กทพ.ชงค่าผ่านทาง ด่วนเชื่อมวงแหวน จัดเก็บ40บาทมี.ค.

กทพ.ชงค่าผ่านทาง ด่วนเชื่อมวงแหวน จัดเก็บ40บาทมี.ค.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4072

ดีเดย์ มี.ค.นี้ กทพ.เปิดใช้ทางด่วน สายใหม่ รามอินทรา-วงแหวนรอบนอก เก็บค่าผ่านทางเพิ่มอีก 10 บาท ส่วนผู้ใช้ถนนวงแหวนด้านใต้ต้องควักกระเป๋าเพิ่ม กทพ.เตรียมเก็บค่าผ่านทางแรกเข้า 20 บาท จากนั้นจ่ายเพิ่มอีก 1 บาท/ก.ม. ด้านทางหลวงเก็บค่าใช้ทางถนนวงแหวนรอบ นอกช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียนอีก 15 บาท ชง โสภณ ออกประกาศ

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจ ว่า เดือนมีนาคมนี้ กทพ.จะเปิดให้บริการทางด่วนสายใหม่ 2 เส้นทางประกอบด้วย ทางพิเศษสายบางพลี-สุขสวัสดิ์ หรือวงแหวนด้านใต้ ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร และทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร หลังจาก ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ได้เห็นชอบร่างประกาศค่าผ่านทางทั้ง 2 สายทางแล้ว ทั้งนี้จะเสนอนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาหากได้รับความเห็นชอบอีกประมาณ 1 เดือนจะสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการทันกับระบบทางด่วนที่จะเปิดใช้พอดี ซึ่งจะทำให้ กทพ.มีรายได้เพิ่มขึ้น

อัตราค่าผ่านทางโครงการวงแหวนด้านใต้ จะเป็นอัตราที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดย กทพ.จะเป็นผู้ออกประกาศอัตราการจัดเก็บ โดยรถยนต์ 4 ล้อ อัตราแรก 20 บาท คิดเพิ่มกิโลเมตรละ 1 บาท สูงสุด 40 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ แรกเข้า 40 บาท เพิ่มกิโลเมตรละ 2 บาท สูงสุด 80 บาท รถยนต์เกิน 10 ล้อ แรกเข้า 60 บาท เพิ่มกิโลเมตรละ 3 บาท สูงสุด 120 บาท

ส่วนที่ต่อเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบนอกของกรมทางหลวง (ทล.) ช่วงสุขสวัสดิ์-บางขุนเทียนอีก 15 กิโลเมตร กรมทางหลวงจะออกประกาศอัตราค่าผ่านทางเองเช่นเดียวกัน โดยเก็บ 15 บาทไม่มีอัตราแรกเข้าเนื่องจากใช้ระเบียบแตกต่างกัน และกรมทางหลวงไม่ยอมโอนทางสายนี้ให้ กทพ.ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2546 ส่วนด่านเก็บ ค่าผ่านทางที่ กทพ.ติดตั้งเข้าไปในส่วนของกรมทางหลวงนั้น กรมทางหลวงจะจ่าย ค่าใช้จ่ายให้ ตลอดทั้งเส้นทางปริมาณ การจราจรน่าจะอยู่ที่ 1.1 แสนคันต่อวัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า ด้านค่าผ่านทางด่วนสายรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก จะยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจจุบัน กทพ.ได้ขยายส่วนลดค่าผ่านทางสายรามอินทรา-อาจณรงค์ 10 บาทออกไปอีก 1 ปี อัตรา ค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้ออยู่ที่ 30 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ 50 บาท รถยนต์เกิน 10 ล้อ 70 บาท เมื่อเปิดใช้สายใหม่ไปถึงวงแหวนรอบนอก ค่าผ่านทางจะปรับเพิ่มเป็น 40 บาท 60 บาท และ 80 บาทตามลำดับ โดยจะมีการก่อสร้างด่านเก็บเงินใหม่อีก 2 ด่านที่รามอินทรา 1 และสุขาภิบาล 5 คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 22,122 คันต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันงานก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งทางนายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการ กทพ.พยายามเร่งรัดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเร่งการก่อสร้างและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แม้ว่าผู้รับเหมาก่อสร้างจะมีการขอขยายอายุสัญญาก่อสร้าง ออกไปอีก 180 วันก็ตาม หน้า 7

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook