มาร์คไม่หวั่นยูเอ็นเอสซีอาร์จุ้นโรฮิงยา วอนตปท.มองที่ต้นตอปัญหา เชิญทูต 3 ชาติถกแนวทางแก้ไข

มาร์คไม่หวั่นยูเอ็นเอสซีอาร์จุ้นโรฮิงยา วอนตปท.มองที่ต้นตอปัญหา เชิญทูต 3 ชาติถกแนวทางแก้ไข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ทัพภาค 4 เผยค่าหัวแรงงานโรฮิงญา2หมื่น/คน มาร์ค ไม่หวั่น ยูเอ็นเอสซีอาร์ ยื่นมือจุ้น โรฮิงยา ขอให้มาคุยการทำงานร่วมกับ รบ.ก่อน วอนตปท.ต้องมองต้นตอปัญหาไม่ได้เกิดจากไทย เล็งหารือที่ประชุมสมช. 22 ม.ค.นี้ เชิญทูต3ชาติถกแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่รัฐสภา คณะกรรมการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายต่อพงศ์ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธานฯ ได้เชิญ พ.อ.มนัส คงแป้น ผู้แทนจากกองทัพภาค 4 นายอิทธิพร บุญประคอง รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศและนายเมธา พร้อมเทพ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงต่างประเทศ เข้าชี้แจงกรณีประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าไร้มนุษยธรรมและทารุณกรรมชาวโรฮิงญา ที่เข้ามาในประเทศไทย

พ.อ.มนัส กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไม่เคยทารุณกรรมกับชาวโรฮิงญาเลย ตรงกันข้ามกลับดูแลอย่างดีเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ภาพที่ออกไปอาจจะน่ากลัว เพราะมีการถอดเสื้อเพื่อตรวจค้นอาวุธ เมื่อค้นอาวุธเรียบร้อย ก็พาไปเลี้ยงอาหารและถามถึงจุดประสงค์ว่าจะเดินทางไปที่ใด และได้จัดเสบียงให้ไปด้วย เพื่อให้สามารถเดินทางกลับประเทศได้ โดยไม่มีการกระทำทารุณรุนแรง ที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขของผู้อพยพโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2549 จำนวน 1,200 คน และปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 คน

และทราบมาว่า กลุ่มผู้ค้ามนุษย์จะมีรายได้ต่อหัวถึงรายละ 2 หมื่นบาทในการนำชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทย หรือพาไปทำงานยังต่างประเทศ ดังนั้น กรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องว่าให้เปิดศูนย์ผู้อพยพในประเทศไทยนั้น ทางฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดที่ประเทศไทย ถ้าจะเปิดศูนย์ก็ควรเปิดที่ประเทศต้นทาง ไม่ใช่ประเทศไทย พ.อ.มนัส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง พ.อ.มนัสชี้แจงประมาณ 30 นาที กมธ.ได้แจ้งกับสื่อมวลชนว่า ขอเป็นการประชุมลับ ซึ่งกมธ.ใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง โดยภายหลังการประชุม นายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศและนางสาวรัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ รองโฆษกกรรรมาธิการต่างประเทศ แถลงว่า ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงว่า การเข้ามาของชาวโรฮิงญา คาดว่ามาจากสภาพเศรษฐกิจ หากไม่มีการแก้ไข ในอนาคตอาจทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเข้ามาในประเทศมากขึ้น จึงได้เสนอแนะว่า ควรแก้ที่ต้นตอของปัญหา เพราะชาวโรฮิงญาอาจไม่ได้รับการดูแลและขาดโอกาสเท่าเทียมกับคนในพม่า กระทรวงต่างประเทศจึงต้องพบปะพูดคุยกับประเทศที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้ลี้ภัยจากประเทศพม่าไปประเทศอื่น นอกจากนี้ ต้องดูแลแรงงานให้เป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมือง ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศจะต้องสืารกับองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างชาติว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่เป็นความจริงเหมือนกับที่มีข่าวเกิดขึ้น

ส่วนวิธีการผลักดันชาวโรฮิงญาออกนอกประเทศไทยนั้น นายดนุพร กล่าวว่า จากการสอบถามมี 3 วิธี คือ 1.ป้องกัน ซึ่งทำได้น้อยเพราะมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง 2.ให้ความช่วยเหลือและ 3.ประสานให้กลับบ้านเกิด แต่กมธ.ฝากให้กระทรวงต่างประเทศประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการและรัฐบาลต้องเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ พม่า อินเดีย บังคลาเทศเพื่อแก้ไขปัญหาให้เป็นระบบและหากประชาคมอาเซียนมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็น่าจะผลักดันการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้สำเร็จได้

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 22 มกราคม จะมีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คงต้องพูดถึงนโยบายในเชิงการปฏิบัติงาน เราต้องพยายามหาทางไม่ให้เป็นปัญหาความมั่นคง และยึดหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนปัญหาที่มีการกล่าวหากันในขณะนี้ ผู้ปฏิบัติรับไปตรวจสอบ สำหรับนโยบายจะต้องปรับปรุงอย่างไรนั้น วันที่ 22 มกราคม จะคุยกันในสมช. อีกส่วนคือการชี้แจง ก็ได้ขอว่า ควรประสานงานกันใกล้ชิดมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาพอเกิดเรื่อง ต่างคนต่างให้คำอธิบายโดยไม่ได้มาพูดคุยกันก่อน บางครั้งพอสื่อสารกันออกไปอาจทำให้เกิดความสับสน

เมื่อถามว่า ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่นโยบาย แต่อยู่ที่ความเอาจริงกับการหลบหนีเข้าเมือง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การปฏิบัติได้กดดันเจ้าหน้าที่มากขึ้น ขณะนี้มีผู้หลบหนีเข้าเมืองมาเยอะมาก จะปล่อยอย่างนี้ต่อไปไม่ได้

ส่วนยูเอ็นเอซซีอาร์จะเข้ามาดูเรื่องนี้ เรายินดี เพราะบอกไปปแล้วว่า ยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ และจะแสวงความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย แต่ว่าเขาต้องมาช่วยดูให้เราด้วยว่า ปัญหาพื้นฐานจริงๆ มันเป็นปัญหาที่ไม่ได้เริ่มต้นจากประเทศเรา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำ การแสวงโอกาส จะดูที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ส่วนข้อเรียกร้องของยูเอ็นเอสซีอาร์ ที่ขอมาพบกับผู้อบยพชาวโรฮิงยานั้น ก็ควรจะมาคุยกับทางเรา นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า แต่หลายประเทศมักไม่อยากให้องค์กรเหล่านี้เข้ามา เพราะกลัวถูกก้าวก่ายกิจการภายใน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากบอกว่า สามารถเข้ามาทำงานได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือความเข้าใจในกติกาที่เหมาะสม ส่วนภาระที่รัฐบาลต้องเลี้ยงดูผู้อพยพนั้น ก็จะดูเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม หากหน่วยงานเหล่านี้ข้องใจก็มีสิทธิมาตรวจสอบหรือมาช่วยดูได้ แต่ต้องมาทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกันเท่านั้นเอง

เมื่อถามว่า จะใช้นโยบายการจัดการ่างมาเลเซียและอินโดนิเซียทำหรือไม่ ในเรื่องการผลักดันออกทั้งหมด แล้วเปิดการจดทะเบียนอย่างเป็นระบบ นายกฯกล่าวว่า ปัญหาช่วงที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนโยบายแรงงานต่างด้าว ในใจตั้งแต่ก่อนมาเป็นรัฐบาล ไม่อยากให้เป็นเรื่องเสรี ถึงขั้นที่จดทะเบียนกันแบบไม่จำกัดแล้วมีปัญหามากในการบริหาร แต่อยากจะจำกัดในเรื่องพื้นที่และอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้คุยกับนายไพฑุรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน เพราะขณะนี้มีปัญหาในเรื่องการว่างงานมากขึ้น จึงทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างคนไทยซึ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับโอกาสกับคนที่เข้ามา ซึ่งตนได้พูดกับต่างประเทศว่า ขอให้ได้เข้าใจตรงนี้ ที่จริงทุกประเทศมีปัญหานี้ไม่เฉพาะไทย จึงน่าจะเข้าใจ และจะได้หาโอกาสพูดคุยในเวทีการประชุมกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล (บิมสเทค) ในโอกาสอันใกล้นี้ด้วย

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระรทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญา ว่าการมอบหมายให้ปลัดกระทรวงต่างประเทศ ทำหน้าที่ในการเชิญเอกอัครราชฑูตในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือกันเร็วๆนี้

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงปัญหาการอพยพโรฮิงญาว่า กระทรวงต่างประเทศเตรียมติดต่อเอกอัครราชทูตประเทศที่ประสบปัญหาลักษณะเดียวกับประเทศไทย อาทิ อินเดีย พม่า บังกลาเทศ มาหารือเร็วๆ นี้ โดยจะขอข้อมูลจากประเทศเหล่านั้นว่ามีมาตรการที่ใช้แก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะปัญหาแรงงานข้ามชาติถือเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ส่วนกรณีที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สอบถามถึงกรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญานั้น ที่ผ่านมาเราได้พูดคุยเรื่องนี้กับUNHCR ตลอดเวลาและเตรียมจะเชิญตัวแทนของ UNHCR เข้ามาพูดคุยเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้หารือเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

ที่ จ.ระนอง นายยุทธนา รักษ์เมืองไทย สารวัตรกำนัน ต.เกาะพยาม จ.ระนอง กล่าวว่า โรฮิงญาจะขึ้นฝั่งที่เกาะพยาม เมื่อมาถึงจะทำลายเครื่องยนต์เรือ เพราะไม่อยากกลับ ชาวเกาะทำใบเรือให้แทน พร้อมจัดหาเสบียงใส่เรือไปให้กินได้นานนับสัปดาห์ ไม่ใช่สองวันตามที่เป็นข่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook