มาตรการแก้ปัญหาว่างงาน ช่วยกระตุ้นศก.ระยะสั้น

มาตรการแก้ปัญหาว่างงาน ช่วยกระตุ้นศก.ระยะสั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ เศรษฐกิจติดดิน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

การแก้ปัญหาการว่างงานเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทางการไทย เนื่องจากล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ประเมินจำนวนผู้ว่างงานในปี นี้ ว่าอาจสูงถึง 1.1-1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 6-9 แสนคน

จากจำนวนผู้ว่างงานที่มีอยู่แล้วประมาณ 5 แสนคนในปี 51 ซึ่งน่าจะครอบคลุมทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่และแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง

คาดว่า ท่ามกลางปัจจัยลบทางเศรษฐกิจรอบด้าน อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มอาจจำเป็นต้องเลิกจ้างงานน่าจะมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่คาดว่าน่าจะประสบกับภาวะการชะลอตัวชัดเจน หรือแม้กระทั่งการหดตัวจากปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้มีการจัดสรรเงินค่าครองชีพรายละ 2,000 บาท ให้กับผู้ประกันตนและข้าราชการที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ราว 9.45 ล้านคน

หากมีการนำเงินมาใช้จ่ายอาจทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมากกว่า 18,900 ล้านบาท พร้อมกับการพิจารณางบประมาณเพื่อฝึกอบรมอาชีพให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและนักศึกษาจบใหม่ เบื้องต้นรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งน่าจะทำให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าระบบอีกประมาณ 5,200 ล้านบาท ตามงบประมาณที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น

ทั้งสองมาตรการนี้ มองว่าเป็นมาตรการที่หวังผลกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นหลัก โดยน่าจะมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ ผ่านเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบจำนวนมากกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท สำหรับมาตรการแรก (ขึ้นกับผลของตัวทวีคูณหรือจำนวนรอบการหมุนเวียนของการใช้จ่าย) และเม็ดเงินอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจะมีมากน้อยขึ้นกับจำนวนผู้ที่มายื่นลงทะเบียนขอฝึกอบรมอาชีพ

สำหรับมาตรการอื่นๆ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณานั้น ความสำเร็จของมาตรการเหล่านั้น อาจยากที่จะประเมินได้ในขณะนี้โดยยังคงขึ้นอยู่กับรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละมาตรการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะแก้ปัญหาการว่างงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ครอบคลุมจำนวนผู้ว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังรวมไปถึงการทำงานต่ำระดับ ซึ่งถือเป็นการว่างงานแฝงอีกด้วย คงจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการโครงสร้างตลาดแรงงาน และคุณภาพของตลาดแรงงานอย่างจริงจัง ซึ่งคงไม่อาจจะสำเร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และคงจะยังเป็นโจทย์ที่รอให้ทางการไทยแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ทางการควรจะแยกประเด็นการออมเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญและซับซ้อนในตัวเองออกจากการแก้ปัญหาการว่างงานซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางการควรพิจารณาชั่งน้ำหนักให้ดีคือ หากมีการลดการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม หรือแม้กระทั่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งเป็นเสมือนกับการนำรายได้ในอนาคตมาใช้จ่ายในปัจจุบันก็อาจกระทบต่อฐานะความมั่นคงและเสถียรภาพของกองทุนเพื่อการออมระยะยาวและความเป็นอยู่ของประชากรในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะการใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook