รักการอ่าน ปฐมบทแห่งชีวิต

รักการอ่าน ปฐมบทแห่งชีวิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ในวันที่ 25 พ.ย. 2514 ความว่า หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้าง ทำมา คิดมา แต่โบราณกาล จนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งสำคัญ เป็นคล้าย ๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงมุ่งปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน เพื่อสร้างความรู้ความทรงจำและนิสัยรักการอ่าน ให้ติดตัวกระทั่งเติบใหญ่ พญ.ศิริกุล อิหรานุรักษ์ สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สมองคนเราเติบโตมากที่สุดถึงร้อยละ 87 ในช่วงอายุ 0-6 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงทองที่จะส่งเสริมพัฒนาการของเด็กมากที่สุด การอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นการพัฒนาทักษะชีวิต ขณะที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพให้ฟัง เด็กจะฟังและไล่สายตามองดูภาพ พวกเขาไม่ได้ดูอย่างคนนอก แต่ดูอย่างคนในเล่ม เด็กจะจินตนาการตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของหนังสือ เป็นโลกเดียวกันกับตัวละครที่ชื่นชอบและพร้อมจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากตัวละครในโลกหนังสือ กลับออกมาใช้ในโลกแห่งชีวิตจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็ก ๆ จะใช้คำพูดและภาษาแบบเดียวกับในหนังสือ วาดภาพเลียนแบบหนังสือและหัดเขียนตัวอักษรในแบบเดียวกันกับที่เคยเห็น อีกทั้งยังเลียนแบบตัวละครที่ประทับใจ มีความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กกำลังฟังหรือฟังจบแล้ว หากมีผู้ใหญ่แนะนำส่งเสริมอย่างใกล้ชิดเสมอ เท่ากับเป็นการฝึกทักษะชีวิตให้แก่เด็ก ๆ ปิ่นประทีป กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ผู้ใช้ชีวิตกว่า 30 ปีคลุกคลีกับการทำงานด้านพัฒนาเด็กมาตลอด กล่าวว่า เหตุและผลที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กส่งเสริมและสนับสนุนให้พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง เพราะในวัยแรกเกิด-2 ขวบปีแรกของลูก เป็นช่วงที่ชีวิตสร้างพื้นฐานของการสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจต่อโลกภายนอก จึงถือเป็นช่วงสำคัญแห่งชีวิต การที่พ่อแม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดจะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ด้วยอ้อมกอด การสบตา การลูบหัว การสัมผัส พูดคุยและความใกล้ชิดด้วยการเล่น การเล่านิทานร่วมกันจะทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เกิดความมั่นใจว่า เมื่อมีอะไรมา กระทบจะมีพ่อแม่อยู่ใกล้ ๆ กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก แนะนำว่าน้ำเสียงที่ลูกได้ยิน ภาพที่เห็น จะช่วยสร้างจินตนาการได้อย่างแนบเนียน ส่งผลให้เซลล์สมองของลูกทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น ความคิดจากหนังสือหรือนิทานจะสร้างโลกแห่งการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดจินตนาการอย่างกว้างไกลไม่สิ้นสุด ช่วงเวลาแห่งการเล่านิทานเป็นช่วงเวลาหรรษาที่ลูกตั้งตารอ เพราะเป็นช่วงสำคัญที่ลูกจะได้สัมผัสความรัก ความอบอุ่นของพ่อแม่ผ่านน้ำเสียงที่คุ้นชิน เพราะไม่มีพ่อแม่สักคนที่เล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังด้วยอารมณ์ที่โกรธเกรี้ยว ดุดัน มีแต่การสื่อสารด้วยความอ่อนโยน ด้วยความรัก. คุณประโยชน์จากการอ่าน มูลนิธิหนังสือ ระบุเหตุผลที่ทำให้เด็กนิยมรักการอ่านว่า เพราะหนังสือเปรียบเสมือนของเล่นและเพื่อน มีตัวละคร มีสีสันสดใส มี เรื่องราวที่สนุกสนาน เป็นเหมือนครูที่สอนให้เด็กรู้จักสิ่งใหม่ ๆ มย สามารถสร้างความอบอุ่นให้กับเด็กจากน้ำเสียงอ่อนโยนของพ่อแม่ที่อ่านให้ฟัง อีกทั้งยังทำให้เด็กเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพราะได้เลียนแบบทำท่าทางการอ่านเหมือนผู้ใหญ่ เสมือนอ่านได้เก่งจริง ๆ นอกจากนี้ นิทานหรือหนังสือยังมีบทบาทช่วยส่งเสริมพัฒนา การเด็กด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านความรู้และสติปัญญา มีการเรียนรู้ครบ 3 มิติ คือ รู้ลึก รู้กว้าง และรู้ไกล ทำให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ เลือกสิ่งที่ดี ปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี มีเหตุมีผล มีทัศนคติในการมองโลกที่ถูกต้อง, ด้านสุขภาพ ทำให้เด็กมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี เป็นคนอารมณ์ดี เข้ากับคนอื่นได้ง่าย ช่วยสร้างสมาธิให้กับเด็ก, ด้านลักษณะชีวิต สร้างความมีวินัย เสียสละ อดทน ขยันหมั่นเพียร มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ บ่มเพาะความเป็นคนมีวิสัยทัศน์และรักการเรียนรู้, ด้านบุคลิกภาพ ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น มีศรัทธาต่อชีวิต มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้รักษาตน มีความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน มีมารยาทดี มีความเป็นผู้นำ กล้าแสดงความ คิดเห็น อีกทั้งนิทานหรือหนังสือช่วย พัฒนาศักยภาพของเด็กด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลาย ๆ ด้าน เป็นตัวกระตุ้นหาความถนัดหรือความสามารถในตนเอง ที่สำคัญ ช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษา ดังนั้นการอ่านไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือหรือสิ่งใด ๆ ล้วนแต่มีความสำคัญในการสร้างพฤติกรรมแห่งการ เรียนรู้ตลอดชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook