นายกฯตีกลับงบฯ คมนาคม เบรก ถนนไร้ฝุ่น-รื้อเช่ารถเมล์ ดันแสนล.อัดฉีด9กลุ่ม ต่ออายุ6มาตรการน้ำ-ไฟฟรี

นายกฯตีกลับงบฯ คมนาคม เบรก ถนนไร้ฝุ่น-รื้อเช่ารถเมล์ ดันแสนล.อัดฉีด9กลุ่ม ต่ออายุ6มาตรการน้ำ-ไฟฟรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประชุมครม.เศรษฐกิจนัดแรก นายกฯตีกลับคมนาคม ของบฯ 3.5 หมื่นล้าน สร้างถนนไร้ฝุ่น ลงจี้เองงบฯค้างท่ออปท.อีก 1 แสนล้าน ดันงบฯกลางปี แสนล้าน อัดฉีด 9 กลุ่มเป้าหมาย ให้เริ่มเรียนฟรี อนุบาล-ม.6-ปวช. ตั้งแต่เทอมแรกปีนี้ ต่ออายุ 6 มาตรการไฟ-น้ำ-รถไฟ ฟรีอีก 6 เดือน ชุมพลหวั่น ก.ท่องเที่ยวฯแห้วงบฯ 6 พันล้าน

กรอบงบฯแสนล.อัดฉีด9กลุ่ม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจนัดแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการใช้จ่ายเงินงบประมาณกลางปี 2552 ที่จะขอเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท โดยเบื้องต้นแบ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์จากงบฯส่วนนี้ไว้ 9 กลุ่ม

โดยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า กลุ่มเป้าหมาย 9 กลุ่ม แยกเป็น 7 กลุ่มเดิม คือ 1.เกษตรกร 2.แรงงานนอกภาคการเกษตร 3.ผู้ปกครอง 4.ผู้มีรายได้น้อย 5.ผู้สูงอายุ 6.เอกชน 7.ภาครัฐ และ 2 กลุ่มใหม่ตามข้อเสนอของนายกฯ คือ 1.ท่องเที่ยว และ 2.ผู้มีรายได้ประจำ โดยจะใช้เวลา 1-2 วันในการจัดทำรายละเอียดแผนดำเนินงานแต่ละกลุ่ม และเม็ดเงินที่จะได้รับ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาวันที่ 13 มกราคม

อย่างไรก็ตาม นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า กลุ่มที่มีการหารือเบื้องต้น ได้แก่ เกษตรกร จะเน้นการแทรกแซงราคาผลผลิตการเกษตร โดยรัฐบาลชุดก่อนได้ขออนุมัติงบฯแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร 1.1 แสนล้านบาท ยังมีเหลืออยู่อีก 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอในการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในปีนี้เพิ่มเติม อาทิ ผลไม้บางชนิด ปาล์ม และยาง เป็นต้น ส่วนแรงงานนอกภาคการเกษตร ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมแรงงานที่ว่างงาน 5 แสนคน ก่อนส่งกลับภูมิลำเนาที่จะมีงานจากกระบวนการกองทุนเศรษฐกิจพอเพียงรองรับอยู่

ยืด6มาตรการอีก6ด.-เริ่มเรียนฟรี

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ปกครองจะเน้นแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คาดว่าจะใช้งบฯ 3 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ปกครอง 12 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะเริ่มต้นให้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ส่วนผู้มีรายได้น้อย จะมีการต่ออายุ 6 มาตรการ 6 เดือน ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ โดยจะมีปรับเปลี่ยนรายละเอียดของมาตรการ เช่น การใช้ไฟฟรี จะให้สำหรับผู้ใช้ไม่เกิน 80 หรือ 100 ยูนิต แต่ถ้าบ้านติดแอร์อาจไม่ได้รับสิทธิ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวถึงกลุ่มเอกชนว่า จะเน้นการหาแนวทางช่วยเหลือธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาโดยการลดต้นทุน แต่จะไม่ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แว็ต) แน่นอน ส่วนการท่องเที่ยวได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบประสานหน่วยงานราชการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ คลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยครั้งใหญ่แบบบูรณาการร่วมกัน

นายกฯจี้เองงบฯค้างท่ออปท.

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 มกราคม นายกฯจะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.) เพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายเงินที่ค้างอยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนแสนล้านบาท นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เรียกว่าเป็นการผลาญงบประมาณ นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า จะไม่มีการผลาญงบฯแน่นอน เพราะการใช้จ่ายเงินจะต้องดูความเหมาะสม และในตำราเศรษฐกิจทุกเล่มก็เขียนเหมือนกันว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนี้ ต้องเอาเงินไปใส่มือประชาชนให้เร็วและตกหล่นน้อยที่สุด โดยงบฯ 1 แสนล้านบาท คาดว่า 60% จะเป็นการอัดฉีดโดยตรง ส่วนที่เหลือจะดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ ของรัฐ เช่น ถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น

มาร์ค คุ้ย3แสนล.กระตุ้นศก.

จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจว่า เป็นการกำหนดกรอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งหมด จากกรอบจะนำไปสู่รายละเอียดของแต่ละมาตรการ ทั้งเรื่องงบประมาณกลางปี ซึ่งจะสามารถเสนอต่อที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้ในสัปดาห์หน้า และจะผ่านความเห็นชอบของ ครม.ภายในวันที่ 20 มกราคม การลงทุนภาครัฐ โดยเร่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้จ่ายงบฯ 104,000 ล้านบาท และดูความเป็นไปได้ที่นำเงินส่วนอื่นมาสมทบอีกหลายหมื่นล้านบาทมาทำโครงการร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในระดับชุมชน และในส่วนของอีกเกือบแสนบ้านบาท จะเป็นการใช้กลไกผ่านธนาคารเฉพาะด้านของรัฐ รวมแล้ว 3 แสนล้านบาท

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับการลงทุนเอกชนนั้นจะดูแลให้มีสินเชื่อเพียงพอในการหล่อเลี้ยงธุรกิจ และได้มอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอไปดูว่า ผู้ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการลงทุนจริง ติดขัดปัญหาอุปสรรคอะไร ให้ประมวลมา เพื่อจะได้แก้ไขต่อไป

ตีกลับคมนาคมลดงบฯถนนไร้ฝุ่น

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับโครงการถนนไร้ฝุ่น ได้ปรึกษากันชัดเจนว่า เนื่องจากต้องการโครงการที่เงินไปถึงประชาชนโดยเร็วที่สุดเพื่อรักษากำลังซื้อ ยอดเงินงบฯกลางปี ตัวเลขกลมๆ อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท คงขยับเพิ่มหรือลดไปกว่านี้ไม่ได้ ซึ่งในตัวเลขดังกล่าว โครงการที่จะมีการคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายชัดเจน คือ โครงการเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น ฉะนั้น วงเงินที่จะไปทำโครงการถนนไร้ฝุ่นที่สูงถึง 3-4 หมื่นล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะดูใน 3 ส่วน คือ ถ้ากระทรวงคมนาคมเสนอแผนชัดเจนว่ายังสอดคล้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็อาจจะบรรจุบางส่วนไว้ หรือไปรองบฯปกติหรือแหล่งเงินทุนอื่น หรือพิจารณาทำโครงการร่วมกับ อปท. ซึ่งต้องรอการประชุมของคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เพราะจะเป็นเรื่องการสมทบเงินกัน

ยันไม่ได้ผลาญเงิน-ไม่รั่วไหล

เมื่อถามว่า มีมาตรการดูแลอย่างไร ไม่ให้มีการผลาญเงินเหมือนโครงการมิยาซาวาในอดีต นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่จริงแล้วโครงการมิยาซาวามีส่วนสำคัญในการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และในโครงการงบประมาณหลักเราได้ดูแล้วว่าเป็นเงินที่เข้าไปชัดเจนตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ตนถือว่าเรื่องการเริ่มต้นเรียนฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ เมื่อเป็นเป้าหมายของทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว ก็ทำให้เป็นรูปธรรม เป็นความจริง ยืนยันว่าเงินไม่มีทางรั่วไหลในกรณีดังกล่าว

เล็งไม่เช่ารถเมล์4พันคัน

นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณีนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศเดินหน้าโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยคัดค้านมาก่อนว่า เรื่องนี้มีหลักการที่เราไม่มีปัญหาด้วย คือ แผนในการฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร ที่จะช่วยลดภาระประชาชน การนำเทคโนโลยีกับพลังงานทดแทนมาใช้ แต่การจัดหารถ เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง ว่าจะจัดหารถมาอย่างไร ซึ่งจะต้องมาคุยกันว่า ข้อดีข้อเสียของแต่ละแนวทางเป็นอย่างไร และข้อเสนอเรื่องการประกอบในประเทศ ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย ทั้งนี้แม้สังคมจะตั้งข้อสงสัย ก็ต้องตอบกันต่อไป และถ้ามีความเหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยน ก็จะปรับเปลี่ยน ตนจะให้เสนอมาหลายรูปแบบเพื่อตัดสินใจ

มาร์ค ติงคมนาคมของบฯมาก

รายงานข่าวจากที่ประชุมเปิดเผยว่า ระหว่างการหารือกรอบการใช้จ่ายงบฯ 1 แสนล้านบาท ได้มีรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนเสนอว่า ควรเปิดให้กระทรวงต่างๆ เสนองบฯเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 9 กลุ่มดังกล่าว โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า โครงการถนนปลอดฝุ่นได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งนายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี แต่งบฯ 1 แสนล้านบาทมีเป้าหมายสำคัญในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงสั้นในระยะ 6 เดือน หากกระทรวงคมนาคมต้องการดำเนินโครงการก็ควรปรับงบฯลงทุน เพราะที่ตั้งไว้ 3.1 หมื่นล้านบาทสูงเกินไป

โสภณ ลดเหลือ1.5หมื่นล.ทำถนน

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ล่าสุดกระทรวงได้หารือว่าจะปรับลดโครงการที่จะใช้งบฯ 1 แสนล้านบาท เหลือเฉพาะโครงการที่เร่งด่วนเท่านั้น คือ โครงการถนนปลอดฝุ่นที่มีการออกแบบและเตรียมแผนงานไว้แล้ว โดยจะขอใช้เพียง 15,000 ล้านบาท จากที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีคมนาคมในรัฐบาลก่อนหน้าเคยขอ 52,000 ล้านบาท โดยจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

ท่องเที่ยวหวั่นไม่ได้งบฯ6.8พันล.

นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เตรียมเสนอของบฯใน 1 แสนล้านบาท มาแก้ปัญหาวิกฤตการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ การกระตุ้นให้เกิดการจัดอีเวนท์ (กิจกรรมพิเศษในประเทศและโรดโชว์ในต่างประเทศ โดยเป็นแผน 4 ปี ใช้งบฯปีแรก 6.8 พันล้านบาท แต่ขึ้นกับการพิจารณาของ ครม. เนื่องจากที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้ มีโครงการจำนวนมากที่เสนอของบกลาง และไม่แน่ใจว่าจะเหลือพอสำหรับการท่องเที่ยวหรือไม่

ศธ.ให้เรียนฟรีอนุบาล-ปวช.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เมื่อเร็วๆ ได้หารือการดำเนินงานนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โดยเห็นชอบให้เรียนฟรีสำหรับเด็กทุกคนที่เรียนอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ใน 5 รายการ คือ 1.ค่าเล่าเรียน 2.ตำราเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 3.อุปกรณ์การเรียน 4.เครื่องแบบนักเรียน โดยให้ฟรี 2 ชุดต่อคนต่อปี และ 5.กิจกรรมพิเศษ โดยมอบหมายให้แต่ละองค์กรบริหารหลักที่มีสถานศึกษาในสังกัดไปจัดทำรายละเอียด รวมทั้งงบประมาณเพื่อมาพิจารณาร่วมกันในวันที่ 12 มกราคมนี้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โดยเบื้องต้นจะเกลี่ยจากงบฯปี 2552 และบางส่วนมาจากงบกลาง

ก.แรงงาน-พม.รุมของบฯตกงาน

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบตามที่กระทรวงเสนอของบฯ 5,200 ล้านบาท และจะเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า โดยตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ว่างงาน 500,000 คน ใน 3 กลุ่ม คือ ภาคแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งมีประมาณ 8-9 แสนคน และแรงงานภาคการเกษตร โดยจะนำมาพัฒนาฝีมือเพื่อฝึกอาชีพใหม่ รวมทั้งนักศึกษาที่กำลังจบการศึกษาอีกกว่า 6-7 แสนคน

นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลงการประชุมผู้บริหาร พม.ว่า เพื่อแก้ปัญหาคนตกงานถูกเลิกจ้าง ได้เตรียมของบฯกว่า 2,000 ล้านบาท ใช้ฝึกอาชีพคนตกงานกว่า 6,000 รุ่น รุ่นละ 30 คน พร้อมจ่ายเบี้ยเลี้ยงวันละ 90 บาท คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาได้ 2 แสนคน

เอกชนเตือนรัฐร่วมกันแก้ส่งออก

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภายหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำมาตรการเร่งด่วนกระตุ้นการส่งออกปี 2552 ซึ่งมีภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 200 ราย ว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 20 มกราคมนี้ กระทรวงจะของบฯ 12,000 ล้านบาท เพื่อทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก โดยเป็นแผนกระตุ้นส่งออก 8 โครงการ มูลค่า 3 พันล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ 12 โครงการ มูลค่า 9,200 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มรายได้จากการส่งออก 3% หรือ 6-8 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะติดลบ 3% ทำให้ปีนี้มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มจาก 6 ล้านล้านบาท เป็น 6.8 ล้านล้านบาท หรือ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้เสนอว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในประเทศและส่งออกต้องบูรณาการร่วมกันในทุกกระทรวงเศรษฐกิจ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นศูนย์ประสานและรวบรวมปัญหา และต้องคิดนอกกรอบและแตกต่างจากเดิม เพราะวิกฤตในปี 2552 แตกต่างจากปี 2551 จะใช้มาตรการเดิมๆ ไม่เพียงพอ ที่สำคัญรัฐต้องแก้ปัญหาในเรื่องอุปสรรคและการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ และผลักดันการเพิ่มมูลค่ารายได้จากธุรกิจและบริการที่มีโอกาส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้ส่งออก ส่วนใหญ่ยังไม่ขอออกความเห็นว่ามาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมไว้รวมถึงการใช้งบฯ 12,200 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มการส่งออกได้มากขึ้นหรือไม่ เพราะกำลังวิตกถึงราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และการแก้วิกฤตเศรษฐกิจในตลา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook