เปิดแผนผังทุจริตจำนำข้าว โกงได้ทุกขั้นตอน

เปิดแผนผังทุจริตจำนำข้าว โกงได้ทุกขั้นตอน

เปิดแผนผังทุจริตจำนำข้าว  โกงได้ทุกขั้นตอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว โดยพบว่าไม่มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จริง โดยเอาผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สารผล รมช.พาณิชย์ กับพวก 15 ราย ทำให้คนไทยทั้งประเทศได้รู้ว่าโครงการรับจำนำข้าวนั้นมีช่องโหว่ และความลับที่คนไทยทั้งประเทศยังไม่รู้อีกมาก

โดยเฉพาะช่องโหว่ในการทุจริจซึ่งเชื่อกันว่าทุจริจกันเกือบทุกขั้นตอน ซึ่ง "พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว" ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง เคยวิเคราะห์ไว้ที่ http://thaipublica.org/ โดยบอกว่า "ไม่ง่ายเลยที่จะทำคดีเกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เพราะแต่ละกระบวนการที่เกี่ยวข้องมีผลประโยชน์เยอะมาก" 

แม้วันนี้ความจริงบางส่วนถูกเปิดเผยออกมาแล้ว แต่ยังมีความจริงที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ ซึ่งจากบทความด้านล่างจะทำให้คนไทยได้กระจ่างมากขึ้น ถึงกระบวนการทุจริตครั้งใหญ่ของประเทศไทย 

"พงศ์อินทร์ อินทรขาว" มือปราบดีเอสไอ เปิดกระบวนการทุจริตจำนำข้าว โกงได้ทุกขั้นตอน ระบุสาวไม่ถึงต้นตอ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเป็นปัญหาเรื้อรังเกินความสามารถที่หน่วยงานภาครัฐจะเยียวยาแก้ไข แม้จะมีความพยายามป้องกันและปรามปราม รวมถึงดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทุจริตจำนำข้าว แม้จะมีหลักฐานพยานชัดเจนแต่ไม่สามารถเอาผิดได้ และไม่ได้ช่วยทำให้กระบวนการรับจำนำข้าวมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากขึ้นแต่อย่างใด

ล่าสุดเกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2554/2555 ของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่นำระบบรับจำนำกลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากยกเลิกไปช่วงหนึ่งในรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ซึ่งหันไปใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรแทน

โครงการรับจำนำของรัฐบาลชุดนี้การันตีว่าจะควบคุมดูแลไม่ให้มีการทุจริต โดยแต่งตั้งคณะกรรมการหลายๆ ชุดขึ้นมากำกับตรวจสอบ แต่ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอย พบการทุจริตจำนำข้าวเกิดขึ้นจนได้

โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กระทรวงพาณิชย์ส่งเรื่องคดีทุจริตจำนำข้าวเป็น "คดีพิเศษ" ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม รับไปดำเนินการ 2 คดี คือ คดีการทุจริตโครงการจำนำข้าวจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดนครนายก ซึ่งอาจมีพื้นที่อื่นเพิ่มเติมเข้ามาอีก เช่น ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

การทุจริตทั้งสองคดี พบพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดคือ มีการสวมสิทธิ์แทนเกษตรกรตัวจริงโดยผู้ที่เข้าสวมสิทธิ์ไม่ได้เป็นเกษตรกร เพื่อเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวนหลายราย ซึ่งจะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ คดีทุจริตจำนำข้าวที่ยกระดับเป็นคดีพิเศษ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักคดีความมั่นคงของดีเอสไอ มีมือปราบที่ดูแลในเรื่องนี้คือ "พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว" ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง ซึ่งได้กล่าวถึงทำคดีทุจริตจำนำข้าวว่า "ไม่ง่ายเลยที่จะทำคดีเกี่ยวกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เพราะแต่ละกระบวนการที่เกี่ยวข้องมีผลประโยชน์เยอะมาก"

โดยสำนวนเกี่ยวกับโครงการรับจำนำจำนำพืชผลเกษตร รวมถึงจำนำข้าวจะมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน

1. เกษตรกรที่นำพืชผลหรือข้าวเปลือกไปจำนำ

2. คนกลาง เพราะรัฐไม่มีที่รับจำนำหน้างาน ไม่มีไซโล ส่วนใหญ่ถ้าจำนำมันสำปะหลังก็ไปโรงมัน โรงแป้ง ถ้าเป็นข้าวก็ไปโรงสี ส่วนลำไยก็เป็นโรงอบ แล้วแต่กรณี จะมีคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง

3. เมื่อรับจำนำเสร็จก็ต้องเอาไปเข้าคลังสินค้ากลาง จากนั้นก็ไปสู่โครงการระบายสินค้า

นี่คือกระบวนการทั้งหมดของการจำนำข้าวทั้งระบบ

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวว่า โครงการรับจำนำพืชผลเกษตรทุกอย่างจะมีเกษตรกร หลังจากนั้นจะมีเรื่องของคนกลาง กรณีจำนำข้าวคือโรงสี จากโรงสีไปคลังสินค้ากลาง จากนั้นก็ขั้นตอนสุดท้ายคือการระบายข้าว

ในกรณีการทุจริตตรงเกษตรกร จะมีเรื่องการสวมสิทธ์ ประเด็นต่อมา พอเอาข้าวมาที่โรงสีเกษตรกรจะถูกเอาเปรียบหลายกรณี เช่น สิ่งปลอมปน ความชื้น น้ำหนัก รับจำนำบางส่วน กีดกันทุกอย่างเพื่อให้เกิดกระบวนการต่อรอง เพราะเครื่องมือชั่ง ตวง วัด อยู่ที่โรงสีทั้งหมด และเนื่องจากการรับจำนำข้ามเขตไม่ได้ ก็อาจถูกโรงสีกีดกันหรือจำกัดให้รับจำนำบางส่วน

ตัวอย่างเช่น มีข้าว 100 ตัน แต่รับจำนำแค่ 50 ที่เหลือโรงสีบวกของตัวเองเข้าไปอีก 50 ตัน ถ้าไม่ยอมเช่นนั้นก็จะอ้างในเรื่องต่างๆ ทำให้เกษตรกรต้องยอม กระบวนการตรงนี้เกษตรกรถูกเอาเปรียบมาก นอกจากนี้โรงสียังมีรายได้จากค่าแปลงสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวขาว

"ปกติชาวบ้านจะไม่ได้มาที่โรงสีเอง จะวานรถมาส่งที่โรงสี เขาก็ไม่มีปากมีเสียงแทน หรือแม้แต่ชาวนามาเองก็ไม่มีอำนาจต่อรอง สุดท้ายชาวนาจะถูกเอาเปรียบตรงนี้มาก และท้ายสุดก็เป็นช่องว่างให้มีการแทรกแซงการสวมสิทธิ"

ประเด็นต่อมา ที่คลังสินค้ากลาง เขาเรียกว่า กินรายวันเหมือนหอพัก แต่ไม่ได้เอาคนพัก กลายเป็นเอาข้าวมาพัก ใครมีคลังสินค้ากลางก็เหมือนมีหอพักเก็บข้าว ซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาล ทั้งที่ได้โดยสุจริต คือ ค่าเก็บรักษา และค่าขนส่ง

แต่ตรงคลังสินค้าก็มีช่องว่าการทุจริต คือ เวลาเอาข้าวเข้ามาเป็นข้าวใหม่ เก็บนานเป็นข้าวเก่า เขาก็เอาข้าวเก่าไปขาย แล้วเอาข้าวใหม่มาแทนที่ หรือบางกรณีเอาข้าวที่ยังไม่เสียมารอสำหรับรองพื้นข้างล่าง (กรณีที่รับเอาข้าวใหม่เข้ามาในคลังสินค้า) บางครั้งก็ลักไปขายแล้วเอามาคืนไม่ทัน ก็ถือว่าขโมยไปขาย นอกจากนี้ บางกรณีเอาข้าวคุณภาพไม่ดีมาเปลี่ยนหรือปลอมปน เป็นต้น

"มีการพูดกันว่า เวลามีโครงการรับจำนำข้าว บางคนสร้างคลังสินค้ากลางขึ้นมารอเลย ตรงนี้โกงรัฐ เพราะเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีใครมาไถ่จำนำคืน เท่ากับรัฐรับซื้อทั้งหมด ถ้ามีความเสียหายคนที่เสียหายคือรัฐไม่ใช่เกษตรกร"

สุดท้าย กระบวนการระบายข้าว รัฐบาลจะเป็นผู้รับขาดทุนเสมอ เพราะรับจำนำในราคาสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือการซื้อขาดนั่นเอง เนื่องจากเกษตรกรเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มาไถ่ถอนคืน เมื่อรัฐซื้อข้าวมาในราคาแพง แต่เวลาขายกลับต้องขายถูกเพื่อแข่งขันกับต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เพราะฉะนั้น รัฐต้องขาดทุนอย่างแน่นอน

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ระบุว่า หลักการของการรับจำนำคือ เอาข้าวออกจากตลาด 20% เพื่อดึงซัพพลายออกจากตลาด ทำให้ดีมานด์หรือควาต้องการสูงขึ้น ซัพพลายลดลงราคาข้าวจะได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเอาข้าวออกไปแล้ว ก็ต้องการระบายข้าวออกนอกประเทศ เพื่อที่ข้าวฤดูใหม่เกิดขึ้นมาจะได้ราคาไม่ตก หรือทำให้ข้าวราคาสูง

"แต่ประเด็นคือ ข้าวไปต่างประเทศจริงหรือไม่ กระบวนการทั้งหมดตรงนี้น่ากลัวที่สุด ซึ่งมีตัวอย่างในอดีตเกิดขึ้นแล้วในกรณีมีบริษัทที่ประมูลข้าวชนะ แต่ไม่ส่งข้าวออกไปต่างประเทศ"

โดยรูปแบบที่ทำกันคือ ตั้งบริษัทตัวแทน หรือ นอมินี ขึ้นมาบอกว่า มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ แล้วทำหลักฐานเท็จขึ้นมา เช่น มี L/C (Letter of Credit) เป็นต้น แล้วก็เข้าโครงการระบายข้าว ที่มีกระบวนการประมูล สุดท้ายได้โควตาไปดำเนินการ แต่ไม่ได้ส่งข้าวออกนอกประเทศจริง

ล่าสุดในรัฐบาลที่แล้ว มีอยู่คดีหนึ่งที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ ปรากฏว่า มีการระบุจะส่งข้าวโดยทางเรือแต่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ท้ายสุด ข้าวกลับมาเป็นข้าวในประเทศ ข้าวไม่ได้ไปไหน นี่คือเหตุผลที่ข้าวถุงแพงแต่ชาวนาจน

"กระบวนการจำนำข้าวที่น่ากลัวที่สุดคือ การระบายข้าว แต่ผลกระทบมากที่สุดตกอยู่ที่เกษตรกร ทั้งที่โครงการนี้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร แต่เกษตรกรกลับถูกเอาเปรียบอย่างสาหัสตรงโรงสี ส่วนรัฐถูกเอาเปรียบตรงคลังสินค้า"

สำหรับการดำเนินการของดีเอสไอที่รับคดีจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 เข้ามา 2 คดี คือที่กาญจนบุรีกับนครนายกนั้น พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวว่า การปฏิบัติของดีเอสไอในคดีคือ ได้รับเชิญให้ไปร่วมการตรวจสอบของคณะกรรมตรวจสอบและประเมินผลของการรับจำนำข้าวนาปี แต่พบว่าผลของการตรวจสอบไม่ได้เข้มข้นจริงจัง ทั้งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่การไปตรวจต้องจริงจัง และเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจสอบต้องมีอำนาจ มีความรู้ สามารถไปโต้เถียงกับโรงสีได้ เพราะโรงสีเขามีความเชี่ยวชาญและมีอิทธิพลมาก

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ยอมรับว่าแนวทางการดำเนินคดีจะเน้นตั้งรับมากกว่าเชิงรุก เพราะมีคดีพิเศษที่รับผิดชอบจำนวนมากที่สำคัญเช่น คดีทุจริตยาสูตรผสมซูโดอีเฟรดรีน และ คดีทุจริตเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. เป็นต้น แค่คดีซูโดอีเฟรดรีนก็ใช้เวลานานเป็นครึ่งปีแล้ว

ที่สำคัญ จากบทเรียนหรือประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีทุจริตในโครงการจำนำพืชผลเกษตร เช่น คดีเกี่ยวกับรับจำนำมันสำปะหลัง เกี่ยวกับการะบายสินค้า ระบายข้าว การทุจริตเกี่ยวกับโกดังข้าว ทุจริตเรื่องลำไย ทำให้รู้ว่า แผนประทุษกรรมพวกนี้มีขบวนการอย่างไร และก็มีประสบการณ์เรื่องนี้พอสมควร ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กระทรวงพาณิชย์โอนคดีทุจริตจำนำข้าวมาให้ดีเอสไอรับผิดชอบเป็นคดีพิเศษ แต่เรื่องนี้ไม่ง่าย

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวว่า จากประสบการณ์ เคยทำคดีกรณีทุจริตโครงการจำนำมันสำปะหลังซึ่งมีการสวมสิทธิเกษตรกร ทางเราลงพื้นที่ไปสอบพยานบุคคลเพื่อหักล้างพยานเอกสาร มีการสอบเกษตรกรเป็นร้อยคนจนได้รับการยืนยันจากเกษตรกรว่า เขาถูกจ้างคนละ 5,000 บาท เพื่อเซ็นชื่อโอนสิทธิ์ให้คนอื่นที่ไม่ใช่เกษตรกรมาสวมสิทธิ์แทนเพื่อเข้าโครงการรับจำนำ แต่สุดท้าย คนในกระบวนการทางกฎหมายเขาเชื่อพยานหลักฐานมากกว่าพยานบุคคล

"คดีนี้เราทำงานละเอียดมาก และทุ่มเทมากกับสำนวนนี้ ทุ่มความรู้ทุกอย่าง หมดไปครึ่งปี แต่สุดท้ายยื่นฟ้องที่อัยการคดีพิเศษในปี 2543 อัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งหมด คดีก็จบ เพราะไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้"

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์สรุปบทเรียนจากการทำคดีทุจริตโครงการจำนำพืชผลเกษตรว่า อุปสรรคที่สำคัญคือ ปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล และอุปสรรคของพนักสอบสวนที่หนักสุดคือ การฮั้วกันของผู้ว่าจ้างกับชาวบ้านที่ถูกว่าจ้างมาให้ทุจริต ซึ่งในกรณีทุจริตจำนำมันสำปะหลัง มีการเรียกชาวบ้านมาสอบสวนครั้งแรกกับครั้งที่สองปฏิเสธ จนครั้งที่สามถึงยอมรับ แต่สุดท้ายในทางกฎหมายพยานเอกสารน่าเชื่อถือว่าพยานบุคคล จึงทำอะไรไม่ได้

"อย่างไรก็ตาม กรณีทุจริตจำนำข้าว ผมฟ้องได้อยู่แล้ว แต่เขาจะเอาตามผมหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องข้าว 2-3 กรณี ส่วนกรณีมันสำปะหลังที่ผมทำผมมีพยานบุคคลเป็นร้อยเขายังไม่เชื่อผมเลย เขาเชื่อเอกสาร เขาว่าอย่างนั้น"

แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ แต่พ.ต.ท.พงศ์อินทร์มั่นใจว่า ถ้ามีเครื่องมือให้ดีเอสไอจะช่วยลดปัญหาได้บ้าง โดยเครื่องมือที่ต้องการมากที่สุดคือ ผู้ตรวจสอบคุณภาพสินค้า (Surveyor) ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบคุณภาพข้าว

"ถ้าผมมี surveyor เป็นของผมเอง จะตรวจได้เลยว่าทำดีไม่ดี ทำถูกไม่ถูก มีการระบายจริงหรือไม่ ถ้าได้อันนี้จะทำให้ดีเอสไอมีอำนาจมากขึ้นในการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ surveyor จะรู้จักกับเจ้าของโกดังกลาง ก็อาจทำให้การตรวจสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้"

นอกจากนี้ยังเสนอแนะว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีกวดขันและเอาจริงเอาจังในขั้นตอนโรงสี จะช่วยชาวนาไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้ลดลง และควรคัดเลือกคนที่ไม่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับโรงสีออกไป แล้วให้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนชุดใหม่ทุกปี ซึ่งปัจจุบันใช้แต่คนซ้ำๆ บางครั้งก็ไม่อยู่ เนื่องจากมีงานประจำ และบางครั้งก็เซ็นอนุมัติให้ไปก่อนทั้งที่ไม่ได้อยู่ตรวจ

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์กล่าวทิ้งทายว่า ปัญหาใหญ่ของการทุจริตจำนำข้าวหรือจำนำพืชผลเกษตรเป็นปัญหา "เชิงระบบ" ของโครงการจำนำข้าว และปัญหาการ "บริหารจัดการ" ในแต่ละกระบวนการ ส่วนการไล่จับหรือการดำเนินคดีเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

"การดำเนินคดีทุจริตจำนำข้าว ดีเอสไอมองทั้งกระบวนการในภาพรวมทั้งระบบ ไม่ได้ดำเนินคดีเฉพาะจุด หรือจับกุมเฉพาะหน้างานแต่ละจุดเท่านั้น ทำให้เห็นปัญหาภาพรวมทั้งระบบ และที่พูดมาทั้งหมดเพราะต้องการให้เกิดการแก้ํปัญหาอย่างแท้จริง"

18 เมษายน 2012

ขอบคุณข้อมูลจาก   http://thaipublica.org/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook