วางศิลาฤกษ์ สะพานข้ามโขง แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน เชื่อมไทย-ลาว

วางศิลาฤกษ์ สะพานข้ามโขง แห่งที่ 3 นครพนม-คำม่วน เชื่อมไทย-ลาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4072

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ก่อนอำลาปีหนูไฟ กรมทางหลวง (ทล.) ส่งท้ายปีด้วยการเปิดประมูลงานใหญ่ โครงการ ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม ได้รับเหมาใหญ่ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ของเสี่ย เปรมชัย กรรณสูต เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 1,761 กว่าล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,764 กว่าล้านบาท ไม่ถึง 1% ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่างานนี้อาจมีการฮั้วราคา

ล่าสุดมีรายงานข่าวจากกรมทางหลวงถึงความคืบหน้าของโครงการนี้ว่า วันที่ 5-6 มีนาคมนี้จะมีพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อให้ ผู้รับเหมาเริ่มลงมือก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 900 วัน หรือประมาณ 2 ปีเศษ

ปัจจุบันกรมทางหลวงได้เวนคืนที่ดินสำหรับใช้ก่อสร้างไปล่วงหน้าและจ่ายเงินบางส่วนแล้ว โดยดำเนินการในลักษณะประนีประนอมทำให้การเวนคืนทำได้ง่ายและไม่มีปัญหา จากข้อมูลที่สำรวจก่อนหน้านี้มีที่ดินถูกเวนคืนจำนวน 52 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 48 หลังคาเรือน ค่าชดเชยกว่า 60 ล้านบาท กรมทางหลวงมั่นใจจะเคลียร์พื้นที่ได้แล้วเสร็จเพื่อให้ผู้รับเหมาเข้าก่อสร้าง ได้ตามกำหนดเวลา

รูปแบบการก่อสร้างถูกออกแบบเป็นสะพานขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 9.50 เมตร งานถนนขนาด 4 ช่องจราจร ในฝั่งไทยยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนฝั่งลาวเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางไม่ถึง 1 กิโลเมตร สำหรับการก่อสร้างนอกจากตัวสะพานและถนนแล้ว จะรวมงานก่อสร้างอาคารและด่านพรมแดนด้วย

โดยโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการคมนาคมขนส่ง ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพราะจะได้รับความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นโครงข่ายถนนที่จะเชื่อมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยไปสู่ภาคกลางของลาว ตลอดจนภาคเหนือของเวียดนาม คาดว่าจะมีปริมาณการจราจร 1,000 คันต่อวัน

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหลวงสายเอเชีย สาย AH 15 เชื่อมโยงอุดรธานี-นครพนม-หลักขาว ถึงเมืองเว้ของประเทศเวียดนาม

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามความตกลงระหว่างไทยกับลาวว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม โดยให้ดำเนินการในปีงบประมาณ 2551 แต่เนื่องจากเกิดปัญหาวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน และต้นทุนการก่อสร้าง ทำให้ไม่มีรับเหมาเสนอตัวเข้ามาประมูลงาน กรมทางหลวงจึงได้ทบทวนราคาอีกรอบและปรับราคากลางจาก 1,200 ล้านบาท เป็น 1,764 กว่าล้านบาท หน้า 7

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook