เปิดแผนยืมมือแบงก์รัฐกู้เศรษฐกิจ เร่งปล่อยสินเชื่อ3แสนล้านหนุนเกษตรกร-ส่งออก

เปิดแผนยืมมือแบงก์รัฐกู้เศรษฐกิจ เร่งปล่อยสินเชื่อ3แสนล้านหนุนเกษตรกร-ส่งออก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังได้พิจารณาเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจำนวน 3 แห่งเป็นวงเงินรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ จำนวน 2 พันล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ 5 พันล้านบาท และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 5 พันล้านบาท

การเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินของรัฐในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งเม็ดเงินที่เพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงินทั้ง 3 แห่งเมื่อรวมกับโครงการต่างๆ ที่ผ่านสถาบันการเงินของรัฐทั้งหมดจะสามารถปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบได้จำนวน 3 แสนล้านบาท ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ นายกรณ์กล่าว

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการธนาคารประชาชนต่อเนื่องและสินเชื่อเพื่อรายย่อย ปล่อยกู้โดยไม่จำกัดวงเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการสานฝันแรงงานไทย 1 หมื่นล้านบาท โครงการฟื้นเศรษฐกิจชุมชน 2.5 หมื่นล้านบาท โครงการพยุงราคายางพารา 4 พันล้านบาท เพิ่มวงเงินสำหรับโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร 2 หมื่นล้านบาท

ธสน.ปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการประกันการส่งออก 1.5 แสนล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจ เอสเอ็มอี 1 แสนล้านบาท บสย.ประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี 1.2 หมื่นล้านบาท ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 1 หมื่นล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ปล่อยสินเชื่อโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

นายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ ธสน.กล่าวว่า ธสน. รับนโยบายการปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากรมว.คลัง รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่กระทรวงการคลังจัดหาให้ธสน.เพื่อดำเนินโครงการจาก 3 แหล่ง โดยแบ่งเป็น 1.กองทุนค้ำประกันการส่งออก ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความกังวลว่าอาจไม่ได้รับเงินค่าสินค้าคืนจากประเทศคู่ค้าในวงเงิน 5 พันล้านบาท

วงเงินดังกล่าวที่จะใช้ค้ำประกันการส่งออก กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ดำเนินการจัดหาให้ทั้งหมด ธสน.เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ส่งต่อเงินให้กับผู้ส่งออกเท่านั้น คาดว่าจะจัดหาวงเงินนี้ได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือภาคการส่งออกได้มูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นายอภิชัยกล่าว

นายอภิชัย กล่าวว่า สำหรับกองทุนที่ 2 ที่ธสน.จะดำเนินการจัดตั้งคือกองทุนเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษหรือซอฟต์โลน โดยจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ค้ำประกันการส่งออกหรือแอล-ซี ในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลังจะเป็นผู้หาวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และอีก 1 หมื่นล้านบาทมาจากธนาคารพาณิชย์ และ 3.เป็นเงินที่ธสน.ปล่อยสินเชื่อตามปกติจำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยวงเงินจำนวนนี้จะสามารถประคองลูกค้าของธนาคารได้ในช่วงไตรมาส 1 ก่อนที่เงินในโครงการอื่นๆ จะเข้าสู่ระบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook