ภาวะตลาดหุ้นรายวัน - บล.เคจีไอ

ภาวะตลาดหุ้นรายวัน - บล.เคจีไอ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลี่ยงกลุ่มพลังงาน ซื้อต่อในหุ้นกลุ่มการบริโภค   KGI ประเมินหุ้นไทยวันพฤหัสฯ แกว่งลงแต่จะไม่มาก หุ้นพลังงานคงอ่อนตัวตามราคาน้ำมันที่ร่วงกว่า 3% เมื่อคืนนี้หลังจากตลาดการเงินผิดหวังเล็กน้อยต่อผลการประชุมเฟด โดยเฟดได้ปรับลดประมาณการ GDP สหรัฐฯ ปีนี้จากเดิม 2.4-2.9% เป็น 1.9-2.4% และประกาศต่ออายุโครงการ Operation Twist (ขายพันธบัตรอายุต่ำกว่า 3 ปี เดือนละประมาณ 4.5 หมื่นล้านเหรียญฯ เป็นเวลา 6 เดือน รวม 2.67 แสนล้านเหรียญฯ และนำเงินดังกล่าวนี้ไปซื้อพันธบัตรที่อายุ 6 ปีหรือยาวกว่านั้น) อย่างไรก็ดีเฟดไม่ได้ประกาศ QE3 แต่อย่างใด ซึ่งสร้างความผิดหวังบ้างแต่ไม่มากนัก ทั้งนี้ KGI มองว่าปัจจัยสหรัฐฯ จะลดความสำคัญลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า และสเปนจะกลับมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม EU Summit ในวันที่ 28-29 มิ.ย. ทั้งนี้เริ่มมีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยต่างประเทศว่าการประชุมดังกล่าวจะมีการส่งสัญญาณให้ ธ.กลางยุโรปกลับมาซื้อพันธบัตรของประเทศที่มีปัญหา (โครงการ SMP) เพื่อลดแรงกดดันต่อตลาดพันธบัตร เราเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวจากดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของสเปนที่ลงมาเหลือ 6.74% เมื่อคืนนี้ จากระดับ 7.04% เมื่อวันก่อน   จนถึงปลายเดือน KGI คาดว่าหุ้นไทยจะแกว่งตัวกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติน่าจะขายสุทธิต่อไปท่ามกลางเงินบาทที่อ่อนลงและการที่สหรัฐฯ ไม่ออกมาตรการแข็งกร้าว แต่ความหวังต่อมาตรการช่วยเหลือของยุโรปจะหักล้างปัจจัยสหรัฐฯ ได้ ในขณะเดียวกันแรงซื้อของสถาบันในประเทศน่าจะมีอยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน มิ.ย. เพื่อทำราคาปิดงวดบัญชีไตรมาส 2/2555 และลดช่วงติดลบของราคาหุ้นในไตรมาสนี้ ซึ่งตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันจากปัญหาในยุโรป   กลยุทธ์: คงแนะนำเลี่ยงหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีต่อไป เน้นซื้อหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง และโอกาสที่สูงขึ้นที่ดอกเบี้ยไทยจะปรับลง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มค้าปลีก และสถาบันการเงินที่เน้นสินเชื่อบุคคล น่าจะได้รับประโยชน์ แนะนำซื้อ SIRI, AP, HEMRAJ, ROBINS* และ BAY*   ความเห็นข่าวเด่นจากสถาบันวิจัยฯ   STEC เตรียมปรับลดราคา โครงการก่อสร้างระบบรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อรังสิต สัญญาที่1 ลงเหลือ 2.9หมื่นล้านบาท โดยประเด็นข่าวดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ เนื่องจากทั้ง รฟท.และ STEC ไม่ต้องการให้งานก่อสร้างมีความล่าช้าไปมากกว่านี้ โดยคาดกระทรวงคมนาคมเตรียมที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครมรับทราบในสัปดาห์หน้า ซึ่งหากรวมงานดังกล่าวแล้ว STEC จะมีงานในมือสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท จาก 4.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นสุดไตรมาสที่ 1/55 และคาดบริษัทจะรายงานกำไรสุทธิปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 938 ล้านบาท จาก 904 ล้านบาทในปี 2554 ดังนั้น ทิศทางของผลการดำเนินงานที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 18 บาท ถิรไทย (TRT) การันตีไตรมาส 2 พลิกเป็นกำไร จากไตรมาส 1 ขาดทุนสุทธิ 38.4 ล้านบาท โดยเราประเมินการส่งมอบหม้อแปลงส่วนใหญ่ของบริษัทที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ดังเห็นได้จากงานในมือที่อยู่สูงรวมถึงแนวโน้มการได้รับงานเพิ่มขึ้นในอนาคตจากการเข้าประมูลงานมูลค่าสูงกว่า 6.3 พันล้านบาท ปัจจัยดังกล่าว จะช่วยหนุนกำไรนับจากไตรมาสที่ 2/55 เป็นต้นไปกลับมาเติบโตโดดเด่น และผลักดันให้กำไรปี 2555 ขยายตัว 25.3% YoY เป็น 250 ล้านบาทตามคาด ดังนั้น แนวโน้มผลการดำเนินงานที่ยังเติบโตดีพร้อมจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงกว่า 8-9% ต่อปี ทำให้เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 7.8 บาท   ภาคการผลิตฟื้นตัวดันดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมสูงสุดรอบ 11 เดือน (กรุงเทพธุรกิจ) นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ปธ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,110 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 106 เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่ระดับ 104  สูงสุดรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2554 แสดงว่าผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดี การบริโภคและการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมกลับสู่ภาวะปกติ แต่ผู้ประกอบการยังกังวลต้นทุนที่สูงขึ้น ขาดแคลนแรงงาน และวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป (อียู) ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งกังวลผลกระทบการเมืองในประเทศ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน อยู่ที่ 111.1 ลดลงจากเดือน เม.ย.ที่ระดับ 112.6 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ ต้นทุนผลิตที่สูงขึ้นและผลประกอบการอาจมีปัญหา เมื่อพิจารณาดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศเดือน พ.ค. อยู่ที่ 118.3 ลดลงจากเดือน เม.ย.อยู่ที่ 124.8 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกมากกว่า 50% ของยอดขายทั้งหมด พบว่าเดือน พ.ค.อยู่ที่ 102.4 ลดลงจากเดือน เม.ย.อยู่ที่ 107.5 มีปัจจัยสำคัญมาจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต ต้นทุนและผลประกอบการที่ลดลง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่เน้นตลาดต่างประเทศมีความเชื่อมั่นลดลง   PTTEP* อยู่ระหว่างเจรจารัฐบาลพม่ารับสัมปทานปิโตรเลียมแห่งใหม่ หาพันธมิตรต่างชาติร่วมสำรวจ 5 ปี ทุ่มลงทุน7.5 หมื่นล้านบาท (โพสต์ทูเดย์) นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานโครงการต่างประเทศ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อขอเข้ารับสัมปทานปิโตรเลียมแห่งใหม่ขณะที่ PTTEP ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลสัมปทานแห่งอื่นเพิ่มเติมหลังรัฐบาลพม่าประกาศว่าจะเริ่มเปิดประมูลแห่งใหม่ขึ้น และในขณะเดียวกัน PTTEP ก็มีการเจรจากับบริษัทปิโตรเลียมต่างชาติเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการเข้าไปสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในพม่า อย่างเช่น บริษัทเชฟรอน หรือ บริษัท เอ็กซอนโมบิล เนื่องจากมองว่าเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงมากกว่าที่จะเข้าไปสำรวจเพียงคนเดียว ทั้งนี้ PTTEP ได้ตั้งงบลงทุน 5 ปี (2555-2559) สำหรับการลงทุนในประเทศพม่าถึง 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาทคิดเป็นประมาณ 20% ของงบลงทุน 5 ปี ของบริษัททั้งหมด 1.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ   กรุงศรี คอนซูเมอร์เดินหน้าธุรกิจหลังรวมพอร์ต HSBC และตั้งเป้ามีสินเชื่อบัตร-บุคคล 9.5 หมื่นล้าน เติบโต 15% ขณะที่ฐานบัตร 5.5 ล้านใบ เพิ่มขึ้น7% เน้นกลยุทธ์โตตามพันธมิตร (ผู้จัดการ) นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในเครือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY*) เปิดเผยว่า ในปีนี้จะสามารถสร้างรายได้หรือผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น (ROE) ได้ตามนโยบายที่  BAY ได้รับมอบหมายมา โดยจะมีการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับเป้าหมายในการทำธุรกิจปีนี้ ภายหลังการรวมพอร์ตสินเชื่อรายย่อยกับธนาคาร HSBC จะมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท จากเดือนเมษายน 2555 ที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 9 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต15% จากปีก่อน แบ่งเป็นสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตที่ 4.5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อคงค้างส่วนบุคคลอีก 4.5 หมื่นล้านบาท จากฐานบัตรทั้งสิ้น 5.3 ล้านบัตร เป็นบัตรเครดิต 3.3 ล้านบัตรและบัตรสินเชื่อส่วนบุคคลที่ 2 ล้านบัตรซึ่งถือเป็นอันดับ 1 ของตลาด และคาดว่า ณ สิ้นปี จะมีฐานบัตรเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบัตร หรือเพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตที่ 15% หรืออยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาทซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) อยู่ที่ 1.1% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 1.3% และถือว่าต่ำกว่าระบบที่อยู่ประมาณ 2% ต้นๆ   โดย บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ(ประเทศไทย) ประจำวันที่ 21 มิ.ย. 2555

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook