เข้าขั้นวิกฤต พยาบาลลาออกปีละกว่า3พันคน

เข้าขั้นวิกฤต พยาบาลลาออกปีละกว่า3พันคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 19 ม.ค. เกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลว่า เป็นปัญหาเรื้อรัง มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดปี 2551 สภาพยาบาลรายงานว่า มีพยาบาลลาออกจากระบบราชการ รวมทั้งเปลี่ยนสายงาน เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี หรือประมาณ 3,000 คน สาเหตุเนื่องจากค่าตอบแทนต่ำ แต่รับภาระงานหนัก รวมถึงการขาดสวัสดิการและแรงจูงใจให้ปฏิบัติงาน ที่สำคัญยังพบว่า พยาบาลที่จบใหม่จากวิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ปีละประมาณ 2,500 คน โดยครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1,200 คน ไม่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากเป็นเพียงลูกจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ จึงไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เช่น สิทธิค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ สรุปแล้วขณะนี้จำนวนพยาบาลจบใหม่ที่จะทดแทนพยาบาลที่ลาออกไป อยู่ในสถานะติดลบปีละกว่า 2,000 คน

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ในป0 มีพยาบาลวิชาชีพในระบบ 105,398 คน ในขณะที่มีผู้ใช้บริการเป็นผู้ป่วยนอกเกือบ 40 ล้านคน มีผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องนอนโรงพยาบาล 9 ล้านกว่าคน เมื่อคำนวณความต้องการพยาบาลวิชาชีพ เพื่อรองรับบริการสุขภาพที่เพิ่มขึ้น จะต้องมีพยาบาลทั้งหมด 130,000 คน ยังขาดอีกประมาณ 24,000 คน จึงจะได้สัดส่วนพยาบาลต่อประชากรที่เหมาะสมตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ 1 ต่อ 500 ที่น่าเป็นห่วง พยาบาลที่เหลืออยู่ในระบบขณะนี้ ร้อยละ 80 อยู่ในวัยกลางคนอายุ 30 ปีขึ้นไป บางแห่งพยาบาลอายุ 50 ปี ต้องอยู่เวรยามวิกาลและวันหยุดราชการ พยาบาลวิชาชีพ 1 คน รับภาระดูแลผู้ป่วยทั้งตึก 30-40 คน ทำให้เครียดอ่อนล้า เริ่มทยอยลาออก หากไม่มีการแก้ไข จะมีผลกระทบต่อคุณภาพบริการในอนาคตแน่นอน

ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดพยาบาลนั้น นายมานิตกล่าวว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยผลิตหน่วยบรรจุข้าราชการ และหน่วยงบประมาณเงินเดือน ค่าตอบแทนต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากกำลังคนด้านพยาบาลไม่สามารถใช้บุคลากรอื่นทดแทนได้ เบื้องต้นได้วางแนวนโยบายการแก้ไขไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ขอสำนัก ก.พ.บรรจุพยาบาลจำนวน 12,500 คน ที่เป็นลูกจ้างปัจจุบัน 10,000 คน และที่กำลังจะจบในเดือน มี.ค. 2552 อีก 2,500 คน รวมทั้งเปลี่ยนสายงานข้าราชการที่มีวุฒิการศึกษาพยาบาล อีก 3,000 คน 2.ปรับเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นและขยายโอกาสความก้าวหน้า 3.สนับสนุนการเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก การศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น 4.การผลิตผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปี เพิ่มปีละประมาณ 1,000 คน เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2551

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook