สื่อภาคสนามโวยนักเล่าข่าวทำนาบนหลังคน ส.ว.เสนอบันได4ขั้นปฏิรูปสื่อ

สื่อภาคสนามโวยนักเล่าข่าวทำนาบนหลังคน ส.ว.เสนอบันได4ขั้นปฏิรูปสื่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้สื่อข่าวรัฐสภารวมกลุ่มเขียนบล็อกสนามข่าวสภา โวยนักเล่าข่าวทำนาบนหลังคน มัวรอพึ่งนสพ. ทำตัวเยี่ยงศาสดาเล่าเหมือนเขียนเองกับมือ ส.ว.สรรหาเสนอบันได4ขั้นปฏิรูปสื่อ ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเกี่ยวกับรายการคุยข่าวหรือเล่าข่าวทางสถานีโทรทัศน์ว่าอันตราย เนื่องจากมีการชี้นำผู้ชมและองค์กรวิชาชีพควรดูแลเรื่องดังกล่าว

เมื่อวันที่ 15 มกราคม บล็อกโอเคเนชั่น http://oknation.net/blog/index.php นำบทความเรื่อง นักเล่าข่าวกับการ ทำนาบนหลังคน ที่เขียนโดยผู้สื่อข่าวรัฐสภากลุ่มหนึ่งจากหลายสำนักพิมพ์ ในบล็อกชื่อ สนามข่าวสภา http://www.oknation.net/blog/news-war มาเผยแพร่ โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่รายการเล่าข่าว (บางช่อง) พึ่งพาข่าวของหนังสือพิมพ์เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่ นับว่าน่าเสียดายที่จะได้เสพข่าวที่มีคุณภาพ ครบทุกมิติ เพราะสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งมีเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีฝีมืออยู่จำนวนมาก ขณะที่เจ้าของสถานีรวยอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่นักเล่าข่าวกลับมานั่งรอข่าวหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็มาเล่าเป็นฉากๆ ราวกับว่าไปทำข่าวและเขียนขึ้นมาเองกับมือ โดยไม่ได้อ้างอิงว่าจากสำนักข่าวไหน หลายครั้งยังทำตนเยี่ยงศาสดาสั่งสอนนักข่าวว่าทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ถามแบบนี้

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อคือสิ่งที่ประชาชนรอคอยและฝากความหวังไว้กับรัฐบาลชุดนี้มากที่สุด โดยตนมีข้อเสนอดังนี้ 1.ให้ออกกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ เพื่อสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำให้การปฏิรูปสื่อเกิดขึ้นจริง 2.ควรยุบกรมประชาสัมพันธ์และตั้งสำนักแถลงข่าวรัฐบาลที่เข้มแข็งขึ้นแทน 3.ปรับปรุง อสมท โดยพิจารณาว่าจะเอาคลื่นความถี่มาเป็นของรัฐหรือไม่ และคิดเรื่องการเป็นผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยให้เหลือ รัฐ 30% เอกชน 70% เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารและตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง 4.ต้องออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยให้คนในวิชาชีพร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยที่รัฐไม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ 4 ข้อ หากรัฐบาลตั้งใจจริงเชื่อว่าจะทำให้การปฏิรูปสื่อเกิดขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook