ศาลสั่งคุก 1 ปี "แอน" เมียมิตซูโอะ คดียักยอก เอกสารปลอม

ศาลสั่งคุก 1 ปี "แอน" เมียมิตซูโอะ คดียักยอก เอกสารปลอม

ศาลสั่งคุก 1 ปี "แอน" เมียมิตซูโอะ คดียักยอก เอกสารปลอม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(21 พ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.2289/2552 ที่นายกมล เอี้ยวศิวิกูล นักธุรกิจชื่อดัง โดย น.ส.นิภาพร มั่นหมาย ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสุธาสินี มุตตามระ หรือ นางสุทธิรัตน์ ชิบาฮาชิ หรือ แอน ภรรยาของอดีตพระมิตซูโอะ คเวสโก หรือ นายมิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เป็นจำเลยในความผิดฐานยักยอก และใช้เอกสารปลอม และพ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม มูลนิธิ พ.ศ.2499

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. - 28 ธ.ค. 50 จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมสัญญาว่าจ้าง อันเป็นเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับ จำเลยกับพวกร่วมกันจัดทำสัญญาว่าจ้าง ออกแบบงานสถาปัตยกรรมคอนโดมิเนียม โดยมีความว่า บริษัทควอลิตี้ เวเคชั่น คลับ จำกัด ตกลงว่าจ้าง บริษัท ต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัด จะทำการก่อสร้างตกลงค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง 12 ล้านบาท สัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เนื่องจากบริษัทควอลิตี้ฯ ไม่เคยว่าจ้างบริษัทต้นศิลป์ฯ เป็นเหตุให้บริษัทควอลิตี้ฯ และโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ คดีนี้ ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 55 ลงโทษจำคุกจำเลย ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ปี และฐานเป็นผู้รับผิดชอบ ในการดำเนินงานของบริษัทจำกัด กระทำการหรือยินยอมให้กระทำการ เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควร ได้จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ไม่รอการลงโทษ นางสุทธิรัตน์ ยื่นหลักทรัพย์ 3 แสนบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอนุญาต

ต่อมา จำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า ขาดเจตนาในการลงชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจผิดว่า เป็นสัญญาว่าจ้าง 7 ฉบับ ของบริษัทอื่น และไม่ได้เป็นผู้ประทับตราของบริษัทในสัญญาว่าจ้าง เห็นว่าจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทควอลิตี้ฯ ย่อมต้องใช้ความระมัดระวัง ในการลงชื่อการว่าจ้างบริษัทต้นศิลป์ฯ จำนวน 12 ล้านบาท หากเป็นการสำคัญผิด จำเลยสามารถอ้างเพื่อยกเลิกสัญญาได้ แต่จำเลยหากระทำไม่ จำเลยกลับจ่ายค่าจ้างให้แก่ บริษัทต้นศิลป์ฯ เป็นเจตนาบ่งชี้ว่า จำเลยว่าจ้างบริษัทต้นศิลป์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อุทธรณ์ต่อไปว่าสมควรลงโทษสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อฟ้อง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงรายละเอียดของการว่าจ้างและอื่นๆ ทำให้อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน การกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 จึงเห็นควรแก้โทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี อีกทั้งโจทก์และจำเลย สามารถตกลงยอมความกัน และถอนฟ้องคดีที่ต่างฝ่ายต่างยื่นฟ้องกันและกัน แต่ความผิดคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถถอนฟ้องได้

นอกจากนี้ จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลย จึงพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือส่วนหนึ่งส่วนใด เติม หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก 268 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกรอการลงโทษ มีกำหนด 1 ปี ความผิดฐานอื่นให้ยกฟ้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook