ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบงก์ ยังมีจะปรับตัวลดลงอีก

ลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแบงก์ ยังมีจะปรับตัวลดลงอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ถึงเหตุผลกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทางการไทยต้องการเห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยหดแคบลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ได้กว้างอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแท้จริง หรือ ผลตอบแทนที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ที่คำนวณจากการนำรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมาหารด้วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา อยู่ที่เพียงร้อยละ 3.71 และหากหักต้นทุนเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากอีกปีละร้อยละ 0.4 และต้นทุนจากการบริหารเอ็นพีแอล อีกประมาณร้อยละ 0.8 จะได้ %NIM ที่เหลือเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น อัตราดังกล่าวยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อันยิ่งจะทำให้การประเมินส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่คำนึงถึงการประกอบธุรกิจในภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ยิ่งลดลงไปอีก

%NIM ดังกล่าวยังมีโอกาสปรับตัวลดลงอีกในปี 252 ท่ามกลางหลากปัจจัยลบ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยที่คงจะกดดันการปล่อยสินเชื่อให้เติบโตลดลง อัตราผลตอบแทนของสภาพคล่องที่น่าจะลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ไล่หลังมาจากการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปี 2551 เป็นต้น

นอกจากนี้ แนวทางหดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยภาครัฐ อาจมีนัยในเชิงลบต่อผลประกอบการและฐานะเงินกองทุน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในกรณีที่ต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงจนทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (ที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์) ลดลงจากประมาณร้อยละ 6 เหลือเพียงร้อยละ 2 ก็เท่ากับว่า %NIM จะลดลงถึงประมาณร้อยละ 1.7 คิดเป็นรายได้ที่หายไปจำนวนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท และอัตราส่วนเงินกองทุนที่ลดลงประมาณร้อยละ 2.2 (กำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่) ซึ่งย่อมจะเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังคงมีธนาคารบางแห่งในปัจจุบัน มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปริ่ม หรือสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของทางการไม่มากนัก

ดังนั้น แนวทางการปรับลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว แม้ว่าจะส่งผลดีต่อส่วนรวม โดยเฉพาะภาคธุรกิจและครัวเรือนที่พึ่งพิงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ แต่การคำนวณส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจากการนำอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาหักออกจากอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมนั้น คงไม่สามารถสะท้อนภาพธุรกิจที่แท้จริงของธนาคารพาณิชย์ไทยได้ ขณะเดียวกัน การผลักดันให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพียงขาเดียว หรือปรับลดในขนาดที่มากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้น อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงเงินกองทุน และสถานะความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook