ดอยช์แบงก์มองบวกจีดีพีไทยโต1.5% เชื่อรัฐบาลใหม่เร่งมาตรการช่วยกระตุ้นศก./บริโภคกระเตื้อง ฟื้นจีดีพีป

ดอยช์แบงก์มองบวกจีดีพีไทยโต1.5% เชื่อรัฐบาลใหม่เร่งมาตรการช่วยกระตุ้นศก./บริโภคกระเตื้อง ฟื้นจีดีพีป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดอยช์แบงก์ชี้จีดีพีไทยปีนี้เติบโตที่ 1.5% มองบวกรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยการบริโภคภาคเอกชนโต 2.9% แต่ภาคส่งออกปีนี้โตติดลบ 1% คาดการณ์ก่อนกลางปี 2552 ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.75% เหลือ 1.25% ขณะที่ค่าเงินบาทไตรมาสที่ 1 และ 2 อ่อนค่าอยู่ที่ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะกลับแข็งค่าขึ้นในครึ่งปีหลัง 5-7%

นายไมเคิล สเปนเซอร์ หัวหน้าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ประจำภาคพื้นเอเชีย ธนาคารดอยช์แบงก์ ให้ความเห็นถึง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2552 ว่า บนประมาณการกรณีพื้นฐาน (Base Case) จีดีพีปี 2552 จะขยายตัวได้ที่ 1.5% และในปี 2553 จะขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งเป็นการรวมผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว ส่วนจีดีพีปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.5%

ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของจีดีพีมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัว 2.9% รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัว 2.4% ขณะที่การลงทุนรวมขยายตัว 1.8% อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกจะโตติดลบที่ 1% และการนำเข้าขยายตัว 0.8% แต่หากรัฐบาลใหม่เข้ามามีเสถียรภาพและเดินหน้าทำงานจริงจังรวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งการใช้จ่ายงบประมาณก็จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปี 2553 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ จะอยู่ที่ 0.7% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8% เป็นผลจากการลดลงอย่างรวดเร็วของสินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกในปีหน้าจะโตติดลบ 1.0%

วิกฤติการเงินครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป แต่ไม่ได้แย่เท่ากับปี 2540 เนื่องจากภาคการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น นายสเปนเซอร์กล่าวให้ความเห็น

หัวหน้าสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ สายงานบริหารการเงินและอนุพันธ์ทางการเงิน ยังได้แสดงความเห็นต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนว่า ภายในกลางปี 2552 นี้ เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1.50% จากปัจจุบันซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.75% โดยที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่จะถึง14 มกราคม 2552 นี้ เชื่อว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ขณะที่แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนใน 2 ไตรมาสแรกมีแนวโน้มอ่อนตัวอยู่ที่ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง หลังจากนั้นอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น 5-7% (ประมาณ 33.50-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)

นายสเปนเซอร์ กล่าวถึง แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะเติบโตช้าลง และกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 2553 ( ปี 2010) โดยคาดว่าผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จะเกิดระยะยาว 1-2 ปี ในส่วนของวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะจบภายในกลางปี 2552 (ปี 2009) แต่ญี่ปุ่นจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปี และในยูโรจะจบภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ทั้งนี้ในปี 2552 ดอยช์แบงก์ประมาณการจีดีพีโลก ไว้ที่ 0.2% และปี 2553 อยู่ที่ 2.6% ส่วนจีดีพีสหรัฐฯ อยู่ที่ -2.0% ปีหน้า 1.6% ญี่ปุ่น -3.0% และปีหน้า 0.4% ยูโร ปีนี้จีดีพีอยู่ที่ -2.5% ปีหน้า 1.0% ประเทศในกลุ่มจี 7 จีดีพีปีนี้อยู่ที่ -2.2% และปี 2553 อยู่ที่ 1.3% สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีนและอินเดียนั้น เศรษฐกิจถดถอยจะจบปี 2553 (ปี 2010)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook