แผน-โพล ปชป. ส่งท้ายศึกผู้ว่าฯกทม

แผน-โพล ปชป. ส่งท้ายศึกผู้ว่าฯกทม

แผน-โพล ปชป. ส่งท้ายศึกผู้ว่าฯกทม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่จุดสตาร์ต-ก่อนที่ทุกพรรค ทุกสังกัดจะเริ่มเปิดเผยตัวผู้สมัคร คะแนนนิยมในตัวพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

อาจเรียกได้ว่า นาทีนั้นส่งใครลงก็ชนะขาดลอย โดยเฉพาะชื่อ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" ที่มีฐานะแชมป์เก่าเป็นบารมีคุ้มกาย ย่อมมีกระแสทิ้งห่างผู้สมัครรายอื่นแบบไม่เห็นฝุ่น


แต่ทันทีที่พรรค เพื่อไทยเคาะโต๊ะโยน "พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ" ลงสู่สนาม โพลทุกสำนักระบุตรงกันว่า ผู้สมัครหน้าใหม่กระแสแรงแซงแชมป์เก่าไปเสียแล้ว

โดยเฉพาะตัวเลขจาก "โพลลับ" ฝั่ง ปชป.ที่สอดคล้องในข้อมูลชุดเดียวกันว่า ชื่อของ "พล.ต.อ.พงศพัศ" มีชัยเหนือชื่อ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" ทิ้งห่างเกือบสองเท่าตัว

ทีมยุทธศาสตร์วิเคราะห์เหตุที่ผลลัพธ์มา ทางนี้ ไม่ใช่เพราะชื่อ "พล.ต.อ.พงศพัศ" ขายได้ มีราคา แต่เป็นชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พรรค-พวกเพื่อไทย ที่สร้างคะแนนนิยมมหาศาลมาให้

เป็นที่มาของแผนหาเสียงในช่วงโค้งแรก ที่ ปชป.เลี่ยงเกมปะทะ แต่เบนเข็มหาฐานเสียงหน้าใหม่ พุ่งเป้าไปที่ 2 กลุ่มเป้าหมายแทน

กลุ่มหนึ่ง ระดมพลขนโปรไฟล์ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" บรรจุลงในโลกออนไลน์ หวังพึ่งพลเมืองโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เชื่อว่าจะมีสัดส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน กทม.ประมาณ 1.5 ล้านคน

กลุ่มสอง จัดตั้งกองกำลัง "แก๊งก่อโหวต" มุ่งเจาะกลุ่ม First Voter หรือเด็กอายุ 18 ปี ที่มีประมาณการ 15-20% ของผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

หลังขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ ผลลัพธ์ใน "โพลลับ" สร้างความหวังให้ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" กลับมาไล่ตาม "พล.ต.อ.พงศพัศ" อยู่ไม่ถึง 10% เหลือเพียงโซนฝั่งตะวันออก อาณาจักรของเพื่อไทย ที่ยังเจาะเข้าไม่ถึง

ทีมวิเคราะห์ประเมินต่อว่า แนวทางหาเสียงในช่วงต้น อาจมีฐานเสียงวงแคบเกินไป เพราะตัวเลขของ First Voter มีเพียง 80,000 รายชื่อ และยุทธวิธีในโลกออนไลน์ อาจทำได้แค่รักษาฐานเดิมเท่านั้น

หลังจากนี้ แผนการเจาะกลุ่มฐานเสียงใหม่จึงชะลอความแรงชั่วคราว และหันองคาพยพกลับไปทุ่มเทให้เกมหาเสียงในแบบคลาสสิก ทั้งระดมป้าย ขายนโยบาย และขนคนลงเคาะประตูบ้านอย่างใกล้ชิด

เป็นที่มาของแคมเปญชุดใหม่ "ทำแล้วจะทำอีก" หวังฟันกำไร 2 ต่อ พลิกให้ "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์" กลับมามีชัยในช่วงโค้งสุดท้าย

กำไรต่อที่หนึ่ง ขยายภาพผลงานของอดีตผู้ว่าฯ เพื่อชิงพื้นที่แก้ข่าว กลบข้อกล่าวหา "4 ปีไม่มีผลงาน"

ที่สำคัญคือการเรียกความเชื่อมั่นคืนจากกลุ่ม "คนเคยเลือก" ที่ข้อมูลโพลในช่วงโค้งแรกปรากฏชัดเจนว่า อาจไม่เลือกคุณชายกลับมาทำงานอีก

กำไรต่อที่สอง แผนนโยบายภาพใหญ่ที่จะได้เห็นหลังจากนี้ จะทำให้คน กทม.เห็นภาพว่า "เลือกคุณชาย ทำงานได้ทันที"

ทีมยุทธศาสตร์ฟันธงแล้วว่า ราคาสำหรับนโยบายฝั่ง ปชป.ยังเหนือกว่านโยบายจากฝั่งเพื่อไทยที่มีแต่หวือหวา แต่ทำไม่ได้จริง ดังนั้นจึงปลุกปั่น ส.ส. ส.ก. และ ส.ข.ใต้สังกัดให้ช่วยกันขายนโยบายกันอย่างคึกคัก

นับตั้งแต่วินาทีนี้จึงจะได้เห็นพลพรรค ปชป.ตบเท้าชี้แจง แผนแก้ปัญหารถติดด้วยระบบขนส่งโมโนเรล 5 สาย ติดตั้งวงจรปิดเพิ่มอีก 20,000 เครื่องทั่วเมือง ขยายพื้นที่สีเขียว 5,000 ไร่ และสร้างอุโมงค์ยักษ์รับมือน้ำท่วมในฝั่งธนบุรีและดอนเมือง

ขณะที่ฝั่งเพื่อไทยมีศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คุมกลไกโดย "ภูมิธรรม เวชยชัย" เลขาธิการพรรค เป็นประธาน ยังคงเช็กผลโพลสาธารณะ-โพลลับรายวัน พบว่านาทีนี้ชื่อ "พล.ต.อ.พงศพัศ" พลิกกลับมานำอย่างสมบูรณ์แบบ

โดยภาพรวมพรรคประเมินว่า กระแสของ "พล.ต.อ.พงศพัศ" จะแรงอย่างต่อเนื่อง คะแนนนำโด่งจนจบเกม ขณะที่คู่แข่ง ปชป.อาจ "ติดหล่ม" อยู่กับเกมการเมือง

ทั้งขุดเรื่องเก่า เล่าเรื่องเผาบ้าน-เผาเมือง เมื่อปี 2553 ทั้งหยิบชื่อ "พล.ต.อ.พงศพัศ" ผูกติดกับการทุจริตสร้างโรงพักทั่วประเทศ ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งประธานทีโออาร์กำหนดสเป็กของผู้รับเหมา

ทีมยุทธศาสตร์พรรคได้จังหวะ จึงส่งสัญญาณถึงลูกพรรค-ทีมงาน รวมถึง "พล.ต.อ.พงศพัศ" ห้ามตอบโต้ประเด็นการเมือง รักษาคอนเซ็ปต์ "คิดบวก" เน้นลงมือทำมากกว่าใส่ร้ายป้ายสี

เช่นวันหนึ่งหลังจาก "พล.ต.อ.พงศพัศ" กลับจากงานแถลงข่าวเปิดตัว 8 แคมเปญหาเสียงโค้งที่สอง เขาได้เข้าไปนั่งในศูนย์อำนวยการการเลืองตั้ง บนชั้น 7 ของพรรคเพื่อไทย นั่งสนทนากับ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ยืนเผชิญหน้าอยู่โต๊ะฝั่งตรงข้าม

"คุณหญิงสุดารัตน์" เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการพูดถึงการที่ ปชป.ชูแผนโจมตีนโยบาย "ไร้รอยต่อ" ว่าเป็นการหาเสียงเกินหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. "พล.ต.อ.พงศพัศ" โต้ตอบว่า "เขาพูดอย่างนั้น ก็ปล่อยให้เขาเสียคะแนนเอง"

เป็นแผนนิ่งสยบความเคลื่อนไหว สูตรเดียวกับผู้นำประเทศอย่าง "ยิ่งลักษณ์" มักใช้เมื่อเจอแรงเสียดทานทางการเมือง

เป็นแผนที่พรรคเพื่อไทยพยายามอุ้ม "พล.ต.อ.พงศพัศ" ให้อยู่เหนือความขัดแย้ง เพื่อรักษาคะแนนนิยมให้แรงอย่างต่อเนื่องแบบม้วนเดียวจบ ตั้งแต่ออกสตาร์ตจนถึงวันเลือกตั้ง 3 มีนาคม

เป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ "ภูมิธรรม" กล่าวแบบมั่นใจว่า ชาวกรุงอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

"คนกทม.ก็เริ่มรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงมากขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบบริหาร กทม.มานาน มุมมองประชาชนมี 2 ด้าน ถ้าคน กทม.คิดว่าทำอะไรเต็มที่ เราก็ยากที่จะสู้ แต่ถ้าบริหารมา 8-9 ปี คนยังไม่เอา เราก็จะมีโอกาส"

เมื่อเลาะอีเวนต์เปิดนโยบายทุกวันพุธของ "พล.ต.อ.พงศพัศ" ช่วงโค้งสุดท้าย ที่พรรคเพื่อไทยหวังใช้เป็นจุดเปลี่ยน "คะแนนนิยม" ของคนกรุงที่ปรากฏในผลโพล มาเป็น "คะแนนเสียงเลือกตั้ง" ในวันที่ 3 มีนาคม เพื่อปิดเกมพรรคประชาธิปัตย์ และปิดบัญชี" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์"

เริ่มต้นในสัปดาห์นี้จะเปิดตัวนโยบายแก้ปัญหาจราจร ฉายภาพให้เห็นการยกเครื่องระบบขนส่งมวลชนใหม่ทั้งระบบ โดยเชิญ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" รมว.คมนาคม ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ รถฟรี  เรือฟรี จนถึงการสร้างโครงข่ายโมโนเรล และไฮสปีดเทรน

20 กุมภาพันธ์จะเปิดตัวรายละเอียดนโยบายด้านคุณภาพชีวิตและการศึกษา แจกแจงแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมือง Green city ครบครันด้วยโครงข่ายสื่อสารยุคดิจิทัล อาทิ ติดตั้งจุด Free WiFi ทุกสวนสาธารณะ

ปิดท้ายปลายเดือน 27 กุมภาพันธ์ด้วยการฉายภาพตัวอย่างกรุงเทพฯในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร หากมีผู้ว่าฯ กทม.ชื่อ "พล.ต.อ.พงศพัศ"

ไฮไลต์สำคัญนี้ คนทั้งพรรคยังคงปิดเงียบ เปิดเผยเพียงว่า ในงานดังกล่าว "ยิ่งลักษณ์" จะปรากฏตัวร่วมฉายภาพ ย้ำแนวคิดไร้รอยต่อครั้งนี้ด้วย

นอก จากนี้ พรรคเพื่อไทยยังสั่งไปทุกกระทรวง ทบวง กรม ปั้นอีเวนต์ ทำสื่อผสม เข้ามาเป็นอุปกรณ์ประกอบการแถลงทุกสัปดาห์ และยังว่าจ้างบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เข้ามาร่วมรับผิดชอบทำพรีเซ็นเตชั่นต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบกับการหาเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ

ควบคู่ไปกับการเปิดเวทีปราศรัยย่อยในพื้นที่ 150 เวทีทั่วกรุง ที่บรรดา ส.ส.เพื่อไทยไล่เคาะประตูบ้านขอคะแนน

ขณะเดียวกัน การหาเสียงเขต กทม.ชั้นใน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของคู่แข่ง และพรรคยอมรับว่ายังเป็นรอง ก็จะจัดคิวให้ "ยิ่งลักษณ์" เดินสายขอคะแนนมากขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

ทุกแผนเป็นแนวทางที่พรรคเพื่อไทยหวังรั้งกระแส "พล.ต.อ.พงศพัศ" ให้แรงต่อเนื่องจนถึงวันได้ฉลองชัยเป็นผู้ว่าฯ กทม.

และเป็นสูตรสำเร็จชุดเดียวกันกับที่เคยปั้น "ยิ่งลักษณ์" เป็นนายกรัฐมนตรีสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook