เพิ่มค่าครองชีพขรก.-รัฐรับภาระประกันสังคมแทนลูกจ้าง

เพิ่มค่าครองชีพขรก.-รัฐรับภาระประกันสังคมแทนลูกจ้าง

เพิ่มค่าครองชีพขรก.-รัฐรับภาระประกันสังคมแทนลูกจ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อภิสิทธิ์ เข็นมาตรการเพิ่มค่าครองชีพ ขรก.-พนง.เอกชน รัฐจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแทนลูกจ้าง สั่งกองทุนประกันสังคม ขยายเวลาจ่ายเงินอุ้มคนเตะฝุ่นจาก 6 เป็น 9 เดือน พร้อมเล็งกู้ธนาคารโลกจ้างงานชั่วคราวเพิ่ม เชื่อแผนกระตุ้นทำ ศก.ฟื้นช่วงไตรมาส 3 เริ่มมีข่าวดีสำหรับประชาชนที่เดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำออกมาเป็นระยะๆ เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง เศรษฐกิจกับการเมืองไทย สำหรับหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 13 ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการตุลาการ ยอมรับว่า กระทรวงการคลังกำลังเตรียมการกู้เงินต่างประเทศเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงแรกที่มีผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ การกู้เงินต่างประเทศจะเป็นช่องทางที่จะนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ เพราะกรอบที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นเงินกู้ในประเทศเท่านั้น การกู้เงินต่างประเทศต้องพิจารณาเงื่อนไข ขั้นตอนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงแรกที่ดำเนินการนั้นจะรองรับเศรษฐกิจไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะผันผวนกว่านี้หรือไม่ นายกฯ กล่าว ทั้งนี้เงินกู้ต่างประเทศไม่จำเป็นต้องนำมาใช้เฉพาะลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกท์เท่านั้น แต่อาจนำมาใช้ในโครงการขนาดเล็กก็ได้ แต่ต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะระบุว่ารัฐบาลจะกู้เงินเท่าใด เพราะต้องดูตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมก่อน เล็งเพิ่มค่าครองชีพข้าราชการชั้นผู้น้อย ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังจะมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้ประจำ ซึ่งเป็น 1 ใน 9 กลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อยุติว่าจะมีมาตรการใดและมีรายละเอียดอะไรบ้าง โดยการช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อย และพนักงานเอกชน ซึ่งจะดูแลเรื่องการเพิ่มรายได้โดยตรง โดยภาคข้าราชการจะเพิ่มค่าครองชีพให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ส่วนพนักงานเอกชนนั้นจะเข้าดูแลเงินประกันสังคม โดยรัฐบาลจะรับภาระจ่ายเงินสมทบประกันสังคมแทนพนักงานเอกชน แต่ไม่รวมถึงการสมทบของนายจ้าง นอกจากนี้จะกำหนดมาตรการภาษีดูแลกลุ่มผู้มีรายได้ประจำทั้งหมด คาดว่าจะสรุปการช่วยเหลือผู้มีรายได้ประจำในวันที่ 13-14 มกราคมนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก เพราะหากการเมืองวุ่นวายจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา กระทบต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจอย่างมาก หรือหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยรุนแรงได้ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เชื่อเศรษฐกิจกระเตื้องไตรมาส 3 อย่างไรก็ตาม แม้ภาคการเงินของไทยจะไม่เสียหายจากวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐ แต่ภาคเศรษฐกิจแท้จริงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อรายได้ รวมถึงการจ้างงานในประเทศนั้น ทำให้สถาบันการเงินของไทย แม้จะมีเงินฝากอยู่ แต่ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2551 น่าจะติดลบ แต่ภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปี 2551 จะยังไม่ติดลบ "เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ติดลบแน่นอน จะมีผลต่อเนื่องต่อไปถึงเศรษฐกิจไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ ซึ่งตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสองไตรมาสนี้ยอมรับว่าค่อนข้างหนักหน่อย และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องรับไปแก้ไข นายกฯ กล่าว นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หลักคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คือทำให้คนมีกำลังซื้อ ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบ แต่ยอมรับว่ารัฐบาลมีข้อจำกัดด้านวินัยการคลัง ทำให้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำกัด โดยรัฐบาลพยายามผลักดันเศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุด หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น เพิ่มงบกลางปี 1 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องในไตรมาสที่ 3 หากเศรษฐกิจโลกไม่ผันผวนไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ เรามีข้อจำกัดและต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยปีงบประมาณ 2551 ขาดดุลสูงสุด 4 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลทำงบขาดดุลไปแล้ว 2.5 แสนล้านบาท กระทรวงการคลังคาดจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า 1 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลเพิ่มงบกลางปีได้ไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนการกู้เงินจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ยังเหลือช่องที่จะกู้เงินได้อีก 6-8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ยืดเวลาอุ้มคนตกงานเป็น 9 เดือน ในส่วนของ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมพิจารณาจัดสรรงบกลางปี 2552 จำนวน 1 แสนล้านบาท ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลัง แหล่งข่าวจากที่ประชุมกล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อยุติเกี่ยวกับการจัดสรรงบที่จะใช้แก้ปัญหาการว่างงานโครงการฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 5 แสนคนแล้ว โดยสำนักงบประมาณพิจารณาว่าวงเงินที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยคำนวณจากกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3-4 เดือน จะมีงบประมาณที่เหมาะสมต่อคนอยู่ที่ 2 หมื่นบาท แหล่งข่าวระบุด้วยว่า แพ็คเกจของรัฐบาลที่จะประกาศในที่ 13 มกราคมนี้ กองทุนประกันสังคมจะขยายเวลาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจาก 6 เดือน เป็น 9 เดือนด้วย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายละเอียดแล้ว เห็นว่างบที่เหมาะสมโครงการฝึกอาชีพน่าจะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1.7-2 หมื่นล้านบาท เล็งกู้เงินเวิลด์แบงก์กระตุ้น ศก. แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการพิจารณาเงื่อนไขเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ระหว่างประเทศ พบว่าแหล่งเงินกู้ที่สอดคล้องโครงการจ้างงานชั่วคราว เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนโดยเร็ว คือ กู้เงินจากธนาคารโลก ซึ่งจะมีเงื่อนไขแตกต่างจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ที่กำหนดเงื่อนไขเงินกู้เพื่อลงทุนโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินกู้ "การกู้เงินจากธนาคารโลก รัฐบาลสามารถนำเงินกู้มาใช้แก้ปัญหาเชิงสังคมได้มากกว่ากู้จากที่อื่น ที่สำคัญคือรัฐบาลยังมีวงเงินกู้โครงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม (SAL) ของเวิลด์แบงก์เหลืออีก 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท จึงง่ายต่อการเจรจา" ขานรับลดเงินสมทบกองทุน นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน มอบให้คณะกรรมการประกันสังคม พิจารณาลดค่าครองชีพของนายจ้าง ลูกจ้าง โดยลดส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างว่า บอร์ด สปส.ต้องหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรายละเอียด การแก้ไขปัญหาการว่างงานจะต้องหลายมาตรการ ซึ่งต้องพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น ภายใต้กรอบนโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม เป็นหลักหากการลดเงินสมทบมีส่วนช่วยในการลดการเลิกจ้างและกระทบต่อแรงงานน้อยที่สุด น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการยกเว้นเก็บเงินสมทบกองทุนประกันฯ ของลูกจ้างว่า เป็นเรื่องที่ดี หากทำได้จริง แต่ต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะนำเงินส่วนไหนมาช่วย มีระยะเวลาเท่าใด มีเงื่อนไขอย่างไร หากสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้จริงก็จะบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประกันตนได้ เป็นการช่วยเหลือในฝ่ายลูกจ้างที่กำลังประสบปัญหาต่างๆ เช่นเดียวกับ นายชาลี ลอยสูง เลขาธิการสหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดเงินสมทบลูกจ้างนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าทำจริงจะช่วยลูกจ้างได้ แต่ในระยะยาวลูกจ้างอาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต รวมถึงเงินชราภาพด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook