ถกร่วมแก้รธน. ยังหารือปมเร่งผ่านม.5-สมศักดิ์ยันเป็นกลาง

ถกร่วมแก้รธน. ยังหารือปมเร่งผ่านม.5-สมศักดิ์ยันเป็นกลาง

ถกร่วมแก้รธน. ยังหารือปมเร่งผ่านม.5-สมศักดิ์ยันเป็นกลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 แล้ว ขณะ ''สมศักดิ์'' ยัน เป็นกลาง ปัดรับใบสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ พ้อคนด่ายื้อแก้รธน.ปรองดอง ด้าน ปชป. ยื่น 141 ชื่อชงถอดถอน ''นิคม''

บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระที่ 2 ในมาตราที่ 6 ว่าด้วยสมาชิกภาพของวุฒิสภา ที่จะเริ่มการประชุมในเวลา 14.00 น. ล่าสุดขณะนี้สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา เดินทางมาประชุมกันอย่างคึกคัก แต่ประธานการประชุม ยังไม่กดออดเรียกประชุม ซึ่งวันนี้นับเป็นวันที่ 8 แล้ว ของการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามต้องจับตาดูว่า เมื่อเปิดการประชุมแล้ว ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน จะประท้วงการทำหน้าที่ของ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ที่มีการรวบรัดลงมติ ในมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 กันยายน และจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ ในขณะเดียวกันมีรายงานว่าในระหว่างการประชุมวุฒิสภา โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีวุฒิสภาท่านหนึ่ง ได้เปิดดูภาพอนาจารในโทรศัพท์มือถือระหว่างการประชุม วุฒิสภา

ขณะนี้ ที่ประชุมได้มีการเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเวลา 14.17 น. โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา

ซึ่งเมื่อเปิดประชุมสภาขึ้น ประธานรัฐสภา ก็ได้ดำเนินการประชุมเปิดการอภิปราย ในส่วนของมาตราที่ 6 เกี่ยวกับการแก้ไขคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภาเมื่อสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพลง หลังจากที่ ที่ประชุมได้มีการผ่านการพิจารณาในส่วนของมาตราที่ 5 เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้ผู้นำฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นหารือกับประธานรัฐสภา เรียกร้องให้ มีการทบทวนคำวินิจฉัยของ นายนิคม ไวยรัชพานิช ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา ในการลงมติและปิดการอภิปรายในส่วนมาตรา 5 ด้วย

เนื่องจากมองว่า การลงมติดังกล่าว ขัดต่อคำวินิจฉัยของ นายสมศักดิ์ ที่ได้วินิจฉัยไว้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ขณะอภิปรายในมาตรา 4 ที่มีผู้ขอเสนอให้มีการปิดการอภิปราย เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในมาตรา 5 โดยขณะนั้น นายสมศักดิ์ ได้วินิจฉัยว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการปิดการอภิปรายนั้น ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 99 พร้อมมองว่า การลงมติมาตรา 5 เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมานั้น เป็นไปอย่างไม่ชอบธรรม มีการเร่งรัดและวินิจฉัยที่ผิดพลาด เนื่องจาก ฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอให้มีการปิดอภิปราย แต่ นายนิคม กลับวินิจฉัยให้ลงมติ

ซึ่งบรรยากาศในขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถอภิปรายในส่วนของมาตราที่ 6 ได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการหารือ และการประท้วงของฝ่ายค้าน กับประเด็นเกี่ยวกับการลงมติในส่วนของมาตรา 5 อย่างไม่ชอบธรรม

บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม
เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระที่ 2 ในมาตราที่ 6 ว่าด้วยสมาชิกภาพของวุฒิสภา ล่าสุดยังอยู่ในช่วงของการหารือ ซึ่งผ่านมากว่า 1 ชั่วโมงแล้ว โดยก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้เปิดโอกาสให้หารือถึงการทำหน้าที่ของ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธาน ที่รวบรัดลงมติในมาตรา 5 เมื่อวันที่ 4 กันยายน ซึ่ง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายว่า การลงมติดังกล่าวนั้น ผิดข้อบังคับการประชุม และผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังมีผู้ที่เสนอแปรญัตติยังไม่ได้อภิปราย ดังนั้น จึงไม่สามารถปิดอภิปรายและลงมติได้ และขอให้ประธานทำหน้าที่ตามข้อบังคับการประชุม อย่างเคร่งครัด

ในขณะที่ ส.ส.รัฐบาล ส่วนใหญ่ ให้ความเห็นว่า การทำหน้าที่ของ นายนิคม ทำถูกต้องตามขอบังคับ และให้ประธานดำเนินการประชุมต่อไป

 

ส.ว.กระบี่ปัดดูรูปโป๊ในสภา อ้างรูปหลานสาว

นายภิญโญ สายนุ้ย ส.ว.กระบี่ เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีภาพอื้อฉาว ตนเองนั่งดูรูปโป๊ ขณะประชุมวุฒิสภา เมื่อช่วงที่ผ่านมานี้ ว่า ภาพที่ดูนั้นไม่ใช่รูปโป๊อย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นการดูรูปหลานสาวของตนเอง อีกทั้ง ตนเองก็ใช้เวลาดูรูปภาพเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น จึงอยากให้ช่วยแก้ข่าวดังกล่าวให้ เพราะไม่ทราบภาพหลุดออกไปได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนเองจะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่อาคารรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้กระทำอย่างที่ข่าวกล่าวอ้าง

 

''สมศักดิ์'' ยัน เป็นกลางปัดรับใบสั่ง ''ทักษิณ'' 

บรรยากาศในการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไป เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของส.ว. ขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือกรณีที่นายนิคม ไวรัชพานิช รองประธานรัฐสภา รวบรัดการลงมติในมาตรา 5 เมื่อวันที่4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยล่าสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้วินิจฉัยว่า ไม่สามารถแก้ไขการลงมติในมาตรา5 ได้ เพราะไม่มีอำนาจ จึงขอดำเนินการพิจารณาในมาตรา 6 ต่อไป พร้อมเปิดใจถึงการทำหน้าที่กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง รับคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้เร่งเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายปรองดอง

โดยขอยืนยันว่า ตนเองทำหน้าที่อย่างเป็นกลางที่สุด หากสมาชิกมองว่า เร่งรัดจริง ให้กลับไปดูว่าการพิจารณากฎหมายสำคัญ อย่างเช่น การลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่จะนำไปสู่การตั้ง สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือแม้แต่การเดินหน้าออกกฎหมายปรองดอง ที่ได้มีการชะลอออกไปก่อน เพื่อบรรยากาศบ้านเมือง ท่ามกลางกลุ่มสนับสนุนและคัดค้าน พร้อมกล่าวอีกว่าการทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน ตนไม่สามารถก้าวล่วงได้

 

นิคมไม่กังวลถูกถอดปธ.วุฒิยันทำถูกข้อบังคับ

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ร่วมลงรายชื่อเพื่อถอดถอนตน
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 และ 271 ฐานกระทำความผิดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา
ซึ่งลิดรอนสิทธิ์ของสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ์อภิปรายได้อย่างครบถ้วน ว่า ไม่รู้สึก
กังวล เพราะทำหน้าที่ตามข้อบังคับ เพื่อให้การประชุมเดินหน้าไปตามขั้นตอน

ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า แม้การยื่นถอดถอนครั้งนี้ ตนต้องยื่นถอดถอนตนเองในฐานะประธานวุฒิสภา ก็ไม่เป็น
ปัญหา เพราะเจ้าหน้าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว ซึ่งต้องดูว่า การกระทำของตนเข้าข่ายในฐานความผิดตามมาตรา 270 ที่บัญญัติไว้ 6 ข้อ หรือไม่ และเป็นหน้าที่ของ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะต้องพิจารณาต่อไป

ส่วนบรรยากาศของการประชุมร่วมรัฐสภานั้น ไม่มีอะไรน่ากังวล หากทุกคนรักษากติกา ซึ่งการประชุมหลังจากนี้ หากมีการอภิปรายซ้ำหรือวนเวียน ตนจะเสนอให้ทำป้ายเตือนว่า มีการอภิปรายซ้ำไปแล้ว

 

ถกร่วมรัฐสภาเริ่มพิจารณา ม.6 แล้ว

บรรยากาศการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม
เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา วาระที่ 2 ล่าสุดขณะนี้ ได้เริ่มการพิจารณาในมาตรา 6 แล้ว โดยก่อนหน้านี้ หลังจากที่ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการลงมติในมาตรา 5 ได้ เพราะถือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ 3 แนวทาง การทำหน้าที่ของ นายสมศักดิ์ เพื่อให้มีบรรทัดฐานการประชุม เพื่อกรณีที่ นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ขึ้นหน้าที่จะได้ไม่มีปัญหา

คือ 1.ให้ นายสมศักดิ์ ทำหน้าที่ตลอดการประชุม 2.ให้ นายสมศักดิ์ และ นายนิคม ขึ้นมาทำหน้าที่พร้อมกัน และ 3.ให้ประธานและรองประธาน ไปหารือพูดคุยกันว่า จะมีแนวทางการทำหน้าที่อย่างไร

ทำให้ นายสมศักดิ์ ได้สั่งพักการประชุม เป็นเวลา 30 นาที เพื่อไปหารือกับ นายนิคม และเมื่อกลับมาประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์ ได้แจ้งผลการหารือต่อที่ประชุมว่า จะให้ผู้ที่แปรญัตติไว้ได้อภิปรายทุกประเด็น แต่ขออย่าให้ซ้ำ

 

ประชุมร่วมรัฐสภาเข้าสู่รธน.ม.6-ธนาสส.ปชป.อภิปรายคนแรก

ภายหลังที่มีการประท้วงหารือมากกว่า 2 ชั่วโมง ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคงมีปัญหาในส่วนของการลงมติมาตรา 5 เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยล่าสุดที่ประชุมในขณะนี้ ได้เริ่มมีการอภิปรายในส่วนมาตราที่ 6 แล้ว ซึ่ง นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก โดยที่นายธนา ขอแปรญัตติตัดมาตราที่ 6 ออกทั้งมาตรา ในการกำหนดเงื่อนไขของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาที่จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ หากหมดวาระยังไม่เกิน 2 ปี

ซึ่งบรรยากาศในขณะนี้ นายธนา ยังคงอภิปรายไม่เห็นด้วยที่ประธานรัฐสภาปิดกั้นการอภิปรายในส่วนของมาตราที่ 5 พร้อมระบุว่า การแก้ไข เปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้ามาครอบงำสมาชิกวุฒิสภานั้น จะทำให้วุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภายังคงทักท้วงการอภิปรายของ นายธนา ชีรวินิจ หลายครั้งเนื่องจากมองว่าเป็นการอภิปรายที่ฟุ่มเฟือย

 

ส.ส.ปชป.ออกแถลงการณ์ประณาม 'นิคม'

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์ประณาม การทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา 3 ข้อกรณีวินิจฉัยการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตราที่ 5 เกี่ยวกับคุณสมบัติของสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา ที่มีสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเสนอให้ปิดการอภิปรายทั้งที่มีผู้ขอสงวนคำแปรญัตติขึ้นอภิปรายเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นายนิคม ได้เห็นด้วยและใช้อำนาจรวบรัดให้มีการปิดอภิปรายและลงมติผ่านมาตรา 5

โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า พฤติกรรมการรวบรัดดังกล่าวเป็นการกระทำการขัดดต่อรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของการประชุม อีกทั้งยังขัดต่อคำวินิจฉัยของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาที่ได้วินิจฉัยในกรณีเดียวกันในมาตรา 4ซึ่งการกระทำของ นายนิคม ครั้งนี้ เนื่องจากมีผลประโยชน์ทับซ้อน เร่งรีบเพื่อให้ทันการที่ตัวเองจะลงสมัคร สมาชิกวุฒิสภาในสมัยต่อไป

อีกทั้ง ยังเป็นการรับใช้ฝ่ายบริหาร เสียศักดิ์ศรี ในฐานะสมาชิกรัฐสภา และสถาบันนิติบัญญัติ จึงไม่ควรทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ต่อไป

 

สุเทพห่วงดำรงตำแหน่งสว.เป็นระบบต่างตอบแทน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นอภิปรายในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ ในขณะนี้ โดยขอแปรญัติแก้ไขในส่วนของ มาตรา 6 ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 116 วรรค 2 เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยระบุว่า สมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจในหลายด้าน โดยเฉพาะการแต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระ และมองว่า การแก้ไขเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาครั้งนี้ จะเป็นการทำให้สมาชิกวุฒิสภา กลายเป็นนักการเมืองมืออาชีพ เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

อีกทั้ง มีการเปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภาอย่างไม่มีข้อจำกัด สามารถลงสมัครกี่สมัยก็ได้ ซึ่งจะเกิดเป็นระบบต่างตอบแทน และจะเป็นการนำไปสู่การกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการขัดต่อหลักนิติธรรม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่า สิ่งที่แก้ไขครั้งนี้นั้น จะเป็นหลักประกันในการดำเนินงานโดยอิสระขององค์กรอิสระได้หรือไม่




-----------------------------------------------------------------

'จุรินทร์'พร้อมส.ส. ปชป.ยื่นถอดถอน 'นิคม' แล้ว

http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=477816

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook