ขอสามคำ ผู้ว่า กทม.

ขอสามคำ ผู้ว่า กทม.

ขอสามคำ ผู้ว่า กทม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แล้วก็มาถึงโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.)

3 มีนาคมนี้ ก็จะได้รู้กันเสียทีว่าใครจะได้เข้ามาบริหารเมืองหลวงของประเทศ สำหรับในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งหมด 25 คน ทั้งผู้สมัครที่สังกัดพรรคและผู้สมัครอิสระ ซึ่งต่างกำลังขะมักเขม้นตระเวนบอกเล่านโยบายและเร่งฝีเท้าเดินเคาะประตูตามบ้านขอเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพฯ

หลายคนคงได้ยินและได้ฟังนโยบายหาเสียงผู้ว่าฯกทม.กันมาบ้างแล้ว คราวนี้หาก "ขอสามคำ" ผู้สมัครแต่ละคนจะว่าอย่างไรกันบ้าง

เริ่มจากผู้สมัครหมายเลข 1 วิละ อุดม ผู้สมัครอิสระ เน้นย้ำชัดเจนก่อนใครเพื่อนว่า "ฉะ-เฉียบ-พลัน" ก่อนจะอธิบายขยายความว่า หมายถึง ทำงานอย่างตั้งใจเต็มที่และ ทำงานให้สำเร็จลุล่วงโดยทันทีรวดเร็วถูกต้องและยุติธรรม

ต่อกันที่ผู้สมัครหมายเลข 2 วรัญชัย โชคชนะ ที่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ครึ่งโหล และนับเป็นขาประจำในการเสนอตัวเป็นพ่อเมือง กทม. บอกกลับมาทันทีเมื่อขอสามคำว่า "รู้-แก้-ซื่อ" โดยให้ความหมายว่า รู้-คือ การรู้ปัญหา แก้-คือการแก้ปัญหาได้ และซื่อ-คือซื่อสัตย์สุจริต ไม่ทุจริตและไม่คดโกง

ต่อมาคือผู้ที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.สม่ำเสมอเช่นกัน"ตู่-ติงลี่" หรือ ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ ผู้สมัครหมายเลข 3 บอกว่า "อยู่-เป็น-สุข"โดยมีความหมายว่า เป็นการอวยพรให้กับประชาชนอยากให้คน กทม.อยู่ร่มเย็นเป็นสุข มั่งมีศรีสุข และไม่ทะเลาะกัน

ผู้สมัครหมายเลข 4 โสภณ พรโชคชัย วิทยากรบรรยายด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง กล่าวเหมือนกับเป็นการยืนยันกับชาว กทม.ว่า "ทำได้แน่" ก่อนจะอธิบายว่า ถ้าหากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯกทม.จะสามารถทำงานตามนโยบายที่วางแผนไว้ได้แน่ เพราะมีประสบการณ์จาก การทำงานมาหลาย 10 ปี

ทางด้าน สมิตร สมิทธินันท์ ผู้สมัครหมายเลข 5 มาแปลกกว่าใครเพื่อน เหมือนกับจะเกาะกระแสวิกฤตพลังงานที่ประเทศไทยกำลังประสบ เมื่อขอสามคำ เขาบอกว่า "ประ-หยัด-ไฟ" แล้วอธิบายว่า จะรณรงค์ให้คน กทม.ประหยัดไฟฟ้า และมีนโยบายให้คน กทม.สามารถประหยัดเวลาในการเดินทาง โดยจะแก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อไม่ให้รถติดขัด

นี่ก็อีกหนึ่ง ที่แปลกแหวกล้ำกว่าใครเพื่อน สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 ประกาศลั่นจากการขอสามคำว่า "อย่า-เลือก-ผม!!!" ก่อนจะมีสร้อยซึ่งอยู่ในวงเล็บว่า (ถ้าคุณไม่ใช่คนดี)เกาหัวแกรกๆ มึนงงอยู่พักใหญ่ ก่อนจะตั้งตัวได้ และรีบขอคำอธิบายว่าหมายถึงอะไร ได้รับคำชี้แจงว่า คนที่เลือกสัณหพจน์นั้นจะต้องเป็นคนดี ถ้าไม่ใช่คนดีก็อย่ามาเลือกสัณหพจน์ เพราะคนดีนั้นจะไม่เบียดเบียนคนอื่น และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าจะได้คะแนนเสียงก็จะเอาคะแนนเสียงจากคนดีเท่านั้น

ต่อกันที่ ผู้สมัครหมายเลข 7 เจ้าของธุรกิจอัลลอยชื่อดัง ณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ มาอย่างมั่นใจด้วยคำว่า "ผม-ทำ-ได้" และให้การขยายความว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงสามารถทำได้และแก้ปัญหาได้หมด ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.ในการแก้ปัญหาต่างๆ นั้นสามารถทำได้ทั้งหมด รณรงค์ไปแล้ว สร้างความมั่นอกมั่นใจไปแล้ว แปลกแหวกแนวไปแล้ว

คราวนี้มาถึงขอสามคำที่ล้ำลึกยิ่งกว่าปริศนาธรรม นั่นคือ จากผู้สมัครหมายเลข 8 สุเมธ ตันธนาศิริกุล ให้คำว่า "จุด-เทียน-เปลี่ยน" คือการจุดเทียนเปลี่ยน กทม.ให้ทุกคนได้รวมพลังมีความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ และจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหากได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ลึกซึ้งมั้ยล่ะ?

ในขณะที่ตัวเต็งซึ่งผลโพลนำตลอดตั้งแต่ก่อนสมัคร กระทั่งวันสมัคร และมาถึงโค้งสุดท้าย อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทย เมื่อถามปุ๊บก็สามารถตอบได้ทันที เหมือนเตรียมสามคำนี้ไว้แต่ไหนแต่ไร และเหมือนรู้ว่าจะมีการขอสามคำนี้ ด้วยวลีที่ได้ยินได้ฟังตั้งแต่ เริ่มหาเสียงว่า "ไร้-รอย-ต่อ" เป็นการเน้นย้ำความชัดเจนของตัวเอง แน่นอนไม่ต้องให้เจ้าตัวอธิบายก็คงจะรู้กันดีว่า คือการทำงานร่วมกันระหว่าง กทม.และรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ ไม่มีอุปสรรคในการบริหารงานเพื่อให้ กทม.มีความเจริญก้าวหน้า

ด้านผู้สมัครอิสระที่อาจเป็น "ม้ามืด" ผู้ถูกขนานนามว่า "เจ้าพ่อสื่อ" โฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 10 ให้สามคำว่า "หยุด-ขัด-แย้ง" โดยอธิบายว่า วันนี้ประเทศบอบช้ำมามากแล้ว จากความขัดแย้งทางการเมือง อยากให้ กทม.หยุดความขัดแย้งทางการเมือง ให้ผู้สมัครอิสระได้เป็นผู้ว่าฯกทม. หยุดศึกภายในเพื่อสู้ศึกภายนอก เพื่อนำพากรุงเทพฯสู่การเป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น

มาฟังผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงกันบ้างจงจิตร์ หิรัญลาภ หมายเลข 12 ที่ให้สามคำว่า "กล้า-เก่ง-ดี" คือ กล้าคิดกล้าทำ เก่ง คือ คุณสมบัติของตัวเอง และดีเป็นคุณสมบัติของตัวเองที่จะเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่เป็นคนดีสะอาดบริสุทธิ์ ซื่อสัตย์ยุติธรรม และจะต้องทำงานโปร่งใส

ส่วนผู้สมัครหมายเลข 13 วศิน ภิรมย์ มาแบบออกแนวมองไกลถึงอนาคต ด้วยคำว่า "ก้าว-ล้ำ-หน้า" คือการมุ่งมั่นตั้งใจ ทำงานพัฒนา กทม.เพื่อพลิกโฉม กทม.ให้ก้าวล้ำหน้าไปถึง 50 ปีภายใน 4 ปีข้างหน้า

ประทีป วัชรโชคเกษม ผู้สมัครหมายเลข 14 ไม่พูดพร่ำทำเพลง ประกาศคุณสมบัติของตัวเองออกมาทันที ไม่ต้องนิยามอย่างอื่น ให้เสียเวลา เขาบอกว่า "ผม-ซื่อ-สัตย์" เขาบอกว่า เป็นคุณสมบัติของตัวเองเพราะคนที่จะเป็นผู้ว่าฯกทม.จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต และสามารถแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเดือดร้อนได้

ต่อมาคือ ผู้สมัครหมายเลข 15 จำรัส อินทุมาร คนนี้อาจจะผิดกติกาเกมขอสามคำไปสักเล็กน้อย แต่ด้วยความที่คำที่เขาอยากให้ไม่สามารถตัดอะไรออกไปได้ เพราะจะทำให้เสียความหมาย ดังนั้น จึงยอมหยวนๆ ให้ สำหรับคำว่า "เศรษฐกิจ-พอ-เพียง"โดยอธิบายว่าคือ การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้บริหาร กทม. เพื่อให้คน กทม.อยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืนตลอดไป

มาถึงอีกหนึ่งตัวเต็งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นใครไม่ได้ นอกจากแชมป์เก่าที่กลับมาป้องกันเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครหมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ก็ดูจะเกินสามคำอีก สำหรับคำที่ให้มา แต่ก็อีกเช่นกัน เพื่อให้คงความหมายครบถ้วน และยืนยันถึงการจะสานต่อสิ่งที่เคยทำมา"คุณชายหมู" จึงให้คำว่า "ทำ-แทน-ไม่ได้" หมายถึง คนอื่นจะมาเป็นผู้ว่าฯกทม. แทนตนเองไม่ได้ และไม่มีใครมาทำหน้าที่นี้ ได้ดีที่สุดเท่ากับตัวเอง และขอทำหน้าที่ผู้ว่าฯกทม.นี้เองอีกครั้ง

ส่วนทางด้านขวัญใจเด็กแนวอย่าง สุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 ยังคงไม่ทิ้งลายความแนว "ดีเจโต้" เสนอคำว่า "สิบ-เจ็ด-สด" ฟังแล้วก็ออกจะแนวๆ งงๆ มึนๆ ก่อนจะได้รับคำอธิบายว่า ผู้สมัครหมายเลข 17 ที่จะทำให้ กทม.นั้นสดใสแน่นอน หากเลือกหมายเลข 17

มาถึงผู้หญิงอีกคนหนึ่ง คือ นันท์นภัส โกไศยกานนท์ ผู้สมัครหมายเลข 18 มาแบบ ขายตรง ไม่ต้องนิยามอะไรให้มากมาย เธอให้สามคำมาว่า "เบอร์-สิบ-แปด"

ขณะที่ผู้สมัครหมายเลข 19 สุขุม วงประสิทธิ เล่นเอาอึ้ง ทึ่ง หลอนเล็กน้อย เมื่อให้สามคำที่ต้องการ ที่คำว่า "เท-ว-ดา" เพราะจะทำให้คนกรุงเทพฯ เป็นเทวดา และรู้จักที่จะแบ่งปันรู้จักเสียสละ และจะทำให้ กทม.เป็นเมืองแห่งสวรรค์บรรดาเหล่าทวยเทพทั้งหลายเตรียมร่ายรำ

สำหรับ กฤษณ์ สุริยผล ผู้สมัครหมายเลข 20 ที่ให้สามคำมาแบบไม่รู้ว่าจะแบ่งนับ 1-2-3 ตรงไหน ก็เลยต้องลงให้ทั้งหมดที่คำว่า "3 ส. 1 ป." เขาอธิบายว่า 3 ส. คือ สะดวก สว่าง สะอาด และ 1 ป. คือ ปลอดภัย โดยจะให้คน กทม.มีความสะดวกในการเดินทาง มีความสว่างทั่วทุกมุมของ กทม. มีถนนที่สะอาดทุกตรอกซอกซอย และมีความปลอดภัยโดยการติดกล้องซีซีทีวีเพื่อความปลอดภัยของคน กทม.

คนต่อมา นี่เกินสามคำอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเป็นคำยืนยันของผู้สมัคร หมายเลข 22 ศุภชัย เขษมวงศ์ ก็อนุโลมให้ด้วยคำว่า "เพื่อลูกหลานของเรา" ซึ่งหมายถึง ต้องการแก้ไขปัญหาของคน กทม.อย่างจริงจัง และให้อยู่อย่างปกติสุข เพื่อส่งต่ออนาคตให้กับลูกหลานของเรา

ปิดท้ายด้วย ผู้สมัครหมายเลข 24 "วิทยา จังกอบพัฒนา" นี่ก็แหวกแนวและสร้างความงุนงงอยู่ไม่น้อย เพราะสามคำของเขาคือ "นอร์-มัง-ดี" เพราะต้องการให้วันที่ 3 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เป็นเหมือน "วันดี-เดย์" ตามปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ของกองกำลังสัมพันธมิตรที่ขึ้นยึดหัวหาดนอร์มังดีในฝรั่งเศส ซึ่งกองทัพเยอรมนียึดครองอยู่ จนในที่สุด ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เป็นผู้ชนะสงครามโดยวิทยาบอกว่า เปรียบเหมือนเป็นวันดีเดย์ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ออกมาใช้เสียงใช้สิทธิอย่างเต็มที่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อเลือกคนดีเข้ามาบริหาร กทม.เป็นสามคำที่ให้ความรู้ประวัติศาสตร์โลกช่วงหนึ่งได้ดีทีเดียว

นี่คือ "ขอสามคำ" จาก ว่าที่ "พ่อเมือง กทม." เป็นวลีสั้นๆ ที่เรียกอารมณ์สนุกสนานครื้นเครงในช่วง "โค้งสุดท้าย" ศึกชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯกทม. ที่เปรียบเสมือนเป็นการหาเสียงไปในคราวเดียวกัน ส่วนใครจะเป็น ผู้ว่าฯกทม.คนต่อไป 3 มีนาคมนี้ รู้กัน...


เลือกตั้งผู้ว่า กทม
เกาะติด เลือกตั้งผู้ว่า กทม 2556 ที่นี่ >>

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook