CIMB ปูพรมรุกธุรกิจในไทย ขึ้นชั้นแบงก์ภูมิภาค

CIMB ปูพรมรุกธุรกิจในไทย ขึ้นชั้นแบงก์ภูมิภาค

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
การตัดสินใจของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในการขายหุ้นที่ถืออยู่สัดส่วน 42.13% ในธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ให้แก่กลุ่มซีไอเอ็มบี ผู้ให้บริการด้านการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย

เป็นทั้งทางออกและเป็นจังหวะเหมาะที่จะเข้ามาปลดล็อกแบงก์นี้ ใต้สถานการณ์ที่สถาบันการเงินทั่วโลกต้องปรับตัวเพื่อรับมือวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาของไทยธนาคาร มีทั้งปัญหาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดทุนสะสมที่มีอยู่ 9,000 ล้านบาท และขาดทุนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงหรือซีดีโอ

การเข้าถือหุ้นใหญ่ของซีไอเอ็มบีซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 92.04 % (อีก 7.96% เป็นการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาและบริษัท) สอดรับกับนโยบายที่ ''ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค'' ประธานบริหาร กลุ่มซีไอเอ็มบี เคยบอกไว้ว่ามองการลงทุนระยะยาว และมีแผนที่จะ ''เป็นธนาคารของภูมิภาค''

โดยเมื่อ 8-9 มกราคมที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนไทยมีโอกาสเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของซีไอเอ็มบี ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และพูดคุยกับประธานบริหารถึงทิศทางของแบงก์ในอนาคต

***ขึ้นชั้นผู้นำบรรษัทธุรกิจ

เป้าหมายระยะยาวที่จะพลิกฐานะ ''ไทยธนาคาร'' ขึ้นเป็น แบงก์ของไทยและภูมิภาค โดยที่มีชื่อและสัญลักษณ์ซีไอเอ็มบีอยู่ด้วยนั้น ถูกกำหนดแนวทางจากปีนี้ไปจนถึงปี 2555 แล้ว

โดย 1-2 ปีนี้จะเป็นปีแห่งการลงทุน เพื่อสร้างฐานให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคตและในปีแรก คือปี 2552 ซีไอเอ็มบีมีแผนรุกธุรกิจวาณิชธนกิจในไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ซีไอเอ็มบีเชี่ยวชาญอยู่แล้ว

จากโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของซีไอเอ็มบี 4 รูปแบบ ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Banking) วาณิชธนกิจ (Corporate and Investment Banking) ตลาดทุน (Stock Broking) และธนาคารอิสลาม (Islamic Banking)ซึ่งในอนาคตรูปแบบเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในไทยเช่นกัน ยกตัวอย่าง ธนาคารอิสลามที่ถือเป็นจุดแข็งของซีไอเอ็มบี

ภายใต้แนวทางที่ซีไอเอ็มบีจะใช้ความเชี่ยวชาญรุกธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น ถูกวางเป้าหมาย 3 ปี ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านบรรษัทธุรกิจและตลาดทุน ส่วนในปี 2554-2555 จะเป็นปีที่เริ่มเติบโตและมีกำไรอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับบริการรูปแบบที่ไม่เคยเห็นในประเทศไทย แต่ซีไอเอ็มบีจะนำเข้ามา เช่น บริการรับฝากเงินเหรียญผ่านตู้คีออส ซึ่งปัจจุบันซีไอเอ็มบีเป็นแบงก์แรกและแบงก์เดียวในเอเชียที่นำมาใช้ การเปิดสาขา ''คาเฟ่ แบงกิ้ง'' ซึ่งเป็นที่นิยมในมาเลเซีย โดยที่ภายในร้านจะมีบริการด้านการเงินที่มีพนักงานของธนาคารคอยให้บริการ และให้คำปรึกษาทางการเงิน รวมทั้งภายในร้านจะมีอาหารและเครื่องดื่มให้บริการแก่ลูกค้าด้วย

ขณะที่แผนเร่งด่วนที่จะเห็นภายในมีนาคม 2552 นี้ ซีไอเอ็มบีเตรียมใส่เงินเพิ่มทุนให้ไทยธนาคารอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ปรับจาก 6.93% เป็น 15-16% ซึ่งจะส่งผลให้ไทยธนาคารกลับมาขยายธุรกิจได้เป็นปกติ

****ปรับโครงสร้างผู้บริหาร

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารเพื่อความเหมาะสม เป็นอีกหนึ่งในแผนงานในอนาคตหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ซึ่งอยู่ระหว่างการหาผู้มาทำหน้าที่แทนนายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ ที่ได้ลาออกและมีผลตั้งแต่สิ้นเดือนธันวาคม 2551 โดยประธานบริหาร ซีไอเอ็มบี กำหนดคุณสมบัติ ''ซีอีโอคนใหม่'' ยังต้องเป็นคนท้องถิ่น (คนไทย) เป็นผู้บริหาร ส่วนแผนการปรับลดจำนวนพนักงานที่มีอยู่ประมาณ 3,129 คนนั้น ยังยืนยันเหมือนในทุกๆครั้งว่า ไม่มีแผนปรับลดพนักงาน แต่อาจเปิดรับพนักงานเพิ่มเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในไทย

ไทยธนาคารเป็นเสมือนส่วนที่เติมเต็มสำหรับพื้นฐานของธนาคารที่ครบวงจร ซึ่งซีไอเอ็มบี มีที่มั่นที่สำคัญในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งน่าจะได้เห็นไทยธนาคารกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ด้วยศักยภาพของพื้นฐานความชำนาญในธุรกิจวาณิชธนกิจของกลุ่มซีไอเอ็มบีในภูมิภาค โดยการขยายฐานลูกค้าจะกลับมาได้ภายในอีก 2-3 ปี เป็นสิ่งที่ประธานบริหาร ซีไอเอ็มบี สะท้อนเส้นทางอนาคตที่ชัดเจนของแบงก์แห่งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook