สธ.ทุ่มงบกว่า 1.2 พันล้านบ. ปั้นเด็กสูง 175 ซม.-ไอคิว 110 แจกการ์ตูน พระมหาชนก

สธ.ทุ่มงบกว่า 1.2 พันล้านบ. ปั้นเด็กสูง 175 ซม.-ไอคิว 110 แจกการ์ตูน พระมหาชนก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว สธ. มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2552 ว่า ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552 ต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ให้เด็กไทยรักการอ่าน ด้วยการที่สธ.จะดำเนินโครงการหนังสือเล่มแรก หรือบุ๊ก สตาร์ท ด้วยการมอบการ์ตูนพระมหาชนกให้เป็นของขวัญและหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กที่เกิดในวันที่ 10 มกราคม 2552 ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ โดยจะประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทุกคนให้สำรวจจำนวนเด็กเกิดใหม่ในวันดังกล่าว จากนั้นสธ.จะจัดส่งหนังสือเล่มแรกผ่านอสม.และอสม.จะต้องรับเป็นแม่คนที่สองของเด็กไปเยี่ยมเยียน เล่านิทานและให้ความรู้เลี้ยงดูบุตรแก่พ่อแม่มือใหม่คาดว่าหนังสือจะส่งถึงมือเด็กภายใน 1 เดือน นับจากวันที่เด็กเกิด

การที่เด็กได้สัมผัสกับหนังสือโดยผ่านการเล่านิทานของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดด้วยกลวิธีต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิดหรืออยู่ในครรภ์ จนกระทั่งถึงวัยอ่านได้ด้วยตนเอง จะช่วยปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่าน มีพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจเหมาะสมตามวัย เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวอีกว่า ไทยมีหนังสือดีที่เหมาะสมกับเด็กจำนวนมาก แต่เลือกมอบหนังสือพระมหาชนกฉบับการ์ตูน เพราะต้องการให้รับรู้ว่าคนไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ และซึมซับเรื่องของความเพียร ขยัน อดทนตั้งแต่เด็กจะได้ติดตัวเขาไปจนโต

// //

รมว.สธ.กล่าวต่อไปว่า สธ.ได้จัดทำโครงการพิเศษ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้เด็กไทยทุกคน เป้าหมายสำคัญคือให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยแบบบูรณาการ ตั้งเป้าเด็กไทยที่เกิดใหม่ เมื่ออายุ 14-15 ปี จะต้องมีความสูง 175 เซนติเมตรเป็นอย่างต่ำ ไม่อ้วน มีไอคิวเฉลี่ย 110 จุด มีจิตใจดี รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยมีความสูงลี่ย 165 เซนติเมตร มีไอคิวเฉลี่ย 103 จุด

นายวิทยากล่าวด้วยว่า จากการประเมินต้นทุนของเด็กไทยที่ผ่านมาพบว่า ยังไม่ทัดเทียมกับสากล ปัญหาที่พบตั้งแต่เริ่มคลอด ได้แก่ เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานคือ 2,500 กรัม มีปีละเกือบ 9 หมื่นราย เด็กกลุ่มนี้เกิดจากการขาดสารอาหารขณะอยู่ในครรภ์ แม่ขาดวิตามินเอ เหล็ก กรดโฟลิก และสังกะสี และทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้เสียชีวิตง่ายในช่วง 1 เดือนแรก เจ็บป่วยง่าย น้ำตาลในเลือดต่ำ ปอดบวม มีพัฒนาการล่าช้า และเมื่อโตขึ้นจะเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ที่สำคัญ คือ เบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ

นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียพบว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความรักและอบอุ่นจะสามารถช่วยเพิ่มทั้งไอคิวและอีคิวให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเล่านิทานหรือให้เด็กฟังเพลงจะยิ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็กเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การมอบหนังสือเล่มแรกให้แก่เด็กจะทำให้เด็กไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รักการอ่าน จิตใจดี ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจจะสนับสนุนโครงการนี้ติดต่อได้ที่สำนักงานปลัดสธ.โทร.0-2590-2028

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สธ.มีโครงการพิเศษที่ต้องการให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญานั้น ในปี 2552 กรมอนามัยได้จัดงบ 1,200 ล้านบาท เริ่มดูแลตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ โดยจะให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ซึ่งมีปีละ 8 แสนคน กินวิตามินรวม ที่มีสารอาหารสำคัญ ได้แก่ กรดโฟลิก สังกะสี วิตามินเอ แคลเซียม ไอโอดีน กินยาเม็ดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก อย่างละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง จนกระทั่งครรภ์ครบกำหนด 9 เดือนฟรี ทั้งนี้ ขณะนี้คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งพร้อมให้บริการแล้ว อีกทั้งในปี 2552 กรมอนามัยจะผลิตนิทานแจกศูนย์เด็กเล็ก 3 หมื่นแห่ง จำนวน 1 แสนเล่ม

นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาและอีคิวของลูกได้แก่ 1.รักลูกให้สัมผัส กอดรัดกันทุกวัน 2.ขยันถามอยู่เป็นนิจ ช่วยลูกคิดหาคำตอบ 3.ครอบครัวนักอ่าน รอบบ้านีหนังสือ 4.หมั่นซื้อนมให้ลูก ปลูกนิสัยออกกำลังกาย และ 5.เสริมปัญญา ท้าทายลูกด้วยเกมวางแผน

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะทำโครงการป้องกันโรคติดเชื้อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี เพื่อลดโรคติดต่อยอดฮิตในเด็กเล็ก 3 โรค ได้แก่ โรคมือเท้าปาก โรคปอดบวม และอุจจาระร่วง ซึ่งยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิผลดี ทำให้มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยจาก 3 โรคนี้ปีละกว่า 1 แสนราย โดยจะพัฒนาการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยง และผลิตนิทานการ์ตูนสอนป้องกันโรคเป็นครั้งแรกในไทย 2,000 เล่มและมีเพลงเด็กๆ เพื่อแสดงการป้องกันโรคง่ายๆ หากได้ผลดีจะขยายผลทั่วประเทศ

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ได้ให้บริการคัดกรองทารกแรกเกิด 8 แสนรายในแต่ละปี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเป็นปัญญาอ่อน จากสาเหตุภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด โดยแต่ละปีป้องกันได้ปีละ 500 คนลดการสูญเสียปีละ 500-600 ล้านบาท และทำโครงการ อาหารปลอดภัย เด็กไทยฉลาด ช่วยป้องกันเด็กป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษ

ตะลุยข่าว : THE GREEN POLICE กองปราบฯ สู่ศตวรรษที่ 21

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกสามารถระงับยับยั้งปัญหาอาชญากรรมให้ลดลงและควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ ตรงกันข้ามกับประเทศไทย กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีการกล่าวถึงในระดับนานาชาติว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook