อย่าปล่อยภาวะวิกฤติให้ผ่านไป (เฉยๆ)!

อย่าปล่อยภาวะวิกฤติให้ผ่านไป (เฉยๆ)!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดังคำกล่าวของ Warren Benis ที่ว่า ''สภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่สรรค์สร้างและกำหนดรูปร่างภูผาฉันใด ปัญหาอันยิ่งใหญ่ย่อมเป็นสิ่งสรรค์สร้างผู้นำที่ยอดเยี่ยมฉันนั้น''

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ท้าทายความสามารถของนักบริหาร นักการตลาดทั้งหลาย ผมขอนำบทความ Never Waste a Crisis! ซึ่งคุณวิวัฒน์ ลิ้มศักดากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทิปโก้ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) หัวข้อ Never Waste a Crisis! ได้ส่งมาให้ทางอี-เมล์ก่อนปีใหม่ไม่กี่วัน เป็นข้อแนะนำของทอม ปีเตอร์ส และ ดร. โจนี ซาจนิโคล มีด้วยกันทั้งหมด 22 ข้อ แต่ขออนุญาตใช้ความเห็นส่วนตัวเลือกข้อเด่นๆ เป็นประโยชน์สูงสุด คงไม่ว่ากันนะครับ

ก่อนอื่น ต้องทำความตกลงร่วมกันก่อนว่า พวกเราทุกคนเป็นคนที่มองโลกในแง่บวก มองเห็นโอกาสในทุกปัญหา ตรงนี้เป็นคุณสมบัติร่วมกันของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ หากเห็นด้วยแล้ว เชิญอ่านคำแนะนำได้เลยครับ!

1. ให้ทำความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ให้รู้ตัวว่า ''ตัวเราเอง ทีมงานและองค์กร'' กำลังทำอะไรอยู่ และกำลังจะทำอะไร การขาดสติ ไม่รู้ตัว อยู่กับ ''ความไม่รู้'' และไม่หมั่นประเมินสถานการณ์ให้ถ่องแท้เที่ยงธรรม น่ากลัวมากๆ ในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้!

2. ประชุมตอนเช้าทุกวัน ตรวจสอบสถานการณ์ความเป็นจริงและข้อสันนิษฐานต่างๆ ที่บ่อยครั้งเป็นการทึกทักไปเองหรือตีความเข้าข้างตนเอง และประชุมอีกครั้งในรอบบ่าย อย่าให้เกินครั้งละ 30 นาที เสียเวลา!

3. ใช้หลัก MBWA (Management by Wandering Around) เดินไปรอบๆ ออฟฟิศ สังเกตความรู้สึกและทัศนคติของทีมงาน และที่สำคัญ ให้ Over Communicate คือสื่อสารให้มากกับพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสีย โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่สร้างภาพมายา เพราะจะทลายลงมาได้อย่างรวดเร็ว

4. กระตุ้นทีมงานทุกส่วน โดยเฉพาะระดับบริหารให้ทำงานด้วยความมุ่งมั่นเพิ่มเป็นสองเท่า และอาจพิจารณาตัดรายได้และสวัสดิการต่างๆ ของระดับบริหารก่อน เพื่อรักษาฐานกำลังทั้งหมดขององค์กรไว้ให้ได้ ในประเด็นนี้มีคำว่า ISR หรือ Individual Social Responsibility ถึงเวลาที่ทุกคนในองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างสูงสุด ทั้งในแง่การทุ่มเทในการทำงาน การดูแลรักษาทรัพยากรและค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองต่างๆ ให้ลงลึกถึงในระดับดีเอ็นเอของแต่ละคน เพื่อให้เกิดผลยั่งยืน และเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรและชุมชน

5. ขีดเส้นใต้คำว่า ''Excellence'' หรือความเป็นเลิศในทุกกระบวนการทำงาน ภาวะวิกฤตินี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะเร่งสร้างความจงรักภักดี (Brand Loyalty) กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการ switching ย้ายแบรนด์หนีไปคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า ดีกว่า หากองค์กรมีปรัชญาในการสร้างความเป็นเลิศในการทำงานทุกจุดสัมผัส ย่อมรักษาฐานลูกค้าในยามข้าวยากหมากแพงไว้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ อย่าหั่นงบการสื่อสารออกไปจนไม่เหลือจะกลายเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง!

6. Great execution beats great strategy! การปฏิบัติงานที่ยอดเยี่ยมย่อมมีชัยเหนือกลยุทธ์ที่เยี่ยมยอด เพราะหากมีแต่นักกลยุทธ์ นักวางแผน นักสั่งงาน แต่ขาดผู้ปฏิบัติที่มีฝีมือและมุ่งมั่น ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ

7. Train Train Train! อบรม อบรม อบรม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทุกองค์กรควรหันมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าสูงสุด โดยเน้นในเรื่องของการสร้างทัศนคติที่ดีและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

8. สำคัญสุดที่จะฝากไว้ คือ Walk The Talk! อยากให้โลกนี้ ประเทศนี้ องค์กรนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ต้องเริ่มต้นเปลี่ยนจากตัวเราเอง อย่าไปโทษผู้อื่น เพ่งเล็งผู้อื่น แต่ไม่เคยหันมามองตัวเองเลย ลงมือปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ ยังไม่สายครับ!

อย่าปล่อยให้วิกฤติผ่านไป และขอให้ทุกท่านโชคดีตลอดไปครับ!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook