เอแบคโพลล์ชี้ การศึกษาสูงเลือก"คุณชาย"

เอแบคโพลล์ชี้ การศึกษาสูงเลือก"คุณชาย"

เอแบคโพลล์ชี้ การศึกษาสูงเลือก"คุณชาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลือกตั้งผู้ว่า กทม.  ดร. นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ศึกษา เปรียบเทียบความตั้งใจจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ของคนกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่โค้งที่ 1 ถึง โค้งที่ 4 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,498 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการและวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นเลือกเขต แขวง ชุมชน และลงสัมภาษณ์แบบเคาะประตูบ้านในระดับครัวเรือน ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่ของประชาชนที่ถูกศึกษาครั้งนี้หรือร้อยละ 82.1 ระบุนโยบายต่างๆ ของกลุ่มผู้สมัครที่นำเสนอต่อสาธารณชนมีความเหมาะสมแล้ว และผลสำรวจยังพบด้วยว่า แนวโน้มของจำนวนประชาชนที่ตั้งใจจะใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 50.6 ในโค้งที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 59.7 ในการสำรวจโค้งที่ 4

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มความตั้งใจจะเลือกของประชาชนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. เปรียบเทียบตั้งแต่โค้งที่ 1 ถึงโค้งที่ 4 พบว่า คนส่วนใหญ่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใครและหากพิจารณาเป็นจุดของค่าคะแนน (Estimated Points) ที่ค้นพบจะเห็นได้ว่า ความตั้งใจ ของประชาชนที่ถูกศึกษาระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 43.9 ในโค้งที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 46.6 ในโค้งที่ 4 ในขณะที่ แนวโน้มความตั้งใจของประชาชนที่ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์  บริพัตร ลดลงจากร้อยละ 37.6 ในโค้งที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 29.9 ในโค้งที่ 4 และแนวโน้มความตั้งใจของประชาชนที่ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 10.4 ในโค้งที่ 3 และยังคงอยู่ที่ร้อยละ 10.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

"จะเห็นได้ว่า ผลสำรวจครั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนสนับสนุนจากประชาชนคนกรุงเทพมหานครทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ออกไปอีกแบบก้าวกระโดดจาก 6 จุดในการสำรวจครั้งที่สาม เป็น 16.7 จุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษาวิจัยในวิชารัฐศาสตร์และระเบียบวิธีวิจัยต่อไปว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่มีผลต่อความนิยมของประชาชนต่อผู้สมัครเพราะฐานสนับ สนุนของประชาชนต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ เพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 2.7 จุดเท่านั้น แต่กลับส่งผลทำให้มีคะแนนทิ้งห่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ออกไปถึง 16.7 จุดเลยทีเดียว ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่า การขึ้นเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ประชาชนคาดไม่ถึงว่าจะใช้ถ้อยคำที่ขัดต่อ บุคลิกภาพเรื่องความสุภาพและขัดต่อความคาดหวังของประชาชนที่เคยสนับสนุนใน อดีต นอกจากนี้ ยิ่งมีข่าวออกมาว่า พรรคประชาธิปัตย์จะออกยุทธศาสตร์รื้อฟื้นความทรงจำของประชาชนเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" ที่เป็นภาพความขัดแย้งรุนแรงแตกแยกของคนในชาติออกมาหวังตีคะแนนนิยมผู้สมัคร คนอื่นอีกน่าจะส่งผลเสียต่อผู้สมัครของพรรคได้เพราะประชาชนส่วนใหญ่เบื่อ ความขัดแย้งรุนแรงแต่อยากเห็นบ้านเมืองสงบร่มเย็นมากกว่า" ดร.นพดล กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ความตั้งใจของประชาชนที่จะเลือกผู้สมัครจำแนกออกตามเพศยังพบ ว่า ในกลุ่มตัวอย่างเพศชายร้อยละ 47.6 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ  พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 29.7 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และที่เหลือระบุผู้สมัครคนอื่นๆ และผลสำรวจยังพบว่าในกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงร้อยละ 45.8 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่สูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 34.0 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์  บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่ร้อยละ 25.5 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 14.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มตัวอย่างต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 49.8 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 27.7 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และร้อยละ 9.8 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นอกจากนี้ ในกลุ่มตัวอย่างปริญญาตรีร้อยละ 40.2 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 34.9 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และร้อยละ 11.9 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ ผลวิเคราะห์ความตั้งใจของประชาชนที่จะเลือกผู้สมัครผู้ว่า กทม. จำแนกตาม ระยะเวลาของคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานคร พบว่า ในกลุ่มตัวอย่างที่มีชื่อในทะเบียนบ้านระหว่าง 1 - 5 ปีส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.3 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และร้อยละ 8.0 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส

ในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีชื่อในทะเบียนบ้านระหว่าง 5 - 10 ปีร้อยละ 47.3 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 27.8 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และร้อยละ 10.8 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นอกจากนี้ ในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีชื่อในทะเบียนบ้านระหว่าง 10 - 15 ปี ร้อยละ 42.2 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ และร้อยละ 11.0 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ตามลำดับ

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ในกลุ่มคนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครมากกว่า 15 ปีขึ้นไปจนถึงช่วงอายุที่เป็นคนกรุงเทพมหานครตั้งแต่เกิดร้อยละ 46.5 ระบุ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในขณะที่ร้อยละ 30.4 ระบุ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร และร้อยละ 10.5 ระบุ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ตามลำดับ

ดร.นพดล ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ค้นพบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. น่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2552 แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเล็งเห็นประโยชน์ของการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง มากกว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของประชาชนหรือไม่ รวมถึงการรณรงค์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าจะมีพลังขับเคลื่อนให้คน กรุงเทพมหานครออกไปใช้สิทธิมากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ผลสำรวจครั้งนี้ยังค้นพบด้วยว่า กลุ่มประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ถูกศึกษาตัดสินใจแล้วว่าจะเลือก ใครเพราะได้เจอนโยบายต่างๆ ที่ตนเองชอบและเห็นว่าเหมาะสมแล้ว และถ้ามีประชาชนออกไปใช้สิทธิจำนวนมากตามผลสำรวจครั้งนี้ น่าจะประมาณการได้ว่า ผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. จะได้คะแนนเกินกว่า 1 ล้านคะแนน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สมัครทุกท่านต้อง "รู้จักเก็บอาการ ไม่ประมาท มีความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพ เคารพทุกความรู้สึกและการตัดสินใจของประชาชนเพราะทุกอย่างจะชี้ขาดในวันที่ 3 มีนาคมนี้" เหตุก็เพราะคนกรุงเทพมหานครอยู่ใกล้กับศูนย์รวมของข้อมูลข่าวสารระดับชาติ จึงค่อนข้างเปลี่ยนใจได้รวดเร็ว และเนื่องจากยังมีเวลาอีกว่าสิบวันอะไรๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้กับความนิยมของสาธารณชนต่อผู้สมัครทุกคน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 54.1 เป็นหญิง ร้อยละ 45.9 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 17.9 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 40-49 ปี และ ร้อยละ 34.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 28.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 31.5 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.2 เป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 10.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook