เปิดกฎเหล็กสำนักนายกฯ-ตร.ไม่เพียงแต่ต้องถอดยศ ทักษิณ ต้องเรียกคืนเครื่องราชฯชั้นเจ้าพระยาคืนด้วย

เปิดกฎเหล็กสำนักนายกฯ-ตร.ไม่เพียงแต่ต้องถอดยศ ทักษิณ ต้องเรียกคืนเครื่องราชฯชั้นเจ้าพระยาคืนด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทั้งส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีตโฆษกและโฆษก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาค้านเสียงขรมด้วยเหตุผลต่างๆนานา เมื่อกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ทำเรื่องเสนอให้มีการถอดยศพันตำรวจโท อดีตนายกรัฐมนตรีเนื่องจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122 และยังหลบหนีคดีดังกล่าวและอีกหลายคดีอยู่ในต่างประเทศ

ความจริงแล้วประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มติชนออนไลน์เคยนำเสนอเรื่องนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถุกศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 2 ปีในความผิดที่ไม่ใช่กระทำการโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษเข้าข่ายที่จักต้องถูกถอดยศตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (มาตรา 28)และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547

มาตรา 28 การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

สำหรับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ มี พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามและประกาศ ณ วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2547

ระเบียบดังกล่าวเริ่มต้นด้วยคำปรารภเกี่ยวกับเหตุผลในการถอดยศว่า เนื่องจาก ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

ส่วนตำรวจที่จะถูกถอดยศได้นั้นมิได้จำกัดเฉพาะที่รับราชการอยู่เท่านั้น

การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว(ระเบียบข้อ 1) โดยผู้ที่ถูกถอดยศมีการกระทำหรือเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง 7 ประการ แต่ที่เข้าข่ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ 2 ประการคือ

(2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

จากระเบียบดังกล่าว ไม่ว่าจะอ่านตามปกติ ยืนอ่าน ตีลังกาอ่านก็เห็นชัดว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก..เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือ ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐอันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ

จึงไม่มีเหตุใดๆที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่สมควรถูกถอดยศพันตำรวจโทอันเป็นยศพระราชทาน

เมื่อมีสมควรถุกยอดยศแล้วเป็นหน้าที่ของใคร ระเบียบฉบับเดียวกันระบุว่า หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจมีดังนี้(ข้อ2 )

(1) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศ แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ ...

(3) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ....ทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

จากระเบียบดังกล่าว ถ้าผู้บังคับการกองวินัยทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณต่อผุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมเข้าข่ายละเว้นการการปฏิบัติหน้าที่ เพราะในระเบียบระบุชัดว่า เป็นหน้าที่ หน้าที่ความรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับ ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องจากกองวินัยแล้ว นิ่งเฉยก็ต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกัน

การเสนอถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณที่ตกเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงเพราะในช่วงที่ผ่านมามีนายตำรวจ-ทหารจำนวนมากถูกถอดยศเพราะต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด ส่วนจะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่หรือมีใครที่มีการกระทำหรือเหตุเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ละเว้นไม่ดำเนินการ ก็ต้องถูกดำเนินการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

แต่จะมาอ้างเหตุไม่ดำเนินการกับพ.ต.ท.ทักษิณหาได้ไม่

ไม่เพียงแต่จะต้องถูกถอดยศเท่านั้น การที่พ.ต.ท.ทักษิณต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด เป้นเหตุที่จทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)หรือชั้นเจ้าพระยา อีกด้วย

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548(ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548) กำหนด เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้ 8 ประการ แต่ที่เข้าข่ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนี้ คือ

(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามข้อ 7 ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะ

ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

5. เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ส่วนราชการต้นสังกัดของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืนจากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แล้วแต่กรณี โดยพลัน

หากผู้ได้รับพระราชทานหรือทายาทของผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่สามารถส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยประการใด ๆ ให้ใช้ราคาตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกำหนดในกรณีที่ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดซึ่งมีเหตุที่จะต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์แล้วได้วายชนม์ลง ให้ดำเนินการเรียกคืนโดยพลัน

6. ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามระเบียบนี้ โดยให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาในทางปฏิบัติตามระเบียบนี้ หากไม่ได้ข้อยุติให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อวินิจฉัยคำวินิจฉัยของนายกรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ว่าด้วย การถอดยศตำรวจ

พ.ศ.๒๕๔๗

------------------------------

เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๔) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจ แห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗ จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ๑การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม

(๒)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

(๓)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต

(๔)กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

(๕) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

(๖) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

(๗)ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็น ข้าราชการตำรวจ

ข้อ๒หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ

(๑)ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ ๑ แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑ (๗) เมื่อมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วให้หน่วยต้นสังกัด ดำเนินการส่งเรื่องให้กองทะเบียนพล รวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศต่นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ ๑ แล้วดำเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (ผ่านกองทะเบียนพล) ทราบ

(๓) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกฟ้องในคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากการก่อหนี้สินขึ้นโดยทุจริตของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

ข้อ๓ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗

(ลงชื่อ) พลตำรวจเอก สันต์ ศรุตานนท์

(สันต์ ศรุตานนท์)

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

-------------------

หมายเหตุมติชนออนไลน์ -การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122

นอกจากจะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อการเมืองไทยเป็นอย่างมากแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสถานะทางสังคมและยศฐาบรรดาศักดิ์ของพ.ต.ท.ทักษิณอย่างมากโดยเฉพาะเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานในฐานะนายกรัฐมนตรีชั้นเจ้าพระยา

เพราะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548(ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548)นั้น

การถูกศาลพิพากาษาจำคุกถึงที่สุดเข้าเงื่อนไขที่สำนักนายกรัฐมนตรีต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกดังกล่าว

ดังนั้น ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยื่นฎีกาภายใน 30 วัน ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ก็ถือว่า คดีถึงที่สุด(ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ. 2551)ซึ่งจะต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชฯซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับมาแล้วดังนี้

พ.ศ. 2517 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)

พ.ศ. 2519 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)

พ.ศ. 2523 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)

พ.ศ. 2528 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)

พ.ศ. 2537 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)

พ.ศ. 2538 มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)

พ.ศ. 2539 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)

พ.ศ. 2544 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)

พ.ศ. 2545 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook