รับมือเศรษฐกิจปี 52 ทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด?!?

รับมือเศรษฐกิจปี 52 ทำธุรกิจอย่างไรให้อยู่รอด?!?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดศักราชปีฉลูธุรกิจแอกทีฟรับเศรษฐกิจฝืด สินค้าอุปโภค-บริโภคหันแข่งเรื่องของนวัตกรรม ขณะที่วงการค้าปลีกโฟกัสที่ความคุ้มค่าเป็นหลักยืนยันไม่เขียมงบ ด้านธุรกิจอาหารชูความแปลกใหม่แต่ราคาเหมาะสม ส่วนสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทยเร่งแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เครื่องใช้ไฟฟ้ามุ่งหาตลาดใหม่และออกสินค้านวัตกรรมมากขึ้น

เป็นโจทย์หินอีกปีสำหรับผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจการตลาด ในการทำธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ การเมืองที่ไม่นิ่ง และกำลังซื้อที่ถดถอยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นในปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบในการทำธุรกิจทั้งสิ้น จากปัจจัยลบมากนี้ส่งผลให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวและรับมือในการทำธุรกิจ ด้วยการวางยุทธศาสตร์สร้างความอยู่รอดตลอดปี 2552 นี้ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เป้ารายได้ที่ต้องเข้าเป้า

++คอนซูเมอร์แข่งนวัตกรรม

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อปี 2552 จะลดลงกว่าปี 2551 แต่สินค้าที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยมาก คงหนีไม่พ้นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือคอนซูเมอร์โปรดักต์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่คนยังต้องซื้อกินซื้อใช้

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2552 นั้น ตลาดคอนซูเมอร์ โปรดักต์ ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในปี 2552 จะเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงบรรยากาศการซื้อที่ผู้คนจะระมัดระวังการซื้อสินค้ามากขึ้น โดยจะมีความถี่ในการซื้อสินค้าน้อยลง และผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูก

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจนี้ แม้กำลังซื้อของผู้บริโภคจะไม่ดี แต่ก็ยังคงมีความรุนแรง ไม่ได้น้อยลง ซึ่งไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ตลาดสินค้าอุปโภคมีการแข่งขันที่รุนแรง แต่ทุกประเทศทั่วโลกก็อยู่ในภาวะเดียวกัน เนื่องจากแต่ละค่ายต้องการที่ช่วงชิงหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่ ซึ่งการใช้งบประมาณหรือการลงทุนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดนั้น ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่รูปแบบจะแตกต่างไป ดังนั้นการตั้งรับในปี 2552 การรุกตลาดจะต้องใช้ความพอดีในทุกด้าน

โดยการตั้งรับของตลาดนี้ นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลอ้อน(ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ผงซักฟอกเปา ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากซิสเท็มม่า แป้งเด็กโคโดโมะกล่าวว่า ในส่วนของไลอ้อน แผนการรุกตลาดยังคงมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและการออกสินค้าเพื่อสุขภาพ โดยจะมีการออกสินค้าใหม่สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพมากขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่งบการตลาดจะไม่มีการปรับลด ยังใช้ตามปกติเหมือนเช่นปี 2551 ที่ผ่านมา แต่จะเน้นความคุ้มค่าของการใช้เม็ดเงินมากขึ้น เนื่องจากตลาดนี้มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยการแข่งขันนี้ไม่ได้รุนแรงในช่วงปี 2552 แต่เป็นการแข่งขันที่รุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง

++ค้าปลีกไม่เขียมงบ แต่ต้องคุ้ม

นายชำนาญ เมธปรีชากุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเดอะ มอลล์ ,ดิ เอ็มโพเรียม และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ กล่าวว่า กลุ่มเดอะมอลล์ ไม่มีนโยบายที่จะลดงบด้านการตลาด ดังนั้นในปีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การจัดกิจกรรมด้านการตลาดอย่างครบถ้วน โดยกลยุทธ์ที่ใช้จะเน้นหนักไปที่ ฟิวชั่น มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นการตลาดที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตร คู่ค้าหรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน การจัดกิจกรรมจึงเป็นการนำจุดดี จุดแข็งของแต่ละธุรกิจมาผนึกรวม ทำให้กิจกรรมนั้นดี เด่น และดัง กระชากให้ลูกค้าสนใจและเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการ

ส่วนกลยุทธ์อื่นๆ ได้แก่ ซีซันนัล มาร์เก็ตติ้ง ,โปรโมชัน มาร์เก็ตติ้ง , อีเวนต์ มาร์เก็ตติ้ง ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะมาช่วยสร้างบรรยากาศและอารมณ์ ทำให้ผู้บริโภคอยากที่จะใช้จ่ายเงินซื้อสินค้า แม้พฤติกรรมลูกค้าจะเลือกซื้อสินค้าที่คิดแล้ว คิดอีกว่ามีความคุ้มค่าจริงๆ ดังนั้นการนำกลยุทธ์มาใช้ก็ต้องคำนึงถึงผลตอบรับจากลูกค้าว่าต้องคุ้มค่าด้วยเช่นกัน

++ธุรกิจอาหารโฟกัสที่ความคุ้มค่า

ภาพรวมธุรกิจอาหารในปี 2552 มีการคาดการณ์กันว่า ตลาดรวมทั้งระบบจะมีการเติบโตเฉลี่ย 15-20% จากมูลค่าตลาดรวมปีที่ผ่านมาประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดไก่ทอด 80% และเบอร์เกอร์ 20% ซึ่งในส่วนของตลาดไก่ทอดปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 16-17% มีเคเอฟซีเป็นผู้นำตลาด ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 50% และตลาดแฮมเบอร์เกอร์ มีการเติบโตประมาณ 10 - 15% มีผู้นำตลาดเป็นแมคโดนัลด์ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50-60% สำหรับตลาดของพิซซ่าในประเทศไทยเดอะพิซซ่า คอมปะนี มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 70%

สำหรับยุทธวิธี และการทำตลาดเพื่อดึงลูกค้า ให้เข้ามาใช้บริการของธุรกิจฟาสต์ฟูด ถือเป็นโจทย์หินในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายของลูกค้า ที่ให้ความจำเป็นเกี่ยวกับคุณค่าของอาหาร และเงินที่จะใช้จ่ายในการซื้อสินค้า ต้องมีความเหมาะสม โดยตลาดอาหารในเมืองไทย ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากแบรนด์อาหารในตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นเพื่ออยู่รอดในปี 2552 นี้ แต่ละแบรนด์ต้องสร้างแบรนด์ให้ติดตาลูกค้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ นายเฮสเตอร์ ชิว ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารบริการด่วน แมค โดนัลด์ ได้กล่าวถึงทิศทางของแมคโดนัลด์ในปี 2552 ว่า พร้อมที่จะฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังไม่โตมากนักไปให้ได้ แม้ว่าอาจจะต้องเหนื่อยสักหน่อย เนื่องจากผจญกับปัจจัยลบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในภาวะปกติ เงินดอลลาร์ ยังไม่อ่อนมากนัก ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ดีขึ้น คาดว่าในปี 2552 เศรษฐกิจ คงยังอยู่ในสภาพคงที่ไม่เติบโตเท่าที่ควร

สำหรับการบริหารธุรกิจของบริษัท ในปีฉลูนี้ จะโฟกัสกลุ่มลูกค้า ในเรื่องของความคุ้มค่าในตัวผลิตภัณฑ์อาหาร รวมไปถึงการสร้างความแปลกใหม่ของร้านแมคโดนัลด์ เพื่อดึงลูกค้า เข้ามาใช้บริการที่ร้านแมคโดนัลด์มากขึ้น นอกจากนั้นทางแมคโดนัลด์ ได้คิดกลยุทธ์ที่หลากหลายในการดึงผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้าใช้บริการ เช่น โปรโมชัน, บริการ 24 ชั่วโมง รวมถึงแบรนด์ แมคคาเฟ่ ที่รู้จักลูกค้ามากขึ้นในปีที่ผ่านมา และปี 2552 จะโฟกัสตัวแบรนด์แมคคาเฟ่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีประมาณ 39 สาขา ปี 2552 จะเพิ่มอีกประมาณ 15-20 สาขา

++ตั้งองค์กรมหาชนหนุนอุตฯหนังไทย

นายจาฤก กัลย์จาฤก นายกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย และ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนากรุ๊ป กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทย กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากแผ่นผี ซีดีเถื่อน ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงกว่าเศรษฐกิจและภาวะการเมือง โดยมูลค่าของสินค้าละเมิดในตลาดมีสูงถึง 7 แสน -1 ล้านล้านบาท ขณะนี้ทางสมาพันธ์ จึงเร่งดำเนินการ 3 มาตรการหลัก เพื่อป้องปราม และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวไปข้างหน้า ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนการละเมิด ซึ่งจัดตั้งมาแล้ว 2 เดือน ได้ความร่วมมือจากผู้ผลิตและโรงภาพยนตร์ หักเงินจากค่าตั๋วภาพยนตร์ 1 บาทต่อตั๋ว เข้าสมทบกองทุน

นอกจากนี้ สมาพันธ์ ยังเร่งแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 5 ข้อ สาระสำคัญคือการเพิ่มโทษผู้ละเมิด และผู้ซื้อ และทำให้ปีหน้าเป็นปีของการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เรากำลังจะทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความสนับสนุนจากรัฐบาล ในการปราบปรามสินค้าละเมิดอย่างจริงจัง และพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเรา นายจาฤกกล่าวและว่า จาก พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ซึ่งประกาศใช้มาแล้ว 7-8 เดือน ในตัวกฎหมายระบุให้มีการจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมากำกับดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทางสมาพันธ์ จึงมีแผนดำเนินการจัดตั้งองค์กรมหาชน ขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว และเป็นศูนย์กลางของสมาคมภาพยนตร์ที่ปัจจุบันมีอยู่ 14-15 สมาคม โดยองค์กรมหาชนนี้ จะมีลักษณะคล้ายองค์กรรัฐบาลของเกาหลีใต้ ทำหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทยให้พัฒนามากขึ้น และขยายตลาดมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีมูลค่าตลาดอยู่กว่า 3.3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นสมาพันธ์ จะของบสนับสนุนจากรัฐบาลสำหรับองค์กรมหาชนแห่งนี้ 800 ล้านบาทเป็นเวลา 5 ปี

+ เครื่องใช้ไฟฟ้ามุ่งหาตลาดใหม่

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ตัวแทนกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่าวถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในปี 2552 ว่า ผู้ประ

กอบการจำเป็นที่จะต้องมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศ รวมถึงแสวงหาโอกาสในการสร้างการเติบโต ด้วยการนำเสนอสินค้านวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร พร้อมการหาตลาดใหม่ เพื่อสร้างรายได้

ในส่วนของภาคโรงงานผลิตเพื่อส่งออก ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยการมองหาตลาดใหม่ พร้อมการนำเสนอสินค้านวัตกรรมเพื่อสร้างปริมาณความต้องการให้เกิดขึ้น อีกทั้งลดกระบวนการผลิต และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ด้านการดำเนินธุรกิจของบริษัทจะไม่มีการตัดงบประมาณ ซึ่งยังคงไว้ที่ 400 ล้านบาท แต่จะปรับเปลี่ยนวิธีการใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างรัดกุม โดยจะเน้นในเรื่องของการจัดกิจกรรมให้ตรงจุด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ล่าสุด บริษัทได้นำร่องกิจกรรมการตลาดแนวใหม่ โดยการร่วมมือกับบริษัท สเตซีย์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด จัดงาน Toshiba Green Creative Gift ซึ่งถือเป็นกิมมิกในการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปี 2551 ที่ผ่านมา โดยมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์หมวดเครื่องครัวดิจิตอลต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ซึ่งทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์หมวดดังกล่าวเติบโตเพิ่มประมาณ 10-15%

สำหรับสถานการณ์ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2552 จะเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากกลไกการแข่งขันในตลาด ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสินค้าปรับลดลง แต่ในทางกลับกันนวัตกรรมจะเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดจะมีอัตราการเติบโต แต่ไม่หวือหวา โดยเฉพาะอัตราการเติบโตเชิงปริมาณที่มีแนวโน้มจะลดลง นางกอบกาญจน์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook