ราชภัฏกับวันเด็ก

ราชภัฏกับวันเด็ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

วันหยุดเทศกาลปีใหม่ยาวนาน 5 วันเต็ม เปิดคอลัมน์แรกของปี 2552 ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม มะรืนวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ

ว่ากันถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งกระจายทั่วประเทศ แต่ละแห่งต่างมีโรงเรียนสาธิตสังกัดคณะครุศาสตร์ ก็ต้องเกี่ยวข้องกับเด็กตั้งแต่เด็กเล็กถึงเด็กโต ตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่แล้ว จึงหลีกไม่พ้นที่ต้องจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งนักเรียนครูต้องนำวิชาความรู้อันเกี่ยวข้องกับเด็กมาจัดเป็นกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยที่แผก จากมหาวิทยาลัยทั่วไป เนื่องจากมีรากมาจากโรงเรียนฝึกหัดครู ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครู เกี่ยวข้องกับผู้เรียนไม่ว่าจะในวิชาความรู้ใด ต้องมีการเรียนการสอนในคณะครุศาสตร์ทั้งสิ้น

แม้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กก็เป็นการเรียนการสอนอย่างหนึ่ง

การจัดกิจกรรมวันเด็กของนักศึกษาคณะครุศาสตร์จึงเป็นกิจกรรมที่ควรจะให้ความสำคัญ และมิใช่แต่จะเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ยังต้องเป็นกิจกรรมแห่งการเรียนรู้ควบคู่พร้อมกันไปด้วย

วันเด็กนับเป็นความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของวัยเด็กครั้งหนึ่ง นับแต่เด็กเล็กระดับอนุบาล จนถึงเด็กโตระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะวัยเด็กในช่วงประถมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย เพราะเด็กในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เป็นรอยต่อของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะน่าเสียดายอย่างยิ่งหากเด็กในวัยนี้ไม่มีโอกาสสัมผัสกับ วันเด็ก

มหาวิทยาลัยราชภัฏ โดยเฉพาะนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ควรเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันเด็กของมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น เนื่องจากนักศึกษาคณะนี้ร่ำเรียนวิชาครู เรียนวิชาการเรียนการสอน และเรียนรู้เรื่องของเด็กในแต่ละวัยมากกว่าการเรียนในวิชาอื่น

นักศึกษาปีที่ 1 และ 2 ที่เพิ่งผ่านชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นมาหยกๆ ย่อมจะเข้าใจความต้องการในวัยของเด็กและวัยรุ่นดีกว่านักศึกษาปีที่ 3 และ 4 จึงควรให้เป็นผู้ที่จัดกิจกรรมงานวันเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียนสาธิต หรือวันเด็กของมหาวิทยาลัย และควรจัดให้ตรงกับวันเด็ก คือวันเสาร์ที่ 10 ไม่ใช่จัดวันศุกร์ที่ 9 เพราะการจัดงานตรงวันจะได้แข่งขันกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าหน่วยราชการ หรือหน่วยเอกชน

วันเด็กแห่งชาติแม้มีเพียงปีละวันเดียว แต่มีติดต่อกันมาทุกปีตั้งแต่เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาแล้ว เมื่อเริ่มแรกจัดงานวันเด็กแห่งชาติตรงกับเดือนตุลาคม ซึ่งสหประชาชาติกำหนดให้แต่ละประเทศเห็นความสำคัญของเด็ก และมีวันเด็กขึ้น เพื่อให้ประชาชนและรัฐบาลให้ความสำคัญของผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก

ต่อมาประเทศไทยกำหนดให้วันเด็กแห่งชาติตรงกับวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมของทุกปี

ในแต่ละปีรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคือผู้กำหนดคำขวัญวันเด็กแห่งชาติขึ้น ปีนี้พอดีกับการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีข้ามปี ผู้ที่ให้คำขวัญวันเด็กแห่งชาติจึงคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งให้คำขวัญไว้ว่า

ฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี

การจัดงานวันเด็กแห่งชาติของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งจึงควรนำความหมายของคำขวัญนี้ไปแปรเป็นรูปธรรม กล่าวคือ

ฉลาดคิด คือความเฉลียวฉลาดในการมีความคิดริเริ่มของเด็กทุกวัย ตั้งแต่วัยอนุบาลถึงวัยมัธยมปลาย

ความเฉลียวฉลาดจะเกิดขึ้นได้เด็กต้องมีความฝัน หรือมีจินตนาการที่ดี การจะมีจินตนาการที่ดีได้ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจใสบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินมัวหมอง

ส่วนผูกพันรักสามัคคี ต้องแยกออกเป็น ผูกพัน คือความใกล้ชิด และรักที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้

สำหรับสุดท้ายคือ สามัคคี เป็นกรณีสำคัญที่ต้องรู้อย่างแท้จริงว่าสามัคคีคืออะไร (ดูเหมือนว่ามีรายการประชาสัมพันธ์รายการหนึ่งซึ่งเด็กน้อยถามคุณปู่ว่าสามัคคีคืออะไร แล้วคุณปู่ซึ่งกำลังเหลาโครงว่าวให้หนูน้อย ส่งไม้ไผ่ให้ชิ้นหนึ่งแล้วให้หนูน้อยหัก แล้วส่งให้อันที่สอง ก่อนจะถึงหลายอัน ปรากฏว่าหักไม่ได้ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าความสามัคคีคืออะไร และผลเป็นอย่างไร-จบ)

การที่เด็กจะฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคีได้นั้น หากนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏ ตีแตก จัดกิจกรรมให้สอดคล้องได้ ก็นับว่าเป็นผู้ที่มีจิตผูกพันจุดประกายฝันและฉลาดคิดอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook