แผนสร้างรถไฟฟ้า 10 สายสะดุด หลังพ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ลล.ล่ม

แผนสร้างรถไฟฟ้า 10 สายสะดุด หลังพ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ลล.ล่ม

แผนสร้างรถไฟฟ้า 10 สายสะดุด หลังพ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ลล.ล่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยอมรับว่า ร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ 2 ล้านล้านบาทที่ไม่สามารถดำเนินการได้หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้แผนลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า 10 เส้นทางต้องล่าช้าออกไปจากเดิมที่รัฐบาลกำหนดใน 8 ปี เป็น 20 - 25 ปี เหมือนเดิม เนื่องจากต้องถูกจำกัดการใช้เงินลงทุน ซึ่งกู้เงินได้ภายใต้ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะได้ไม่เกินเพดานร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี ซึ่งเงินส่วนนี้ยังต้องรวมการใช้เงินลงทุนของทุกกระทรวงด้วย ในขณะที่แผนใช้เงินลงทุนรถไฟฟ้า 10 เส้นทางต้องใช้เงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทอย่างน้อย 350,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวมโครงการสายสีม่วงใต้ เส้นทางเตาปูน -ราษฎร์บูรณะ และสายสีส้มตะวันตกเส้นทางตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมด้วยจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 550,000 ล้านบาท

ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวอีกว่า แผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการนั้นแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่กำลังก่อสร้าง คือ สายสีม่วงมูลค่าโครงการ 60,000 ล้านบาท ยังรอเงินจากรัฐบาลที่ค้างอยู่อีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า และกลุ่มที่อยู่ระหว่างการประมูล คือ สายสีเขียวเหนือเส้นทางหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มูลค่าโครงการ 30,000 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในเดือนสิงหาคมนี้ อาจเลื่อนไปจากแผนที่กำหนดไว้ หากยังไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ส่วนอีก 2 กลุ่ม คือ โครงการที่ติดค้างอยู่ที่กระทรวงคมนาคม ซึ่ง รฟม.ส่งเรื่องให้พิจารณาแล้ว และกลุ่มโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบ ซึ่งต้องรอนโยบายของรัฐบาลใหม่ ได้แก่ โครงการสายสีชมพู เส้นทางปากเกร็ด-มีนบุรี สายสีส้มตะวันออก เส้นทางศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี สายสีส้มตะวันตกเส้นทางตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม สายสีม่วงใต้ และสายสีเหลือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook