เปิดตำนานคุกบางขวาง แดนประหาร ประตูผี

เปิดตำนานคุกบางขวาง แดนประหาร ประตูผี

เปิดตำนานคุกบางขวาง แดนประหาร ประตูผี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าจะพูดถึง "บางขวาง แดนประหาร" แล้ว คงไม่มีคนไทยคนไหนไม่รู้จัก "เรือนจำสำหรับนักโทษเดนตาย" คดีอุกฉกรรจ์ สถานที่ ๆ ใครก็อยากไม่จะเข้าไปอยู่ เรียกได้ว่า คนในอยากออก คนนอกไม่อยากเข้า

เมื่อไม่มีคนนอกอยากเข้า ทีมข่าว Sanook!News ลงพื้นที่และสืบหาประวัติเรือนจำบางขวาง "ดินแดนสนธยา" พบว่า เรือนจำกลางบางขวาง หรือ เรือนจำมหันตโทษ เป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จนถึงโทษประหารชีวิต ตั้งอยู่เลขที่ 117 หมู่ 3 ถนนนนทบุรี 1 ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อยู่ติดกับวัดบางแพรกใต้

ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2476 บนเนื้อที่ 136 ไร่ ล้อมกำแพงสูง 6 เมตร มีรั้วไฟฟ้าแรงสูง มีหอคอยพร้อมพลแม่นปืนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง มีการเปลี่ยนโทษการประหารชีวิตจากการตัดคอเป็นการยิงเป้าเมื่อ พ.ศ.2478 ตั้งแต่นั้นคุกบางขวางก็ใช้เป็นแดนประหารตลอดมาจนถึงปัจจุบัน มีนักโทษเด็ดขาดถูกประหารชีวิตไปแล้ว 319 ราย เป็นนักโทษชาย 316 รายและนักโทษหญิง 3 ราย

การประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้าถูกปิดฉากลง เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 45 ก่อนหันมาใช้วิธีฉีดยาพิษเข้าสู่ร่างกาย ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 19 และมีผลบังคับใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.46 เป็นต้นมา โดยมีผู้ที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษไปแล้ว 6 ราย ได้แก่ น.ช.บุญลือ นาคประสิทธิ น.ช.พันพงษ์ สินธุสังข์ น.ช. วิบูลย์ ปานะสุทธะ ทั้ง 3 รายต้องโทษคดียาเสพติด น.ช.พนม ทองช่างเหล็ก ต้องโทษคดีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และนักโทษ 2 รายล่าสุด ณ ขณะนี้คือ น.ช.บัณฑิต เจริญวานิช และน.ช.จิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ ที่ถูกจับกุมพร้อมของกลางยาบ้า 114,219 เม็ด ต่อมาศาลพิพากษาประหารชีวิตทั้งคู่

สำหรับนักโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าคนสุดท้ายคือ น.ช.พันธ์ สายทอง ต้องโทษในคดีฆ่าข่มขืนเด็กหญิงวัย 4 ขวบ น.ช.เดชา สุวรรณสุก ต้องโทษคดีฆ่าข่มขืนลูกเลี้ยงวัย 4 ขวบ และน.ช.สุดใจ ชนะ ต้องโทษคดียาเสพติด มีเพชรฆาตที่ชื่อ นายเชาวเรศน์ จารุบุณย์

จากยิงเป้าเป็นฉีดยา...ความเงียบก็คือความตายแบบหนึ่ง

ขั้นตอนการประหารชีวิต ทางเรือนจำจะเบิกตัวนักโทษที่ถูกประหารออกมาก่อนเวลาประหารประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเขียนพินัยกรรมหรือโทรศัพท์สั่งเสียญาติจากนั้นก็จะนำอาหารมื้อสุดท้ายมาให้รับประทาน และนำนักโทษไปฟังพระเทศน์แล้วนำเข้าสู่แดนประหาร ทำการฉีดยา โดยยาหรือสารพิษที่ใช้ฉีด เข็มแรกเป็นยานอนหลับ เข็มที่ 2 เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ และเข็มที่ 3 คือ ยาหยุดการเต้นของหัวใจ หลังจากนักโทษสิ้นใจ แพทย์และคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนอัยการจังหวัด ผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ จะเข้ามาตรวจสอบฐานะสักขีพยานว่านักโทษตายจริง จากนั้นนำนักโทษที่เสียชีวิตใส่ในโลงเย็น ซึ่งคุมอุณหภูมิที่ 28 องศาเซลเซียส ไว้ 12 ชั่วโมง แล้วให้แพทย์ตรวจอีกครั้ง ก่อนจะให้ญาติรับไปบำเพ็ญกุศล ขั้นตอนนับตั้งแต่นำนักโทษเข้าสู่หลักประหารใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที วิธีการฉีดยาเริ่มใช้อย่างแพร่หลาย ที่สหรัฐ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จีน กัวเตมาลา และไทย ซึ่งวิธีการฉีดยาจะมีต้นทุน 200 บาท

ชีวิตรอวันตายของนักโทษเดนตาย

ชีวิตในเรือนจำของผู้ต้องขังที่ถูกประหารชีวิตเป็นชีวิตที่ทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสไม่มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพทุกชนิดที่มีตามรัฐธรรมนูญ โดยในแดนดังกล่าวจะเปิดให้ผู้ต้องขังออกมาทำกิจกรรมในช่วงเช้าเวลา 07.30 น. ถึงเวลา 14.30 น. หลังจากนั้นก็จะปิดแดนและให้นักโทษเข้ามาอยู่ในห้องขังเหมือนเดิมจนกว่าจะถึงวันรุ่งขึ้นของวันต่อไปและวันสิ้นสุดการอยู่บนโลกใบนี้

ก่อนสิ้นลมหายใจของ นักโทษประหาร จากคำบอกเล่าของเพชรฆาต

นักโทษประหารเป็นตายอย่างมีสติ รู้กำหนดลมหายใจจะสิ้นเมื่อไร การที่รู้ตัวก่อนตายทำให้สามารถเตรียมตัวก่อนตาย สามารถทำกิจอะไรก่อนตายได้ อาทิเขียนจดหมายบอกลา ฝากคำพูดครั้งสุดท้าย และแบ่งทรัพย์สมบัติได้ ได้รับประทานอาหารที่อยากกินครั้งสุดท้าย รับฟังเทศน์จากพระภิกษุเพื่อทำจิตใจให้สงบ ตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอเป็นเรื่องธรรมชาติ

ประตูผี วัดบางแพรกใต้

ประตูที่ใช้สำหรับนำศพนักโทษที่ถูกประหารชีวิตออกมาจากแดนประหาร จุดนี้้ถือเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักโทษกับเรื่องของอาถรรพ์ต่าง ๆ และจุดนี้้เองถือเป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนทั่วไปได้ ใช้ชีวิตอย่างมีสติเป็นดีที่สุด จุดจบของร่างจะได้ไม่ต้องถูกนำออกจากช่อง "ประตูผี"

ทั้งนี้ บุคคลที่มีชื่อเสียงซึ่งเป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์แบบสะเทือนขวัญคนในสังคมและถูกคุมขังอยู่ที่คุกบางขวาง อาทิพ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำหรือ ผู้พันตึ๋ง ที่ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในคดีร่วมฆ่า นายปรีณะ ลีพัฒธนะพันธ์ อดีตผู้ว่าฯจ.ยโสธร นพ.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติศาลตัดสินประหารชีวิตคดีฆ่า พ.ญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยา พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูก ตระกูลศรีธนะขันธ์ นายวิศิษฎ์ พึ่งรัศมีมาเฟียตลาดไนท์บาซาร์ จ.เชียงใหม่ หัวหน้าซุ้มมือปืนภาคเหนือ และนายทวี พุทธจันทร์ผู้ต้องขังในคดีจ้างวานฆ่าอดีต ผอ.อสมท.

ปัจจุบันเรือนจำบางขวาง มีผู้ต้องขังรวมทั้งสิ้น 6,338 คน แยกเป็นผู้ต้องขังที่ต้องโทษประหารชีวิตจำนวน 870 คน อยู่ระหว่างอุทธรณ์จำนวน 546 คน อยู่ระหว่างฎีกาจำนวน 220 คน และนักโทษเด็ดขาดรอประหารชีวิต จำนวน 104 คน

คุกบางขวางจึงเสมือนต้องคำสาป ให้ตกเป็นดินแดนสนธยามาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้

การใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท อาจรวมถึงการใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยเพราะความตายที่รู้วัน เวลา แน่นอน มันก็ทรมาน สิ้นหวัง และคงไม่มีความรู้สึกใดจะโหดร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว สำหรับช่วงการเดินจากห้องขังไปยังแดนประหาร


                          พันธวิศย์ เทพจันทร์




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook