ลุ้นป.ป.ช.ชี้มูลโฆสิตต่ออายุทำเหมืองพื้นที่ป่าผาแดงช่วงเป็น รมว.อุตฯ-ชี้ปมกลับทำงานแบงก์กรุงเทพ

ลุ้นป.ป.ช.ชี้มูลโฆสิตต่ออายุทำเหมืองพื้นที่ป่าผาแดงช่วงเป็น รมว.อุตฯ-ชี้ปมกลับทำงานแบงก์กรุงเทพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ลุ้น ป.ป.ช.ชี้มูล โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์คดีต่ออายุทำเหมืองสังกะสีบริษัทผาแดงฯพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นหนึ่งช่วงเป๋น รมว.อุตสาหกรรม เผยเรืองไกร ร้องเรียนเคยเป็นกรรมการบริษัทในฐานะตัวแทนธนาคารกรุงเทพฯที่ถือหุ้นใหญ่ ซัดกลับไปทำงานในแบงก์อีก ชี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 19 มกราคมว่า ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)วันที่ 20 มกราคมมีวาระการพิจารณาชี้มูลความผิด เรื่องที่มีการกล่าวหา นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลาน นท์ กรณีให้ความช่วยเหลือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด(มหาชน) ให้ได้รับการผ่อนผันจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสีท้องที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551ให้แต่งตั้งนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าว ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหาร้องเรียนว่า นายโฆสิตปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในฐานะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล หรือตรวจสอบหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติโดยตำแหน่ง กระทำการช่วยเหลือ ให้ได้รับการผ่อนผันจากคณะรัฐมนตรีในการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสี ท้องที่ อแม่สอด จ.ตาก และต่ออายุประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่สังกะสีต่อไปได้ โดยนายโฆสิตเคยเป็นกรรมการของบริษัทผาแดงฯก่อนมารับตำแหน่งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับหนังสือร้องเรียนของนายเรืองไกร ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2550 มีสาระสำคัญคือ นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กระทำความผิดเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้เสียรับสัมปทานหรือคงไว้ซึ่งสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดและเป็นที่ปรึกษาหรือตัวแทนของบริษัท ผาแดงฯซึ่งเป็นเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ควบคุมหรือตรวจสอบของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง อันมีลักษณะขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม คือ

1. บริษัท ผาแดงฯ มีธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 7,301,070 หุ้นโดยนายโฆษิต ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการตัวแทนของธนาคารกรุงเทพตั้งแต่ 6 เมษายน 2548 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549และได้รับค่าตอบแทนจนถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2549 จำนวน 169,891.30 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นเก้าพันแปดร้อยเก้าสิบเอ็ดบาทสามสิบสตางค์) พร้อมกับโบนัสกรรมการปี พ.ศ.2549 อีกจำนวน 1,178,500.00 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นแปดพันห้าร้อยบาท) ถือได้ว่านายโฆษิต อาจจะมีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) โดยตรง

2. นายโฆษิตได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2549 พร้อมกับดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติอีกด้วย จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมกัน 3 ตำแหน่ง โดยตำแหน่งรรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้นมีประโยชน์โดยตรงต่อการกำกับดูแล ควบคุมและตรวจสอบเกี่ยวกับประทานบัตรเหมืองแร่สังกะสีของบริษัท ผาแดงเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ ซึ่งในระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ได้มีพฤติกรรมดังนี้ คือ

2.1 เนื่องจากประทานบัตรเหมืองแร่สังกะสีและพื้นที่กิจกรรมเกี่ยวเนื่องของบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ใบอนุญาตเลขที่ 20781/13285, 20780/13286, 20782/13287 จะหมดอายุสัมปทานพร้อมกันในวันที่ 17 ตุลาคม 2550 บริษัท ผาแดงฯ จึงมีความต้องการขยายระยะเวลาของสัมปทานออกไปอีก โดยได้ยื่นขอประทานบัตรใหม่ตามคำขอที่ 1/2546 พร้อมใบอนุญาตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 แต่มิได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลที่แล้วแต่อย่างใด

2.2 นายโฆษิตได้เร่งรัดดำเนินการเริ่มตั้งแต่ให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ให้ความเห็นชอบตามที่บริษัท ผาแดงฯต้องการในวันที่ 26 มีนาคม 2550 สาระสำคัญคือ ในขณะนั้นยังไม่มีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.3 ต่อมาในวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 9/2550 ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายโฆษิต เป็นประธานที่ประชุม

ในการประชุมวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ผาแดงฯ นายโฆษิต ไม่ได้เข้าร่วมประชุม โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการคนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่แทนในการประชุม โดยอ้างว่าติดภารกิจสำคัญ

2.4 เมื่อถึงวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมือนแร่สังกะสีของบริษัท ผาแดงฯคำขอประทานบัตรที่ 1/2546 ตั้งอยู่ที่ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมและควบคุมการประชุมจนสามารถทำให้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่บริษัท ผาแดงฯได้จัดทำข้อมูลมาให้จึงเป็นการสมประโยชน์ตามที่ต้องการ โดยมีการชี้นำจากนายโฆษิต

จากนั้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 จึงได้ทำการส่งรายงานการประชุมไปยังอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เห็นว่า การกระทำของนายโฆษิตเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท ผาแดงฯอย่างชัดเจนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 3 ตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น ส่งเสริมสนับสนุนให้บริษัท ผาแดงฯป็นผู้ผูกขาดการทำเหมืองแร่สังกะสีแต่เพียงผู้เดียวจึงเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยหน้าที่

3. เพื่อให้บริษัท ผาแดงฯได้รับประโยชน์สูงสุดและมากกว่าประโยชน์ของรัฐ ดังนั้นนายโฆษิต จึงอาศัยตำแหน่งหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2550 เรื่องบริษัท ผาแดงฯขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อการทำเหมืองแร่ท้องที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยนายโฆษิต ได้ทำความเห็นว่า เห็นชอบด้วยกับความเห็นของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืแร่ และเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีผ่อนผันให้บริษัท ผาแดงฯใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสีได้

ในที่สุดบริษัท ผาแดงฯได้รับประโยชน์โดยตรงจากการดำเนินการของนายโฆษิต โดยในวันที่ 8 ตุลาคม 2550 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักวิเคราะห์เรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงนายโฆษิต ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เรื่อง บริษัทผาแดงฯขอผ่อนผันการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ฯเพื่อให้นายโฆษิต พิจารณา

แต่ปรากฏว่าผู้ที่อนุมัติคือ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งเป็นผู้ลงนามแทนนายโฆษิต ทั้งๆที่ หนังสือดังกล่าวทำถึงนายโฆษิตแต่เพราะสาเหตุใดนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม จึงเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันก่อนถึงวันหมดอายุสัมปทานในวันที่ 17 ตุลาคม 2550 เป็นการต่ออายุสัมปทานภายใต้การกำกับดูแล ควบคุมและตรวจสอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและมีการเร่งรัดการดำเนินการอย่างเร่งรีบผิดปกติทั้งที่ใช้เวลานานมากกว่านี้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นไม่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเหมือนกับกรณีของบริษัท ผาแดงฯ

เมื่อพิจารณารวมกับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเคยเป็นกรรมการและรับเงินตอบแทนจำนวนมากจากบริษัท ผาแดงฯ แล้ว อีกทั้งปรากฏว่า เมื่อมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกจากตำแหน่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า นายโฆษิต ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะต้องการมีตำแหน่งกรรมการในสถาบันการเงินคือ ธนาคารกรุงเทพ อีกเมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อุตสาหกรรม

เห็นว่านายโฆษิต มีผลประโยชน์ร่วมกับบริษัท ผาแดงฯอยู่อย่างต่อเนื่องมาตลอดในขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายและเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียรับสัมปทานหรือคงไว้ซึ่งสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 มาตรา 122 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook