สปส.ค้านงดเก็บเงินสมทบ

สปส.ค้านงดเก็บเงินสมทบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
''คลัง''เพิ่มแผนกู้อีก6แสนล้านผ่านตราสารหนี้ อภิสิทธิ์ เดินหน้านโยบายอุ้มผู้สูงอายุ เมินคนค้าน ชี้สานฝันพรรคการเมืองต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ขุนคลังย้ำงบกลางปีทะลุ 1.2 แสนล้าน พร้อมชงแพ็คเก็จกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 มาตรเข้าครม. คลังรับลูกออกตั๋วเงินคลังอีก 5 หมื่นล้านบาท อุ้มผู้ประกอบการท่องเที่ยว พร้อมปรับเพิ่มแผนการกู้เงินผ่านการออกตราสารหนี้ 6 แสนล้านบาท ทำสัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นปี 52 พุ่งสูงสุดที่ 41% ต่อจีดีพี ด้านบอร์ดสปส.ไม่รับลูก งดเก็บเงินสมทบลูกจ้าง แต่เตรียมลดเงินสมทบแทนฝ่ายละ 1.5% ส่วนพาณิชย์ หั่นงบ 2 หมื่นล้าน ลดอุดหนุนสินค้าเกษตร ตัด อ้อย ยาง หวังดันราคาสินค้าเกษตรรวมเพิ่ม 6.4 หมื่นล้าน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายก รัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจบางส่วนจะเริ่มเห็นผลตั้งแต่เดือน ก.พ.นี้เป็นต้นไป โดย ยืนยันว่าแม้รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย แต่ไม่จำเป็นต้องปรับแผน หรือมาตรการ ที่เตรียมนำออกมากระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แม้หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่รัฐถือว่าเป็นหลักสากลที่ควรได้รับการดูแลเพราะไม่อยู่ในวัยทำงาน ที่สำคัญเป็นหลักการของคนไทยที่ต้องตอบแทนผู้สูงอายุที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศตลอดชั่วชีวิต และเป็นมาตรการที่ทุกพรรคการเมืองหาเสียงมาตลอดแต่ไม่เคยมีใครทำให้เกิดขึ้นจริง ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเริ่มต้น ซึ่งอนาคตรัฐบาลจะไม่ใช้เรื่องเบี้ยยังชีพเป็นกลไกหลัก แต่เน้นพึ่งกลไกคนนอกประกันสังคมกับระบบราชการ คือการออมชุมชน คาดว่าเริ่มต้นได้ในต้นปีงบประมาณ 2553

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 13 ม.ค.นี้ ที่ประชุมจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือจากเงินงบประมาณกลางปี ซึ่งมีทั้งมาตรการด้านภาษี เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ส่วนการจ่ายค่าประกันสังคมให้กับลูกจ้างตามแนวคิดของนายกฯนั้นยังมีหลายแนวทางซึ่งต้องหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจนในที่ประชุม ครม. ก่อน โดยหลักสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ รัฐบาลต้องส่งเงินให้ถึงมือประชาชนให้มากที่สุด

ส่วน นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. จะหารือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทุกด้านคือ การใช้งบประมาณกลางปีซึ่งตั้งวงเงินไว้ที่ 120,000 ล้านบาท เน้นมุ่งใช้เงินช่วยเหลือในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายจริง แต่จะไม่นำเงินไปช่วยเหลือเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐ เพราะเตรียมแผนนำเงินจากแหล่งอื่นมาช่วยเพิ่มทุนให้ และยืนยันว่าไม่นำเงินจากโรงงานยาสูบมาช่วยเพิ่มทุน นอกจากนั้นจะเร่งเบิกจ่ายงบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ยังมีอยู่ 140,000 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรี จะเรียก ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการและ รัฐวิสาหกิจ ให้มีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ รวมทั้งจะเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ 600,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเสนอ ครม. เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดของแต่ละ รัฐวิสาหกิจและส่วนราชการรับทราบรายละเการเบิกจ่ายและเร่งรัดติดตามต่อไป

ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วันที่ 14 ม.ค.นั้น จะให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ แยกรายละเอียดการลงทุน หรือการใช้เงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีการเบิกจ่าย และลงทุนจริง เนื่องจากมีเงินงบประมาณที่ค้างอยู่ถึง 600,000 ล้านบาท ที่กรมบัญชีกลางจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่าย ขณะนี้ได้จัดทำแผนการใช้เงินเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นมาตรการที่จับต้องได้ เช่น การจ่ายเงินค่าเบี้ยครองชีพคนชราอายุ 60 ปีขึ้นไป โครงการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นมาตรการ ที่ผันเงินถึงมือประชาชน ส่วนเงินที่เกินมาอีก 20,000 ล้านบาทนั้น เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.งบประมาณที่ระบุว่า หากจะจัดทำงบเพิ่มเติม ต้องตั้งงบเพื่อชดเชยเงินคงคลังที่ใช้ของปีก่อนหน้าด้วย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขเดิมที่กำหนด ไว้ว่า ต้องลดภาระให้ประชาชนได้จริง นำเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและรั่วไหลน้อยที่สุด

นายทวีศักดิ์ ฟุ้งเกียรติเจริญ กรรมการผู้จัดการ บสย. กล่าวว่า บสย. จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ของธุรกิจร้านอาหาร สปา และกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งจะมีเงินจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท โดย บสย. จะเข้าไปค้ำประกันได้ 30,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ บสย. 1.5% ของวงเงินที่ บสย. ค้ำ จากเดิมผู้ประกอบการต้องชำระ 1.75% เท่ากับเหลือเพียง 0.25% เท่านั้น

ส่วน นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้ อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน. เตรียมที่จะเพิ่มวงเงินในการออกตั๋วเงินคลังในปีงบประมาณ 52 อีก 50,000 ล้านบาท จากเดิมที่มีแผนจะออก 196,000 ล้านบาทเป็น 250,000 ล้านบาท พร้อมทั้งจะลดวงเงินพันธบัตรออมทรัพย์เหลือ 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ 60,000 ล้านบาท และคาดว่าจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะปรับตัวขึ้นสูงสุดในสิ้นปีงบประมาณ 52 ที่ 41% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 36.92% ตราสารหนี้ที่จะออกมานั้น จะนำมาให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว โดยเน้นเป็นเงินกู้ระยะสั้น คาดว่าเงินจะถึงมือผู้ประกอบการได้ในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้เป็นต้นไป อีกทั้งในปีงบประมาณรายจ่าย 52 กระทรวงการคลังจะเน้นการออกพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2-3 ปีเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน จัดทำโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน วงเงิน 6,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบระยะสั้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยจะเป็นมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีชะลอการเลิกจ้างงาน และป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยผู้ประกอบการขอกู้ในวงเงินตั้งแต่ 500,000 บาท ถึงไม่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งธพว.จะคิดดอกเบี้ยคงที่ 5% ต่อไป นานไม่เกิน 5 ปี

ที่กระทรวงแรงงาน วันเดียวกัน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณี นายกรัฐมนตรีเตรียมออกมารการงดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้างว่า จากการราย งานการศึกษาของนายปั้น วรรณวินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่าไม่สามารถ ทำได้ เนื่องจากอาจมีปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น กระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์เงินกองทุนประกันสังคมในอนาคตที่จะต้องจ่ายกรณีชราภาพ แต่ทั้งนี้ได้ให้นโยบายกับบอร์ด สปส. พิจารณาปรับลดเงินสมทบให้กับนายจ้าง ลูกจ้างฝ่ายละ 1.5% จากที่เคยจ่าย 5% คงเหลือฝ่ายละ 3.5% โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 1 ปี แต่ถ้าหากวิกฤติยังคงมีต่อเนื่องก็สามารถพิจารณาเพิ่มเติมได้

ขณะที่ นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งวงเงินใช้แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรปี 52 ที่ 43,695 ล้านบาท เพื่อดูแลสินค้า 9 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้ง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และผลไม้ ซึ่งลดจากเดิมที่จะใช้เงิน 63,000 ล้านบาท เพื่อดูแลสินค้า 11 ชนิด โดยตัดอ้อย และยางพาราออกไป เนื่องจากต้องการเลือกเฉพาะสินค้าจำเป็นเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อใช้นโยบายแทรกแซงราคารวมกับมาตรการเสริมที่ทยอยออกมา จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม และช่วยให้มูลค่าสินค้าเกษตร 8 รายการ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง เมล็ดกาแฟ ปาล์ม ข้าวโพด ถั่วเหลือง สุกร และกุ้ง เพิ่มขึ้นจากราคาฐานเฉลี่ยปี 48-50 ถึง 64,000 ล้านบาท หรือเติบโต 30% ส่งผลให้มูลค่าผลผลิตสินค้าเกษตรรวมทั้งปีเพิ่มเป็น 1.2 ล้านล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สาเหตุที่กระทรวงพาณิชย์ลดแผนใช้งบประมาณ 63,000 ล้านบาท เหลือ 43,700 ล้าน บาท โดยตัดการดูแลสินค้ายางพารา และอ้อยออก ไป เนื่องจากเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งได้แจ้งว่ามีความประสงค์ที่จะของบประมาณในการดูแลเอง

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา กลุ่มพนักงานบริษัทจีไอเอส ดาต้า จำกัด ในเครือกลุ่มบริษัทซีดีจี บริษัทไอทีชั้นนำ กว่า 200 คน ได้รวมตัวกันประท้วงปิดถนนหน้า บริษัทซีดีจี ถนนพระรามที่ 3 ทำให้การจราจร บริเวณแยกถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ไปจนถึงแยกนางลิ้นจี่ ติดขัดนานหลายชั่วโมง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานใหม่ ต่อมาเจ้าหน้าที่จากกระทรวง แรงงานได้เดินทางมาประสานงานเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม และตัวแทนบริษัท โดยสรุปว่าจะร่วมเจรจาหาข้อยุติ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ที่กระทรวงแรงงาน ก่อนผู้ชุมนุมจะสลายตัวไปในที่สุด.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook