คนออนไลน์จุดกระแส เปลี่ยนสุภาษิตเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

คนออนไลน์จุดกระแส เปลี่ยนสุภาษิตเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

คนออนไลน์จุดกระแส เปลี่ยนสุภาษิตเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนออนไลน์แห่แปลงสำนวนไทยใส่ทวิตเตอร์ ภายใต้แท็ก "#เปลี่ยนสุภาษิตเพื่อสังคมที่ดีขึ้น" ขบขัน ล้อเลียน เสียดสี การเมือง สังคม และดารา เช่น "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย สอนกังนัมสไตล์ให้ลูกท่านเต้น" "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียเถอะพลอยเฌอมาลย์" เผยสถิติทวีตกว่า 13,000 ข้อความ ขณะที่ราชบัณฑิตชี้มีประโยชน์ ฝึกสมอง ช่วยให้เกิดความเข้าใจภาษาไทย แต่ห่วงเด็กจำไปใช้ผิดกาลเทศะ

(31 ส.ค.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา คนไทยในเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์จำนวนมาก ต่างสนุกสนานเพลิดเพลินกับการเล่นดัดแปลงแก้ไขสุภาษิตสำนวนไทยดั้งเดิมให้แปลกใหม่ พลิกแพลง เพิ่มเนื้อหาทันสมัย ตลกขบขัน ล้อเลียน หรือเสียดสีกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งเรื่องการเมือง สะท้อนสังคม รวมถึงวงการบันเทิง โดยระบุข้อความ "#เปลี่ยนสุภาษิตเพื่อสังคมที่ดีขึ้น" เพื่อส่งข้อความเข้าสู่หมวดหมู่เดียวกัน

สำหรับสำนวนสุภาษิตที่มีการดัดแปลง เช่น "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย สอนกังนัมสไตล์ให้ลูกท่านเต้น" "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแอพ" "มือไม่พิมพ์ เอาเมาส์ลากก๊อป" "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียเถอะพลอยเฌอมาลย์" "หนีภาษี ปะออแกไนเซอร์" "ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูที่บัตรประชาชน" "คบคนพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตพาไปถ่ายรูป" "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย เปิดไวไฟให้เพื่อนบ้านเล่น" "น้ำขึ้นให้รีบตัก น้ำหมักต้องป้าเช็ง" เป็นต้น

ทั้งนี้ จากสถิติของเว็บ Thaitrend พบว่า หมวดข้อความดังกล่าวมีการเผยแพร่ส่งต่อกันผ่านทวิตเตอร์มากเป็นอันดับ 1 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มากกว่า 13,000 ข้อความ ขณะที่พบว่าเริ่มมีการนำมาเผยแพร่เล่นกันต่อในเครือข่ายเฟซบุ๊กอย่างกว้างขวางอีกด้วย ทั้งนี้ กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากกรณีที่คณะกรรมการพัฒนาการเด็กปฐมวัยฯ เสนอให้มีการเปลี่ยนสำนวน "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" เป็น "รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด" เพื่อเสริมความอบอุ่นในครอบครัว

ด้าน ศ.กิตติคุณ กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคงจะเป็นกระแสการเล่นสนุกกับภาษาในช่วงสั้นๆ ทำให้เกิดความคิดความเข้าใจเรื่องภาษาไทยได้มากขึ้น เช่น หาคำสัมผัส คำคล้อง คำต่าง คำพ้อง เป็นสิ่งที่ดี ถือเป็นการพัฒนาสมองอย่างหนึ่ง หากเล่นแล้วเข้าใจความหมายที่แท้จริง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หากเด็กจำความหมายผิด แล้วนำไปใช้ผิดกาลเทศะ ผิดบริบท ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้. - สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook