ความรับผิดชอบ ความขัดแย้ง และบรรทัดฐานการเมืองไทย

ความรับผิดชอบ ความขัดแย้ง และบรรทัดฐานการเมืองไทย

ความรับผิดชอบ ความขัดแย้ง และบรรทัดฐานการเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นที่ชัดเจนว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งในส่วนของเนื้อหา และกระบวนการร่างกฎหมายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เป็นผลให้ กฏหมายการเงินฉบับนี้ตกไป ทั้งๆที่รัฐบาลผลักดันร่าง พ.ร.บ.ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร์และวุฒิสภา เรียกว่าจ่อคลอดออกมาเป็นกฏหมายได้ทันที เมื่อผ่านการลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น

ด้วยเหตุที่มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการที่ตรากฎหมาย และเนื้อหาของกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดย หลักฐานและประเด็นสำคัญที่ยื่นต่อศาล คือ มีการลงคะแนนผ่านร่างกฎหมายแทนกัน และ เนื้อหากฏหมาย ที่ให้อำนาจการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลถึง 2 ล้านล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยในการกู้เงินตามที่มีการอภิปรายแล้วสูงถึงกว่า 5 ล้านล้านบาท ใช้เวลาชำระหนี้กันนานนับ 50 ปี หรือชั่วอายุคนทีเดียว และที่สำคัญคือการดำเนินโครงการภายใต้เงินกู้ตามพ.ร.บ. ไม่สามารถตรวจสอบตามกระบวนการของรัฐสภาได้ เหมือนการใช้จ่ายงบประมาณอีกด้วย แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาข้างต้นจึงทำให้คนไทยทั้งประเทศรอดจากหนี้ก้อนโตก้อนนี้ไปได้

สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือ ใคร ? จะรับผิดชอบต่อความผิดผลาด รับผิดชอบต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดอย่างไร

หากจับท่าทีของรัฐบาลหรือรัฐมนตรี มือกฏหมายของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเช่น พงศ์เทพ เทพกาญจนา วราเทพ รัตนากร ฯ ก่อนหน้ามีคำวินิจฉัยของศาล รธน. จะเห็นว่า ต่างออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ โยนความรับผิดชอบให้เป็นของนิติบัญญัติอ้างว่าผ่านกระบวนการพิจารณามาอย่างถูกต้อง และ ที่สำคัญ พยายามอ้างเอาความจำเป็น อ้างโอกาสทางการลงทุน โอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมากดดันสังคมเสียด้วยซ้ำ

สำหรับความรับผิดชอบ หากเป็นปรกติ ในการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหากกฎหมายตกไป นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในฐานะผู้เสนอกฏหมายต้องยุบสภาหรือลาออก แต่ ขณะนี้ผลการตัดสินออกมาในช่วงที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการ มีการยุบสภาไปก่อนหน้า ดังนั้น ความชอบธรรมของการที่จะรักษาการในตำแหน่งหน้าที่ยังจะมีความชอบธรรมอยู่อีกหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่นายกรัฐมนตรี และ รัฐบาลรักษาการต้องตอบคำถามต่อสังคม และ จะสร้างบรรทัดฐานของระบบการเมืองอย่างไร

เรื่องนี้ จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับสังคมไทยว่า จำเป็นต้องปฏิรูป ตามที่มีการเรียกร้องและเป็นกระแสหลักของสังคมอยู่หรือไม่ การปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งที่มีการกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญไม่ยอมรับผลของการตัดสินขององค์กรอิสระ ให้คนของตัวเองออกมาดิสเครดิตองค์กรอิสระ ทั้งๆที่กฏหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติชัดเจนว่า ผลของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นที่สุด และให้ผูกพันทุกองค์กร ยิ่งจะทำให้การเมืองไปสู่ความขัดแย้งหนักขึ้นหรือไม่ เพราะหากปฎิเสธความรับผิดชอบใดๆฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยย่อมนำมาเป็นเหตุและสร้างความชอบธรรมในการคัดค้านรัฐบาลได้มากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook