ผู้หญิงกับการช็อปช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด

ผู้หญิงกับการช็อปช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก่อนหน้านี้ รีเบคก้า บลูมวู๊ด ได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้หญิงหลายคนด้วยนิสัยการช็อปปิ้งโดยไม่สนใจเงินในกระเป๋าสตางค์หรือหนี้ที่เพิ่มขึ้นของเธอหรือแม้แต่การที่เธอจะต้องรับโทรศัพท์ตามทวงจากธนาคาร

สำหรับบางท่านที่อาจจะยังไม่รู้จัก รีเบคก้า เธอเป็นตัวเอกจากหนังสือซีรีส์ เรื่องดัง Shopaholic ของ โซฟี คินเซล่า รีเบคก้ามักจะมีวลีติดปาก เช่น Season must -have (ของที่ทุกคนต้องมีในช่วงนี้) Sales (ช่วงลดราคา) Designer Labels (ของจากนักออกแบบ) ซึ่งแสดงถึงนิสัยการ

ช็อปอย่างไร้ขีดจำกัดของเธอ ทำให้เธอต้องประสบกับปัญหาในด้านต่างๆของชีวิต

ชีวิตของรีเบคก้าสะกิดโดนใจของผู้หญิงหลายๆคนในแง่นิสัยการช็อปแบบไรขีดจำกัด และจุดอ่อนที่ตื่นเต้นซะจนจะต้องซื้ออะไรสักชิ้นทุกครั้งที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้า

แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดแบบนี้ ผู้หญิงหลายๆคนจะยังคงคลั่งไคล้การช็อปปิ้งอีกหรือไม่

อย่าได้หลงเชื่อคำโกหกที่พูดเพื่อให้คนฟังสบายใจที่ว่าผู้หญิงจะหยุดช็อปในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ เพราะมันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะนิสัยการช็อปได้เข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของผู้หญิงทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ความคิดที่จะหยุดสาวๆจากการช็อปนั้นเหมือนความคิดที่จะขังเธอไว้ในคุก

เมื่อเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดช็อป กลายเป็นว่าผู้หญิงปรับตัวและนิสัยการ

ช็อปของเธอให้เข้ากับสถานการณ์ เห็นได้จากการหยุดคิดก่อนการตัดสินใจซื้อของผู้หญิงไทยและชาติอื่นๆ

ก่อนการตัดสินใจซื้อผู้หญิงจะค้นหา ตรวจสอบราคา หาข้อมูล ซึ่งไม่เพียงแต่จะเช็กข้อมูลสินค้า อย่างน้อย 2 -3 ครั้งก่อนจะซื้อ เธอเหล่านั้นจะแชต และเข้าไปในบล็อกเพื่อหาคำแนะนำจากเพื่อน บล็อกเกอร์หรือผู้บริโภคคนอื่นๆในอินเตอร์เน็ต เห็นได้จากบล็อก ในพันธุทิพย์ บล็อกแก๊ง ที่บล็อกเกอร์ต่างๆและผู้บริโภคจริงๆจะมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นส่วนตัวว่าเค้ารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับสินค้า ในบล็อกต่างๆ

ปัจจุบันนี้ บล็อกเกอร์เปรียบเสมือน กูเกิล ของผู้หญิงที่วางแผนจะซื้อสินค้าเพื่อความสวยงามต่างๆ เหล่าบล็อกเกอร์จะทดลองใช้สินค้าและเขียนจากความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อ่าน

ในสถานการณ์เช่นนี้ผู้หญิงไม่ได้หยุดแค่วางแผนการซื้อของเธอ แต่จะใช้เวลาในการตรวจสอบและเปรียบเทียบผู้ขายรายต่างๆว่าจะมีข้อเสนอที่ดีกว่า หรือการเช็กราคาผ่านทางออนไลน์ด้วย จากการวางแผนการซื้อที่รัดกุมรวมทั้งการตรวจสอบด้วยความถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจซื้อทำให้ผู้หญิงรู้สึกฉลาดและภาคภูมิใจในการตัดสินใจซื้อของเธอ

และไม่เพียงแต่การหาข้อมูลอย่างบ้าคลั่งก่อนการซื้อครั้งใหม่ เธอเหล่านั้นจะใช้สินค้าที่เธอซื้อมานั้นอย่างคุ้มค่าที่สุด เราได้เคยสัมภาษณ์กลุ่มผู้บริโภคผู้หญิงที่อยู่ในเครือข่ายของเราและพบว่าเธอเหล่านั้นจะไม่ยอมลดระดับไปใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าที่ต่ำกว่าที่ตัวเองใช้อยู่มาทดแทน แต่จะใช้มันในปริมาณที่น้อยกว่าเดิม ดังนั้นผลิตภัณฑ์ 1 ขวดจะใช้ได้นานกว่าในช่วงเศรษฐกิจดีๆ ตัวอย่างเช่นจากที่เคยใช้ในปริมาณเท่าเมล็ดถั่วเหลืองต่อ 1 ครั้งจะเหลือแค่ปริมาณเท่าหัวเข็มหมุด และอาจเห็นได้จากการตัดขั้นตอนต่างๆในการบำรุงผิวเช่นจากที่เคยทาครีม 3 ชั้น เหลือแค่การทาบางๆแค่ 1 ชั้นเท่านั้น นอกจากนี้อาจเห็นว่าผู้หญิงจะมีพฤติกรรมในการจับคู่การใช้สินค้าระหว่างสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ กับครีมบำรุงผิวที่ถูกกว่าและหาซื้อได้ตามชั้นเครื่องสำอางของซูเปอร์มาร์เก็ต

การจับคู่ใช้สินค้าในลักษณะนี้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตนเองเป็นนักช็อปที่ใช้เงินอย่างฉลาดและคุ้มค่าขึ้น

สำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาการใช้จ่ายกับของแพงได้อีกจะมองหาตัวเลือกอื่นๆ แม้ว่าเธอเหล่านั้นจะรู้ข้อจำกัดของเงินในกระเป๋าแต่ความต้องการสวยนั้นไม่ได้ถูกจำกัดตาม ดังนั้นสินค้าคุณภาพแต่ราคารับได้ดูจะเป็นทางเลือกของนักช็อปกลุ่มนี้ หรือจะเรียกสินค้าในกลุ่มนี้ตามภาษาการตลาดว่า Masstige Brand สินค้าประเภทนี้จะเห็นได้มากในกลุ่มสินค้าประเภทบำรุงผิวและเครื่องสำอาง โดยส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเสนอส่วนผสม เทคโนโลยีการผลิตและผู้ยืนยันคุณภาพ ที่ใกล้เคียงกับสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ในราคาที่หาซื้อได้ในซูเปอร์มาร์เก็ต

ผู้หญิงนักช็อปจะอ่าน และหาข้อมูล ที่มีคนพูดถึงกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตของสินค้าเคาน์เตอร์แบรนด์ และในขณะเดียวกันจะมองหาสินค้าที่คุณภาพใกล้เคียงกันในราคาที่ซื้อได้ ทางเลือกนี้ส่วนใหญ่จะพบได้ในร้านขายยาจำหน่ายสินค้าจากญี่ปุ่นและเกาหลี ที่มีจุดเด่นในการเสริมความงามในแบบของชาวเอเชีย เช่น Kanebo, Kose, Etude, Face Shop และ Missha

กล่าวโดยสรุปผู้หญิงนักช็อปไม่มีวันจะพลาดที่จะช็อป โดยผู้หญิงเพียงจะปรับตัวจากการเป็นนักช็อปแบบตามแฟชั่นจ๋า มาเป็นนักช็อปในช่วงเศรษฐกิจตกสะเก็ดที่จะทำให้เงินในกระเป๋าสตางค์ที่มีจำกัดของเธอเหล่านั้นสามารถซื้อของได้มากขึ้นคุ้มค่าขึ้น

บทความจาก มีเดีย แฟลช์ มายด์แชร์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน

โดย วฤตดา วรอาคม ผู้อำนวยการวางแผนธุรกิจสื่อ มายด์แชร์

varidda.voraakom@mindshareworld.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook