่ายๆ

วิวัฒน์สรุปว่า ทั้ง 6Q ไม่ใช่แค่การรวมพลังสร้างความเก่งแต่ยังเป็นตั้งศูนย์ให้กับพนักงาน เกิดความสุข ช่วยปลุกประสิทธิภาพในการทำงานให้ได้ประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะปลุกให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และยังช่วยสร้างสมดุลชีวิตได้ดีด้วย เมื่อไหร่คุณยกระดับความคิดความปรารถนาของคุณมากกว่าที่มองตัวเอง และสามารถเผื่อแผ่คนอื่นได้ ก็จะเกิดการแบ่งปันที่ทำให้เกิดความสุข

สิ่งเหล่านี้ ถือเป็นแนวความคิดในการจัดการองค์กร และการสร้างภาวะผู้นำของคน ซึ่งจะเป็นเบ้าหลอมตัวตนของคนในองค์กรที่ไม่ใช่แค่ทำอยู่กับองค์กรนี้แล้วจบ แต่รวมไปถึงแนวคิดและการดำเนินชีวิตที่จะก้าวไปสู่ การเป็นผู้นำมืออาชีพที่แท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook