"ร.ต.อ.เฉลิม" ส่งหนังสือข้อความชัดเจน 7 ข้อ ต่อศาลแพ่งแล้ว

"ร.ต.อ.เฉลิม" ส่งหนังสือข้อความชัดเจน 7 ข้อ ต่อศาลแพ่งแล้ว

"ร.ต.อ.เฉลิม" ส่งหนังสือข้อความชัดเจน 7 ข้อ ต่อศาลแพ่งแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ร.ต.อ.เฉลิม" แถลงระบุส่งหนังสือต่อศาลแพ่งแล้ว ขอความชัดเจนจากอธิบดีศาลแพ่ง 7 ข้อ ถึงอำนาจ ศรส.ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม กปปส. หวั่นละเมิดอำนาจศาล ยืนยันรักเคารพสถาบันตุลาการอย่างยิ่ง แต่ต้องขอความรู้เพื่อปฏิบัติได้ถูกต้อง

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐาน ผอ.ศรส. แถลงระบุส่งหนังสือต่อศาลแพ่งแล้ว ขอความชัดเจนต่ออธิบดีศาลแพ่งและองค์คณะผู้พิพากษาใน 7 ข้อ ว่าเจ้าหน้าที่ห้ามปฏิบัติ หรือปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมอย่างไรได้บ้าง ขอความกรุณาศาล หากตอบกลับมาเร็ว จะได้นำคำแนะนำมาสั่งการเจ้าหน้าที่ต่อไป ยืนยันรักเคารพสถาบันตุลาการเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอทราบเป็นความรู้ และต้องให้คนไทยทั้งประเทศรู้ด้วย พร้อมยืนยัน ศรส.ไม่เคยไปเวทีชุมนุมแม้แต่ครั้งเดียว และเหตุเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ศรส.ไม่ได้สลายการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมมาสลายตำรวจที่ราชดำเนินก่อน

ในเนื้อหาหนังสือที่ส่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งนั้นระบุว่าข้าพเจ้า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จำเลยที่ 2 ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบในฐานะผู้กำกับการปฏิบัติงานของส่วนราชการพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามระงับ ยับยั้ง และแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ใคร่ขอทราบและหารือแนวทางปฏิบัติว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวศูนย์รักษาความสงบจะพึงต้องปฏิบัติอย่างไร ในข้อเท็จจริงและสถานการณ์ดังจะกล่าว 7 ข้อต่อไปนี้

ข้อที่ 1.ผู้ชุมนุมทางการเมืองปิดถนนสร้างบังเกอร์รอบทำเนียบรัฐบาล และใช้เป็นที่ซ่องสุมอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล กรณีดังกล่าวเข้าข่ายต้องห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมตามนัยคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่และเจ้าที่ตำรวจสามารถเข้าจับกุมตัวผู้ต้องหาบางคนที่อยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวตามหมายจับของศาลได้หรือไม่

ข้อ 2. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าบุกยึดพื้นที่กระทรวงมหาดไทยไล่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงาน มีการขโมยลักทรัพย์อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ที่เก็บไว้ในกระทรวงมหาดไทยออกไปและนายถาวร เสนเนียมโจทย์ในคดีนี้ ได้นำกำลังผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งเข้าไปช่วยปิดล้อมกระทรวงมหาดไทยและมีการยิงปืนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 7 ที่เข้าไปเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกไปจากกระทรวงมหาดไทยกรณีดังกล่าว คำสั่งของศาลแพ่งห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจ กระทำการใดบ้าง หรือให้กระทำการใดได้บ้าง

ข้อ 3. กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนปิดถนนสายต่างๆวางสิ่งกีดกั้นทำให้การจราจรติดขัดถือว่าเป็นการชุมนุมโดยโดยสงบและปราศจากอาวุธตามนัยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพงหรือไม่ และจะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตำรวจดำเนินการอย่างไรจึงจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง

ข้อ 4. กรณีมีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งประมาณ 300 คนประกาศว่าจะไปยึดพื้นที่กระทรวงพลังงานคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รักษาการณ์อยู่ในกระทรวงพลังงาน ศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไรและหากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอมให้เข้าไปในตัวอาคารและขัดขวางไม่ให้เข้ามายึดพื้นที่คืนกรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการสลายการชุมนุมหรือไม่ และจะหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับคำสั่งห้ามของศาลแพ่ง

ข้อ 5. กรณีพระพุทธะอิสระปิดศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะห้ามข้าราชการเข้าไปทำงานและวางบังเกอร์ปิดถนนโดยรอบถือว่าเป็นการชุมนุมโดยชอบตามนัยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลแพ่งหรือไม่เพียงใด

ข้อ 6. กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส.กับพวกนำผู้ชุมนุมไปปิดสถานที่ราชการต่างๆ(ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร) ข่มขู่ข้าราชการไม่ให้เข้าทำงานสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ต้องมาติดต่อราชการทั้งยังใช้ถ้อยคำพูดหยาบคาย กรณีเช่นนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและพึงกระทำได้ตามนัยความเห็นของศาลแพ่งหรือไม่อย่างไร

ข้อ 7. ณ วันที่ข้าพเจ้าทำหนังสือฉบับนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศนำผู้ชุมนุมไปบุกสถานที่ราชการ ศูนย์รักษาความสงบและบริษัทเอกชนถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ เพียงใด และ ศูนย์รักษาความสงบจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่ง" แถลงการณ์ระบุ

โดยที่ ผอ.ศรส.จำเป็นต้องยึดหลักกฎหมายและคำพิพากษาของศาลแพ่งเป็นหลักในการปฏิบัติงาน เมื่อข้อเท็จจริงและสถานการณ์เกิดขึ้นดังกล่าว รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจำเป็นต้องใช้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าระงับและป้องกันเหตุร้าย และเพื่อเป็นการคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ จึงขอให้ท่านได้โปรดชี้และแนะนำการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดมากล่าวหาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของ ศรส.ฝ่าฝืนหรือละเมิดอำนาจของศาลแพ่งอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook