ถกครม.ศก.นัดแรก อภิสิทธิ์ คุ้ยเงิน 3 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ปี ฒ52 เน้นกำลังซื้อในปท.

ถกครม.ศก.นัดแรก อภิสิทธิ์ คุ้ยเงิน 3 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ ปี ฒ52 เน้นกำลังซื้อในปท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
... แนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป้าหมายแรกและสำคัญที่สุด คือการรักษากำลังซื้อภายในประเทศของคนทุกกลุ่ม สิ่งที่จะทำคือแยกกลุ่มเป้าหมายออกมา เช่นเรื่องรายได้ จะเริ่มตั้งแต่เกษตรและชนบท จะมี 2 มาตรการหลัก คือ เสริมโครงการดูแลราคาพืชผลโดยจะทำผ่าน ธ.ก.ส.เป็นหลัก และกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ... หมายเหตุ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจนัดแรก เมื่อวันที่ 7 มกราคม เกี่ยวกับมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ

-----------------

แนวทางการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป้าหมายแรกและสำคัญที่สุด คือการรักษากำลังซื้อภายในประเทศของคนทุกกลุ่ม สิ่งที่จะทำคือแยกกลุ่มเป้าหมายออกมา เช่นเรื่องรายได้ จะเริ่มตั้งแต่เกษตรและชนบท จะมี 2 มาตรการหลัก คือ เสริมโครงการดูแลราคาพืชผลโดยจะทำผ่าน ธ.ก.ส.เป็นหลัก และกองทุนเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะมีการจัดงบประมาณไว้ในงบประมาณกลางปี เพื่อเป็นเงินเข้าสู่หมู่บ้าน เพื่อทำโครงการขนาดเล็กที่สอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถเบิกจ่ายได้ค่อนข้างเร็ว

ส่วนของภาคแรงงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือโครงการเรื่องการดูแลผู้มีความเสี่ยงต่อการว่างงานและผู้ว่างงาน 5 แสนคน จะใช้งบประมาณกลางปี แต่จะมีความหลากหลายของโครงการค่อนข้างมาก มีตั้งแต่การเข้าไปช่วยฝึกอบรมกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงเลิกจ้าง เพื่อเป็นมาตรการจูงใจลดการเลิกจ้างและมีการปรับทักษะแรงงานไปในตัว ส่วนกรณีผู้ถูกเลิกจ้างแล้วจะฝึกอมรมอาชีพที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสำคัญให้คนเหล่านี้กลับถิ่นเดิมเพื่อเริ่มวิสาหกิจในชุมชน ทำอาชีพอิสระ ฝึกอาชีพให้คนอื่น จะเป็นการแก้ทั้งการว่างงานและการกระจายธุรกิจต่างๆ ไปสู่ภูมิภาค ส่วนเด็กจบการศึกษาใหม่แล้วหางานทำไม่ได้ จะมาฝึกอบรมอีกแบบ โดยมีเป้าหมายอาจให้ไปช่วยทำงานธุรการในโรงเรียน เพื่อแบ่งเบาภาระครู ให้ครูสามารถอยู่กับนักเรียนได้มากขึ้น นอกจากนี้อาจมีโครงการให้มาช่วยดูแลเรื่องเว็บไซต์ สำหรับด้านนอกงบประมาณ จะเป็นเรื่องของ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์) ที่จะดำเนินการเรื่องสินเชื่อสำหรับลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ประสบปัญหาว่างงาน นอกจากนี้ ผู้มีรายได้ประจำทั้งในภาครัฐและเอกชน นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไปดูรูปแบบช่วยเพิ่มและรักษารายได้ที่ดีที่สุด ส่วนจะเป็นมาตรการด้านภาษีหรืองบประมาณจะดูอีกครั้ง นอกจากนี้จะเดินหน้าเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยเพื่อเพิ่มรายได้

ส่วนการลดภาระค่าใช้จ่ายจะมีเรื่องเรียนฟรี 15 ปี และต่อมาตรการลดภาระค่าครองชีพที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลที่ผ่านมา ยกเว้นกรณีการยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จะไม่เดินต่อ แต่จะเดินต่อในมาตรการเกี่ยวกับก๊าชหุงต้ม ค่าน้ำ ค่าไฟ รถเมล์ รถไฟ ส่วนรายละเอียดจะมีการปรับเปลี่ยนบ้างหรือไม่ กำลังไปดูตัวเลขกันอยู่

นอกจากนี้ จะต้องมีการดูแลธุรกิจของเอกชนในแต่ละภาค หัวใจสำคัญที่สุด คือ จะมีการดูแลว่าสินเชื่อมีเพียงพอในการหล่อเลี้ยงธุรกิจที่ดีหรือไม่ มาตรการจะมุ่งเดินผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงกลไกที่จะมาช่วยในการค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อการส่งออกและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนี้จะเสริมด้วยมาตรการเฉพาะด้าน เช่นมาตรการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนายกอร์ปศักดิ์และนายกรณ์กำลังไปดูรายละเอียดว่าจะใช้มาตรการจูงใจอย่างไร สำหรับภาคท่องเที่ยวจะมีการอำนวยความสะดวก สินเชื่อ การลดต้นทุน การกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศ โดยเฉพาะการจัดอบรมสัมมนาของหน่วยราชการต่างๆ ที่จะเร่งปฏิบัติให้เร็วขึ้น

ส่วนการส่งเสริมการลงทุน ได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปดูว่าบรรดาผู้ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการลงทุนจริง ติดขัดปัญหาอุปสรรคอะไร ให้ประมวลมา เพื่อจะได้แก้ไขต่อไป ส่วนการลงทุนภาครัฐ สิ่งแรกคือสัปดาห์หน้าจะประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เพื่อจะทำให้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนทั่วไปสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ค้างอยู่จำนวน 104,000 ล้านบาท บวกกับการดูความเป็นไปได้ในการนำเงินส่วนอื่นมาสมทบอีกหลายหมื่นล้านบาทที่จะมาทำบางโครงการร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายลงไปในระดับชุมชน ในโครงการที่มีความรวดเร็วและเป็นโครงการขนาดเล็ก นอกจากนี้จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ขณะนี้ตัวเลขการเบิกจ่ายค่อนข้างช้าอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการรอการจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน และจะเร่งรัดการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานจะมียอดการลงทุนที่เตรียมไว้สูงมาก

ถ้าดูภาพรวมทั้งหมด จะเห็นภาพว่าเรากำลังเพิ่มกำลังซื้อ ลดภาระของประชาชน และจะมีมาตรการรองรับกับภาคธุรกิจเอกชน และเร่งรัดบทบาทภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนแง่การเสริมสร้างความเชื่อมั่น การประชาสัมพันธ์ จะมีการขอให้หน่วยงานสำคัญๆ เช่น กระทรวงท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวฯ บีโอไอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการส่งออก และกระทรวงการต่างประเทศ เอางบฯที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ทั้งหมดมาบูรณาการกัน เปลี่ยนเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศและเศรษฐกิจไทยโดยรวม เชื่อว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่า และถ้ามีความจำเป็นจะมีการจัดงบประมาณเพิ่มเติม

ส่วนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ก็เดินหน้าตามกำหนดการที่ทำไว้ ส่วนโครงการการลงทุนอื่นๆ เช่น โครงการถนนไร้ฝุ่น โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ถ้าสามารถเสนอโครงการที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้เงินไปถึงประชาชนได้เร็ว ก็จะมีอยู่ในงบประมาณกลางปี แต่ถ้าทำไม่ได้จะไปอยู่ในงบประมาณปกติ สำหรับโครงการถนนไร้ฝุ่น ได้ปรึกษากันชัดเจนว่า เนื่องจากเราต้องการโครงการที่เงินไปถึงประชาชนโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษากำลังซื้อ ยอดเงินงบประมาณกลางปี ตัวเลขกลมๆ อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท คงขยับเพิ่มหรือลดไปกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งมีโครงการที่คำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายชัดเจน คือ โครงการเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น ฉะนั้น วงเงินที่จะไปทำโครงการถนนไร้ฝุ่นที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะดูใน 3 ส่วน คือ ถ้ากระทรวงคมนาคมเสนอแผนชัดเจนว่ายังสอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะบรรจุบางส่วนไว้ หรือไปรองบประมาณปกติหรือแหล่งเงินทุนอื่น หรือพิจารณาทำโครงการร่วมกับ อปท. ซึ่งต้องรอการประชุมของคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เพราะจะเป็นเรื่องการสมทบเงินกัน

สำหรับงบประมาณในการกระตุ้นทั้งหมด ยังอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากงบประมาณกลางปี สำหรับในส่วนที่มากกว่า 1 แสนล้านบาท จะเป็นเรื่องการเอาเงินที่ค้างอยู่ในส่วนของ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) รัฐวิสาหกิจออกมาให้เร็วขึ้น ในส่วนของอีกเกือบแสนล้านบาท จะเป็นการใช้กลไกผ่านธนาคารเฉพาะด้านของรัฐ เป็นเงินนอกงบประมาณ ในส่วนของงบประมาณ อปท. มั่นใจว่าจะเร่งรัดได้ทันที เพราะมีหลายรายการที่จะใช้จ่ายทันทีแต่ติดขัดอยู่ เช่น เรื่องเบี้ยยังชีพ เงินเดือนบุคลากรด้านการศึกษา ยอดแบบนี้ไปได้ทันที ส่วนการเร่งรัดงบประมาณ จะมีระบบการติดตาม ซึ่งสำนักงบประมาณรายงานว่าที่ช้าอยู่เพราะรอแผนบริหารราชการแผ่นดิน ที่จะผ่าน ครม.ในวันที่ 13 มกราคมนี้ หลังจากนั้นจะสามารถเร่งรัดได้ ส่วนการลงทุนในรัฐวิสาหกิจจะเร่งรัด เช่น โรงแยกก๊าชจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะมาแก้ปัญหาแอลพีจีที่เกิดขึ้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้คุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว รวมแล้วประมาณ 3 แสนล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook