กลางใต้ฝนหนักกทม.น้ำขัง,มิตรภาพจร.หนึบ-แปดริ้วอ่วม

กลางใต้ฝนหนักกทม.น้ำขัง,มิตรภาพจร.หนึบ-แปดริ้วอ่วม

กลางใต้ฝนหนักกทม.น้ำขัง,มิตรภาพจร.หนึบ-แปดริ้วอ่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมอุตุฯ เตือน ภาคตะวันออก และใต้ ยังมีฝนหนาแน่น และหนักบางแห่ง ใน1-2 วันนี้ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีโอกาสฝนตกร้อยละ70 ถนนมิตรภาพการจราจรติดขัดอย่างหนักรถสะสมยาข้ามคืน ขณะ ฉะเชิงเทราน้ำทะลักท่วมย่านเศรษฐกิจ

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานลักษณะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน จะมีฝนลดลง ส่วนลมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในระยะ 1-2 วันนี้

สำหรับ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีโอกาสฝนตก ร้อยละ 70 อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส  ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ช.ม.


กทม. ฝนตกหนัก น้ำท่วมขังหลายพื้นที่-มิตรภาพติดขัดอย่างหนัก

เวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา จนถึงช่วงเช้าวันนี้ ยังคงมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด และสภาพการจราจรติดขัด อาทิ ถนนรามคำแหง, พระราม 9, ห้วยขวาง, วังทองหลาง, บางกะปิ, สวนหลวง, บึงกุ่ม, คันนายาว สะพานสูง, มีนบุรี, ประเวศ, บางนา-ตราด, คลองสามวา, ดอนเมือง, สายไหม ปริมาณฝนรวมสูงสุด เขตภาษีเจริญ 80 ม.ม.

ทางด้าน ถนนมิตรภาพ หลังจากที่เกิดฝนตกลงมาเกือบตลอดทั้งคืนเช่นกัน ส่งผลให้น้ำท่วมขังบนพื้นผิวการจราจร และตามไหล่ทาง สูง 20-30 ซ.ม. การจราจรติดขัดอย่างหนัก ปริมาณรถสะสมยาว โดยเฉพาะ ก่อนถึง ฟาร์มโชคชัย เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ โดยเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
ที่สัญจรไปมา

น้ำทะลักท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจตัวเมืองฉะเชิงเทรา

หลังจากมีการประกาศเตือนประชาชนให้ระวังน้ำทะเลหนุนสูงระดับ 1.03 เมตร ของทางเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงตลอดทั้งวันที่ผ่านมา เมื่อเวลา 18.30 น. วานนี้ น้ำในลำน้ำบางปะกง ไหลล้นออกมานอกลำน้ำบางปะกง เป็นจำนวนมาก บ่าเข้าท่วมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจภายในตัวจังหวัดสูงกว่าปกติ โดยบนถนนเกือบทุกสายเต็มไปด้วยน้ำที่เอ่อล้นขึ้นมาท่วมขัง และทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ไม่ได้ทำแนวในการป้องกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ เจ้าของบ้านไม่ได้อยู่ภายในบ้าน
 
ส่วนผู้ที่ทำแนวป้องกันน้ำไว้ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางวันที่ผ่านมานั้น มีบางรายที่น้ำยังสามารถรั่วซึมเข้าไปยังภายในบ้านได้อีก เนื่องจากเป็นแนวกำแพงที่เพิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ๆ เนื้อคอนกรีตจึงยังไม่แข็งตัวแห้งสนิท และแข็งแรงพอที่จะป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้ หลายครอบครัวจึงต่างพากันช่วยกันวิดน้ำออกจากตัวบ้าน ขณะที่อาคารพาณิชย์บางหลังที่สร้างมานานหลายสิบปีแล้ว และอยู่ในสภาพเก่าแก่ น้ำที่เอ่อล้นเข้ามาท่วมนั้น ยังสามารถที่จะซึมทะลุพื้นคอนกรีตด้านล่างของตัวบ้านได้ด้วย ชาวบ้านจึงต้องช่วยกันซับเอาน้ำออกกันอย่างวุ่นวาย
 
เนื่องจากน้ำที่ล้นออกมาจากลำน้ำบางปะกงนั้น จะล้นขึ้นมาอยู่สูงเป็นเวลานานหลายชั่วโมง และจะค่อย ๆ ทยอยไหลลงอย่างช้า ๆ เนื่องจากในลำน้ำมีน้ำหนุนอยู่สูงมาก ซึ่งเป็นน้ำที่มาจากการระบายน้ำจากพื้นที่ทางตอนบนหลาย
ด้าน และสภาพโดยทั่วไปของลำน้ำบางปะกงนั้น อยู่ในสภาพที่เต็มปริ่มอยู่ตลอดเวลา มาก่อนหน้าแล้ว จึงทำให้เมื่อ
เกิดมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ก็จะเกิดการไหลบ่าล้นออกมายังภายนอกลำน้ำในทันที

ฝนละอองกระจายทั่ว กทม. เริ่มมีน้ำท่วมขังถนนบ้างแล้ว

สถานีเรดาร์ตรวจอากาศ สำนักการระบายน้ำ กทม. รายงานวันที่  19 ต.ค. 2556 : 07.00 น. ฝนละอองกระจายปกคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยทั่วไป ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดช่วงเช้านี้ วัดที่ปากคลองตลาด +1.81 ม.รทก. ส่วนสภาพจราจร ถนนราชดำเนินกลาง จาก แยกผ่านฟ้า มุ่งหน้า แยกอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไป แยกคอกวัว รถมาก เคลื่อนตัวได้เรื่อย ๆ, ช่วงแยกคอกวัว มุ่งหน้า แยกผ่านพิภพลีลา ไป สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รถมาก เคลื่อนตัวได้เรื่อย ๆ และมีน้ำท่วมขังผิว จราจรหลายจุด อาทิ ถนนพหลโยธิน ใกล้แยกคูคต มุ่งหน้าตลาดสี่มุมเมือง น้ำท่วมขังสูง รถเล็กผ่านลำบาก และหน้าตลาดไท เลยอนุสรณ์สถาน น้ำท่มขัง 20-30 ซ.ม. เช่นเดียวกัน ขณะที่ฝนยังตกพรำตลอดเวลา 


สบอช. รายงานสถานการณ์ฝนรอบ 24 ช.ม. เชียงใหม่ 117 ม.ม.

สำนักนโยบายและบริการจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) รายงานเวลา 07.00 น. ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง ภาคเหนือ ฝนทั่วไป มากที่สุด 117.5 ม.ม. ที่ อบต.ห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนกระจาย มากที่สุด 88.6 ม.ม. ที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ภาคกลาง ฝนเกือบทั่วไป มากที่สุด 86.0 ม.ม. ที่ อบต.แสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี ภาคตะวันออก ฝนกระจาย มากที่สุด 46.0 ม.ม. ที่ อบต.ทุ่งมหาเจริญ อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฝนเกือบทั่วไป มากที่สุด 92.4 ม.ม. ที่ อบต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ฝนกระจาย มากที่สุด 37.2 ม.ม. ที่ อ.เมือง จ.สตูล กทม. และปริมณฑล ฝนเกือบทั่วไป มากที่สุด 29.5 ม.ม. ที่ อบต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี

ด้านปริมาณน้ำฝน ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันรวม 1,424.9 ม.ม. มากกว่าปีที่แล้ว 42.4 ม.ม. (3%) 2. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณเก็บกักรวม 51,930 ล้าน ลบ.ม. (73%) น้อยกว่าปีที่แล้ว 0% และน้อยกว่าปี 2554 (ปีน้ำท่วม) 20%  อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณเก็บกักรวม 3,709.03 ล้าน ลบ.ม. (85%) มากกว่าปีที่แล้ว 12%


ชาวปราจีนบุรี พายเรือทำบุญเนื่องในวันออกพรรษา

ที่วัดกระเบา พระอารามหลวง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ในวันนี้ ไม่ได้ถูกน้ำท่วมสูงมากกว่า 1.50 ม. พบมีพุทธศาสนิกชนมากกว่า 1,000 คน มาร่วมทำบุญในวันออกพรรษา โดยใช้เรือพายในการเดินทาง มี พระราชภัทรธาดา เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เป็นประธานนำในพิธี มีการทำบุญให้ทานจากเทศน์มหาชาติชาดก และพิธีปวรณานาของพระภิกษุสงฆ์ ที่ใช้บนศาลาการเปรียญ แทนพระอุโบสถที่ถูกน้ำท่วม

พระราชภัทรธาดา กล่าวว่า อ.บ้านสร้าง เป็นพื้นที่รองรับน้ำแห่งสุดท้ายของ จ.ปราจีนบุรี โดยปีนี้น้ำที่ท่วมมีปริมาณมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา คาดว่า จะท่วมนานอีกมากกว่า 1 เดือน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง


ทรัพยากรธรณีลำปาง เตือนระวังดินสไลด์ใน 10 อ.

นายสมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง เปิดเผยว่า อาสาสมัครเฝ้าระวังภัยของแต่ละชุมชน และหมู่บ้าน ร่วมกันออกสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มจุด ที่เกิดจากฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก หลังจากฝนตกหนักที่ จ.ลำปาง นานติดต่อกัน 2 วัน 2 คืน และเมื่อคืนนี้ บางพื้นที่ยังมีฝนตกลงมาอยู่ ซึ่งจากปริมาณน้ำฝนตกสะสมจำนวนมาก จนส่งผลให้ดินบนภูเขาในหลายพื้นที่อิ่มน้ำ และบางจุด อาจจะเกิดการมีดินสไลด์ตัวลงมาหลายแห่ง พร้อมกับก้อนหิน, กิ่งไม้ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน

ทั้งนี้ ทางสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 1 ลำปาง ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รายงานข้อมูลและสถานการณ์ พร้อมการประกาศแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบทันที หากเกิดเหตุน้ำป่าหลาก หรือดินโคลนถล่ม พร้อมกับเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ สำหรับ จ.ลำปาง มีพื้นที่เสี่ยงภัยกระจายในทุก 10 อำเภอ จาก 13 อำเภอ


ปภ. สรุปน้ำท่วมใน 22 จว. คนเสียชีวิต 73 ราย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 2556 ถึงปัจจุบัน เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 46 จังหวัด 359 อำเภอ 2,269 ตำบล 18,468  หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,154,805 ครัวเรือน 3,778,179 คน คิดเป็นร้อยละ 5.86 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ บ้านเรือนเสียหาย 31,523 หลัง ถนน 5,967 สาย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,594,617 ไร่ ปศุสัตว์ 4,145,224 ตัว ผู้เสียชีวิต 73 ราย

ขณะนี้ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 24 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย 22 จังหวัด 92 อำเภอ 608 ตำบล 4,227 หมู่บ้าน 236,757 ครัวเรือน 704,952 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.09 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ อพยพ 3,616 ครัวเรือน 7,466 คน ใน จ.ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และ สระบุรี




แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook